สวดมนต์เป็นยาทาปฏิบัติธรรมเป็นยากิน

สวดมนต์เป็นยาทาปฏิบัติธรรมเป็นยากิน

มนุษย์เกิดมาจากครรภ์มารดาเป็นทารก ยังมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องดั่งผ้าขาว ครั้นเจริญเติบโตเข้าสู่วัยก่อนเรียนอยู่ในอ้อมอกของคุณแม่คุณพ่อ ดูแลอบรมกล่อมเกลา “บุตรธิดา” ของตนให้เป็นเด็กดี มีวินัย

แม้ว่าจะเจริญเติบโตเข้าสู่วัยอนุบาล วัยประถมศึกษา วัยมัธยมศึกษา แล้วเข้าสู่วัยอุดมศึกษา จนเรียนจบปริญญาตรี จนกระทั่งเป็น “บัณฑิต” มีการงานทำมีเงินเดือนใช้หรือทำกิจการทำมาค้าขายย่อยๆ ของตนเองเลี้ยงตนตามอัตภาพด้วยความเจริญวัย ภายใต้ปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายในตัวเอง ปัจจัยภายนอกก็จะพบความเป็น “ปุถุชน” คนธรรมดาๆ ในโลกธรรมจะพบว่า “มนุษย์”นั้นตามปกตินั้นจะมีอารมณ์กวัดแกว่งไปได้ต่างๆ นานา ตั้งแต่หงุดหงิด กลัดกลุ้ม โกรธ กังวลเล็กๆ น้อยๆ เพราะอำนาจของ “โลภ โกรธ หลง” เป็นประจำ ถ้าจิตของเราต้องเดือดร้อนเพราะปัญหาต่างๆ มากย่อมเสียเวลาไม่มีกำลังและจะไม่เกิดสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาชีวิตเกิดได้เท่าที่ควร หากได้รับการอบรมเลี้ยงดู มีการบริหารเป็นประจำจะตั้งมั่นมีความสุขมีกำลังและเกิดสติปัญญา เราเกิดมามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราว (ไม่ใช่และไม่มีคำว่า “ถาวร”) อายุคนเรา หรืออายุของมนุษย์เรานี้สั้นเพียงนิดเดียว หากต้องกลัดกลุ้มหงุดหงิดกังวลเพราะเรื่องต่างๆ ของโลกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตายย่อมเป็นชีวิตที่ขาดทุนและน่าเสียดาย เราอาจฝึกตัวของเราเองให้มีความสุขได้ มนุษย์ไม่ค่อยรู้จักวิธีหาความสุขที่ดี การฝึกให้มีความสุขจึงเป็นศิลปะการดำรงชีวิตที่ควรกระทำอย่างยิ่ง

