เดินหน้าชน : 7 ปีที่ล้มเหลว? โดย นายด่าน

กว่า 7 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปการศึกษาไทย เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะผลักดันให้สำเร็จ และเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากเห็นการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นให้ทัดเทียมกับนานาชาติ

หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง จะเหลือเวลาอีกปีกว่าที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะผลักดันเรื่องนี้ให้ลุล่วงก่อนครบเทอม 4 ปี ช่วงเดือนมีนาคม 2566

ที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งน่าจะสวนทางกับที่ “บิ๊กตู่” ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 2 กันยายน 2564 ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษามาโดยตลอด เยาวชนคืออนาคตของชาติ รัฐบาลต้องดูแลทั้งครูและนักเรียนให้ดี วันนี้เรากำลังทำในสิ่งใหม่ๆ ทั้งการปรับหลักสูตรการเรียนรู้ รูปแบบการเรียนการสอน และวัดผล เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบที่เหมาะในศตวรรษที่ 21 และสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งได้มีการปฏิรูปทั้งตัวผู้สอนคือครู และรูปแบบการเรียนการสอน อาทิ หลักสูตร Coding การเรียนประวัติศาสตร์ โดยผ่านการสื่อสารร่วมสมัย

ตัวชี้วัดที่สะท้อนภาพการศึกษาไทยช่วง 7 ปีที่ผ่านมาได้ดีที่สุด คือ การประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ที่ประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ทุกๆ 3 ปี ผล PISA ล่าสุดปี 2562 ไทยยังคงได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในการสอบวัดความรู้ทั้ง 3 ด้านคือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เช่น ด้านการอ่าน 393 คะแนน ค่าเฉลี่ย 487 คะแนน คณิตศาสตร์ 419 คะแนน ค่าเฉลี่ย 489 คะแนน

Advertisement

ส่วนการสอบโอเน็ต ปีการศึกษา 2563 ระดับชั้น ป.6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 คะแนนเฉลี่ยยังคาบเส้น ยกตัวอย่างผลสอบ ม.3 คะแนนเต็ม 100 ภาษาไทย คะแนนเฉลี่ย 54.29 ภาษาอังกฤษ คะแนนเฉลี่ย 34.38 คณิตศาสตร์ คะแนนเฉลี่ย 25.46 และวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ย 29.89

การผลักดันการปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลที่ผ่านมา ได้ตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อปฏิรูปการศึกษาอย่างน้อย 5 คณะ มีการออก พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ พ.ร.บ.นวัตกรรมการศึกษา แต่หลายเรื่องยังมีความล่าช้า โดยเฉพาะ “ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ” ที่ยังต้องรอพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาในสมัยการประชุมวันที่ 1 พฤศจิกายน หลังการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ไม่สามารถโหวตได้เพราะองค์ประชุมไม่ครบ

การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถือว่ายาวนานมาก นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จํานวน 25 คน

Advertisement

ว่ากันว่าหากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติประกาศออกมา จะเป็นจุดเปลี่ยนการจัดการศึกษาในหลายเรื่อง ทั้งกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เน้นพัฒนาให้เด็กมีสมรรถนะในการนำองค์ความรู้ไปปรับใช้กับชีวิต คิดวิเคราะห์ในมุมมองที่แตกต่าง การพัฒนาครูให้มีคุณภาพ มีจิตวิญญาณความเป็นครู การจัดการศึกษามีความอิสระมากขึ้น สถานศึกษามีความเป็นเอกภาพ สามารถจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและอิสระทางวิชาการ รองรับการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงของสังคมโลก

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ที่สะท้อนว่าภาพรวมการปฏิรูปการศึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างต่ำ คือ 70% ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ และเห็นการเปลี่ยนแปลงเพียง 30% ขณะนี้จะเห็นว่าการศึกษาประสบปัญหาและย่ำแย่ลง เช่น หนี้สินครู คุณภาพการศึกษา ความถดถอยทางการศึกษา ปัญหาโครงสร้าง ศธ. เป็นต้น ทำให้เห็นว่าใน 7 ปีที่ผ่านมา การศึกษาไม่มีอะไรดีขึ้น โครงสร้างไม่ได้ลดขนาดลง และไม่มีการกระจายอำนาจให้กับสถานศึกษาตามเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาในเวลานี้ กำลังสอนให้เด็กเป็นคนที่อนุรักษนิยม เพราะเน้นสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง 12 ประการ เน้นให้เด็กทำตามกฎเกณฑ์ ระเบียบ เชื่อตามผู้ใหญ่ เป็นระบบอำนาจอนุรักษนิยม คือใช้อำนาจเพื่อสอนให้เด็กมีความอนุรักษนิยม

เป็น 7 ปีที่ยังมองไม่เห็นว่าการศึกษาไทยจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image