การประกอบอาชีพโดยสุจริต การกล่าววาจาชอบไพเราะอ่อนหวาน ถูกกาลเทศะ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความขยันขันแข็งและความมีน้ำใจในการช่วยเหลือในกิจการงานเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งเสริม “สุขภาพจิต” ท่านคงจะเคยได้ทราบมาบ้างแล้วว่า คนบางคนขี้เกียจ พยายามเลี่ยงงาน ไม่มีน้ำใจช่วยเหลือในกิจการงาน คนชนิดนี้ย่อมเป็นที่รังเกียจเป็นที่ซุบซิบนินทาว่าร้ายของผู้อื่น และไม่ได้รับความเมตตาช่วยเหลือตามสมควร อยู่ที่ไหนก็ไม่มีใครชอบ ไม่มีความสุข ตรงข้ามกับคนที่หนักเอาเบาสู้ เต็มใจเข้าทำการงานต่างๆ ทั้งในหน้าที่และทั้งงานของผู้อื่น ย่อมเป็นที่รักใคร่ เมตตาของคนทั้งหลาย ช่วยส่งเสริมสภาวะจิตของตนเองและของผู้อื่นให้เป็นไปด้วยดี ในทางที่จะสำเร็จประโยชน์สูงขึ้น “ความขยัน” ความเพียรพยายามจึงเป็นรากฐานสำคัญสำหรับความสุข ความขี้เกียจย่อมนำความทุกข์ระทมมาให้ ต้องพยายามไถ่ถอนออกจากเรื่องของตนเองให้มากที่สุด “คนที่คิด” หรือหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องของตนเองตลอดเวลา เช่น กลัวไม่รวย กลัวไม่สวย กลัวขาดทุน กลัวคนจะไม่รัก กลัวจะไม่มีชื่อเสียง กลัวคนจะโกรธ กลัวคนจะนินทาว่าร้าย กลัวจะเป็นโรคนั้นและโรคนี้ ย่อมทำให้จิตไม่เป็นสุข และอาจจะเกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นจริงๆ ยิ่งฝึกไถ่ถามออกจากเรื่องของตัวเองมากเท่าใดยิ่งเบาสบาย มีความสุขและเกิดโรคน้อยลง ควรมองไปรอบๆ ตัว นึกถึงคนอื่นที่เป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านที่… “เขาจนกว่าเรา”… “ทำบุญทำทาน” เป็นการลดความเห็นแก่ตัว ทำให้จิตคลายความเครียด จิตที่คิดจะเอานั้นเครียด แต่จิตที่ “ให้” นั้นจะหย่อนคลายเป็นกุศลจิต มี “ความเบา” สบายคือ ที่เรียกว่าได้บุญการฝึกแผ่ความรัก หรือแผ่เมตตา

Advertisement

คนเรานั้นปกติรักตัวเองแต่เมตตาให้ผู้น้อย จึงสังเกตเห็นได้ง่ายไม่มีใครโกรธ หรือลงโทษตัวเอง…เพราะมี “ความรักตัวเอง” จึง “อภัยให้ตัวเองอย่างสูงสุด” แล้ว แต่มักจะโกรธและไม่ค่อยอภัยให้ผู้อื่น เราไปที่ไหนก็ฝึกแผ่เมตตาเช่นนี้เป็นประจำ ใจของเราจะสงบ ความหงุดหงิดและรำคาญนั้นเป็นโทสะ หรือความโกรธอ่อนๆ “เมตตา”…เป็นเครื่องปราบความโกรธ จึงทำให้คลายความหงุดหงิดและรำคาญ

“การสวดมนต์” : วิธีการสวดมนต์มี 5 ขั้นตอน 1) สวดบทบูชาบทกราบพระรัตนตรัย และอธิษฐานขอพร 2) สวดบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ จะเลือกสวดบทใดก็ได้ตามแก่ประสงค์ 3) หลังสวดมนต์แล้วให้นั่งสมาธิ 4) ถ้าไม่นั่งสมาธิให้สวดบทแผ่เมตตา เลือกสวดบทแผ่เมตตาบทใดก็ได้ตามแต่ประสงค์ 5) สวดมนต์ทุกครั้งควรสวดบทปลงสังขารทุกครั้ง

การสวดมนต์ที่ถูกต้องนั้น : จะต้องสวดให้ได้ใจความ ไม่สวดเร็วเกินไป หรือสวดช้าเกินไป เสียงดังพอประมาณเพื่อเทพยดาทั้งหลายเป็นพยานว่าท่านได้สวดมนต์ถวายเป็นพุทธบูชา…ส่วนการบูชาพระ ก่อนเข้าห้องบูชาพระควรอาบน้ำชำระกายให้สะอาด และนุ่งห่มให้เรียบร้อย เข้าที่นั่งด้วยสำรวมกายใจ ตั้งจิตให้แน่วแน่เพ่งตรงยัง “พระพุทธรูป” ระลึกถึงพระรัตนตรัยแล้วค่อยกราบ 3 หน สงบจิตระลึกถึงคุณบิดามารดาซึ่งท่านเป็น “พระอรหันต์” ของบุตร จากนั้นจึงจุดเทียนบูชาให้จุดเล่ม…ด้านขวาของพระพุทธรูปก่อนแล้วจุดเล่มด้านซ้าย ต่อไปจุดธูป 3 ดอก เมื่อจุดเทียนธูปที่เครื่องสักการบูชาเสร็จแล้วเอาจิต (ฝึกเห็น) พระพุทธองค์มาเป็นประธาน

Advertisement

พึงนั่งคุกเข่าประนมมือตั้งใจบูชาพระรัตนตรัย นมัสการพระรัตนตรัย ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

การสวดมนต์ดังกล่าวนี้มีการเจริญแผ่เมตตารวมอยู่ด้วย มิเพียงแต่เท่านั้นยังฝึกให้เกิด… “สมาธิจิต” ในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ อันเป็นมหากุศลขั้นประณีต ดังนั้น การสวดมนต์ภาวนาจึงเป็น… “การบริหารสุขภาพจิตอย่างสูง” เพราะฉะนั้นการเจริญพระพุทธมนต์ท่านจึงว่าเป็นวิธีการหนึ่งทำให้…“จิตสงบ” การเจริญนั้นมักทำในตอนเช้า ตอนกลางคืนก่อนเข้านอน หรือเวลาว่าง เพื่อทำให้เกิด…สิริมงคล เป็นการฝึกทำให้… “จิตตั้งมั่นอยู่ในความสงบ” และมีความมั่นคงในชีวิตประจำวัน ทำให้จิตมีความแกล้วกล้าในการทำความดี เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นและตนเอง

ของเสนอแนะในการสาธยาย (สวด) ทุกเข้าค่ำชักนำให้แคล้วคลาดภัยทั้งปวง อาทิ โจร ภูตผีปีศาจ สัตว์ร้าย เป็นที่รักแห่งเทพยดาถึงคราวอับจนก็ไม่อับจนจนเข็ญใจ มีสติสัมปชัญญะก่อนตาย และเมื่อตายย่อมบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ จะไม่ตายด้วยยาพิษ นอกจากนี้จะสิ้นอายุขัยของตนเอง ผู้ที่ภาวนาสวดมนต์ทุกค่ำเข้าจะได้รับ…ความร่มเย็นเป็นสุขเห็นผลได้ความสุขเพราะทรงไว้ซึ่ง… “คำสอนของพระพุทธองค์” เมื่อสิ้นอายุขัยย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์…

อนึ่งในการฝึกทำจิตให้สงบที่เราคุ้นเคยกัน คือด้วยการปฏิบัติด้วย… “ทาน ศีล ภาวนา” มีการทำบุญให้ทาน รักษาศีล และภาวนา ก็คือการปฏิบัติควรทำ “สมาธิ” หรือ “นั่งสมาธิ” อีกขั้นหนึ่ง คือ “ไตรสิกขา”…ศีล สมาธิ ปัญญา

การฝึกสมาธิเบื้องต้น : หลังการสวดมนต์เรียบร้อยแล้วควรจะฝึกจิตให้สงบ เพื่อความผาสุกของตัวเอง โดยการฝึก…สมาธิกรรมฐานเพื่อจะได้มีความเจริญความแข็งแรงอายุยืนปราศจากโรคภัยอันตรายใดๆ ทั้งมวล

การฝึกสมาธิไม่ใช่เป็นเรื่องยาก ใหม่ๆ จะรู้สึกลำบาก จิตไม่สงบ หรือฝึกแล้วรู้สึกทำยาก ลำบากอึดอัดบอกไม่ถูก บางครั้งล้มเลิกไปก็มี ผู้เขียนขอเชิญชวนให้แฟนมติชนทุกท่านได้ริเริ่มให้รางวัลชีวิตของตัวเองโดยแนะนำว่าควรต้องอดทน พากเพียร ฝึกฝน ฝึกหัดบ่อยๆ จนเกิดความเคยชินให้เป็นอัตโนมัติของมันเองให้ได้ จะรู้สึกว่าเราภูมิใจว่าเราทำได้และเป็นกุศลบุญยิ่งกว่าอันใด สำหรับตัวเราเองหาสิ่งใดเทียบไม่มีอีกแล้ว

ถ้าเราพยายามฝึกหัดไปเรื่อยๆ วันละเล็กละน้อยทุกๆ วัน นานๆ ไป สมาธิจะค่อยๆ เกิดขึ้น “จิต” ก็จะสงบขึ้นเรื่อยๆ ความสงบสุขก็จะมีขึ้นกับผู้ปฏิบัติ จะได้รับความสุขกายสุขใจ หาทางดับทุกข์ที่เกิดกับ… “ใจ” ได้อย่างไม่ยาก

การเจริญสมาธิปฏิบัติพระกรรมฐานสามารถทำได้ทุกโอกาส ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดๆ จะยืน เดิน นั่ง นอน หรือทำการงานอย่างใดก็ตาม สำหรับสถานที่ปฏิบัตินั้นก็ไม่จำกัด จะเป็นสถานที่ใดก็สามารถปฏิบัติสมาธิกรรมฐานได้ แต่หากเป็นสถานที่สงบเงียบปราศจากการรบกวนจากสิ่งใดๆ แล้วจะทำให้จิตสงบเป็น “สมาธิ” ได้รวดเร็วขึ้น

การเตรียมตัวเตรียมใจ : 1) จัดภารกิจหน้าที่การงานให้เสร็จเรียบร้อย ตัดความวิตกกังวล 2) เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มควรจะสวมสบาย ไม่หลวม หรือคับแน่นเกินไป 3) การสวดมนต์ตามแต่เราจะสวดได้มากน้อย ถ้าสวดไม่ได้ให้ทำสมาธิภาวนาเลย

การนั่งสมาธิ : 1) นั่งขัดสมาธิโดยนั่งขาขวาทับขาซ้าย ถ้าเป็นหญิงจะนั่งพับเพียบก็ได้ ตามแต่ถนัด หากไม่สะดวกจะนั่งเก้าอี้แทนก็ได้ 2) เอามือขวาวางทับมือซ้าย นิ้วหัวแม่มือชนกัน 3) ตั้งกายตรงๆ ตั้งหน้าตรงๆ หลับตาเบาๆ (หลับเปลือกตานอก ลืมตาใน)

หลักการ : ปล่อยวางความคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ให้หมดไปจากใจ ทำสติจับความรู้สึกที่กายอาการสามสิบสอง ทำความรู้สึกนึกคิดเห็นตัวเราว่าขณะนั่งอยู่อย่างไร

เรานั่งขาขวาทับขาซ้ายก็นำความรู้ว่าเรานั่งขาขวาทับขาซ้าย เรานั่งมือขวาทับมือซ้าย ก็รู้ว่ามือขาทับมือซ้าย เรานั่งตัวตรงก็รู้ว่านั่งตัวตรง เรานั่งหลับตาก็รู้ว่าเรานั่งหลับตา นึกรู้นึกเห็นตัวเราอยู่ตลอดเวลา
น้อมนึกเห็นใบหน้าของเรามีลักษณะอย่างไร นึกเห็นตั้งแต่ศีรษะตลอดลงมาปลายเท้า นึกเห็นรอบตัวเราแล้วมาพิจารณาที่ใบหน้า ศีรษะ นึกเห็นคิ้ว เห็นตา เห็นหูทั้งสองข้าง เห็นปาก เห็นคาง นึกเห็นจมูก นึกเห็น… “ลมหายใจเข้า-ออก” หายใจเข้านึกรู้ลมหายใจเข้า หายใจออกก็รู้หายใจออก หายใจออกยาวก็รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้าสั้นและออกสั้น ก็รู้หายใจเข้าออกสั้น ทำความรู้เท่าทันลมหายใจเข้าออก

ทุกลมหายใจเข้า-ออก นำความรู้อยู่ที่ปลายจมูกนึกเห็นใบหน้าเรานึกเห็นอยู่ปลายจมูกทุกขณะลมหายใจเข้า-ออก กำหนดอยู่ที่สองช่องจมูก หายใจเข้านึกว่า “พุท” หายใจออกนึกว่า “โธ” จนรู้อยู่แต่… “พุทโธ” ทุกลมหายใจเข้า-ออก นึกเห็นแค่ปลายจมูกสว่างเสมอซึ่งเราเรียกการฝึก “อานาปานสติ”

ระยะฝึกแรกกำหนดลมหายใจเข้า-ออกยาวๆ เพราะสติยังอ่อนอยู่ ขณะที่นั่งอยู่นั้นกายสงบก็นำความรู้ว่า “กายสงบ” ใจสงบก็รู้ว่า “ใจสงบ” สงบอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็นำความรู้อยู่ตลอดเวลา…สุขเกิดก็รู้…ทุกข์เกิดรู้…ไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้…นำความรู้ทางกายใจอยู่อย่างนี้บางครั้งทุกข์กายสุขใจก็มี คิดดีก็รู้ รู้แล้วเฉย คิดชั่วก็รู้ รู้แล้วเฉย อะไรที่เกิดขึ้นทุกอย่างทำความเฉยให้เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำเฉยให้มากเท่าไรยิ่งดี จิตจะได้…ตั้งมั่นได้รวดเร็วอยู่นานๆ เข้าจิตก็เกิด… “สมาธิ” แนบแน่นจนกายเบาจิตเบา หากพลั้งเผลอไปดึงสติกลับมา ตั้งไว้จุดเดิมปฏิบัติอยู่เช่นนี้จนเป็น “นิสัย” ลมหายใจก็จะละเอียดประณีต กายก็เบาใจก็เบา ในช่วงนี้หากคำภาวนา “พุท-โธ” ได้ละไปแล้วก็ให้พิจารณา…ลมหายใจเข้า-ออกเพียงอย่างเดียว (คำ “พุท-โธ” จะหยุดรำลึกไปเองโดยธรรมชาติ อย่าหวนคำรำลึก หรือทวนความรู้สึกใดๆ ขึ้นมาอีก) เมื่อกระแสกลมกลืนกันดีแล้ว จิตจะนิ่งเป็นอิสระเป็นสุข

และที่สำคัญที่สุดคือ… “เกิดปัญญา” …รู้เอง…เห็นเอง…สัมผัสได้ด้วยจิตเอง

หมายเหตุ การปฏิบัตินั่งสมาธิไม่จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเอาจริงเอาจังจนเกินไป หรืออ่อนเกินไป ควรทำใจให้สบายๆ ฝึกปฏิบัติสม่ำเสมอจะเป็นเวลาเช้า กลางวัน เย็น หรือค่ำ สุดแต่ความสะดวกของตนเอง ใช้เวลาฝึกวันแรกเพียง 10-15 นาที แล้ววันต่อๆ ไปก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 20-30 นาที จนถึงวันละ 1 ชั่วโมง เป็นประจำทุกวัน

ขณะฝึกปฏิบัติอย่ามุ่งจิตคิดแต่จะเห็นนิมิต เพราะอาจจะทำให้เราสร้างจินตนาการไปเอง และปฏิบัติทุกวันอย่างน้อยวันละครั้งอย่าได้ขาด ครั้งละจะนานเท่าใดก็ได้ขอให้… “จิตสงบ” ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว แต่หากว่าในคราวใดปฏิบัติไปแล้วจิตยังไม่สงบ อย่ากังวลใจ อย่าไปท้อใจล้มเลิกเด็ดขาด จงปฏิบัติเรื่อยๆ ทุกวันจะสมเจตนาเองโดยไม่รู้ตัวได้

โดยสรุป “การสวดมนต์” นั้นเป็นภาวนาปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อให้จิตใจเราสงบ ร่มเย็น เพื่อความผาสุกของตัวเอง หลังจากนั้นเมื่อเราได้ภาวนาปฏิบัติฝึก… “สมาธิกรรมฐาน” เพื่อจะได้มีความเจริญ เข้มแข็ง อายุยืนปราศจากโรคภัยอันตรายใดๆ ทั้งมวล เป็นพื้นฐานโดยตรงในการเจริญ “วิปัสสนากรรมฐาน” ฝึกฝนจนกระแสจิตนิ่งเป็นอิสระเป็นสุข

และที่สำคัญคือ… “เกิดปัญญา” สอดคล้องกับคำที่ว่า “สวดมนต์เป็นยาทา ปฏิบัติธรรมเป็นยากิน” ของหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image