เปิดร้านเหล้า-เปิดโรงเรียน

เปิดร้านเหล้า-เปิดโรงเรียน

เปิดร้านเหล้า-เปิดโรงเรียน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป เหตุผลเพื่อให้ประเทศชาติ ประชาชนมีรายได้ รายจ่ายหมุนเวียน กระตุ้นเศรษฐกิจให้คลายความซบเซาและเดินหน้าต่อไป
ผ่อนคลายข้อกำหนดห้ามโน่นห้ามนี่หลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ให้ร้านขายอาหาร ร้านกินดื่มทั้งหลายที่เคยจำหน่ายเหล้ากลับมานั่งดื่มกินในร้านได้ คอสุรายาเมาเฮกันยกใหญ่

แต่ก็ไม่วายถูกวิจารณ์ ค่อนขอด กระแนะกระแหนจากนักเลงคีย์บอร์ดว่าดีแต่เปิดร้านเหล้า ล้วนอบายมุขมีแต่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม แต่เปิดโรงเรียน สถานศึกษา ตั้งแต่มหาวิทยาลัยจนถึงอนุบาล เรื่องการศึกษา ทำคนให้เป็นคนสูงขึ้น กลับไม่กล่าวถึงสักคำ

ครับ น่าเห็นใจ คนเป็นผู้นำทำอะไรหนีไม่พ้นเสียงติฉินนินทา หลักปฏิบัติสำคัญข้อหนึ่งถึงว่า ความอดทน อดกลั้น ยอมรับเสียงวิจารณ์แต่โดยดี อย่ามีอารมณ์ เพราะอาสาเข้ามาทำเอง

Advertisement

กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการสื่อสารด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย การทำมาหากินของประชาชนทุกกลุ่มอาชีพเป็นหลัก

ส่วนด้านการศึกษาคงคิดว่ารัฐมนตรีและหัวหน้าหน่วยปฏิบัติที่เกี่ยวข้องคงสื่อสารมาเป็นระยะแล้ว ว่ากำลังเร่งระดมฉีดวัคซีนแก่นักเรียน นักศึกษา ให้มากที่สุด หลังฉีดแก่ครูเพียงพอแล้ว ก่อนเปิดเรียนแบบพบหน้ากันในห้องเรียน (On site) วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เช่นเดียวกัน

ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้ากล่าวถึงเสียหน่อยในแถลงการณ์ ภาพลักษณ์ ความเข้าใจของฝ่ายต่างๆ ก็จะดีขึ้น แสดงว่าไม่ลืมและให้ความสำคัญกับการศึกษา ประเด็นปัญหาทางสังคมวัฒนธรรม การเล่าเรียน เขียนอ่านจนถึงความประพฤติของเด็กและเยาวชน

Advertisement

ประเด็นที่น่าติดตามต่อไป นอกจากสถานการณ์ตามร้านขายเหล้าจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจแค่ไหนแล้ว โอกาสเดียวกัน วันเดียวกันยังเป็นการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ หลังจากปิดไปเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา

ปล่อยให้กฎหมายสำคัญด้านการศึกษา คือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ค้างเติ่งอยู่เพราะที่ประชุมรัฐสภาล่ม ไม่สามารถลงมติได้

ผลการลงมติที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะออกมาอย่างไร คอการเมือง การศึกษา เริ่มไม่มั่นใจ เพราะสถานการณ์ความร้าวฉานในรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคแกนนำพลังประชารัฐยังมีแรงกระเพื่อมภายในหลัง 2 รัฐมนตรีกระเด็นออกจากตำแหน่ง

อีกด้านหนึ่ง การกลับเข้าห้องเรียนของนักเรียน นักศึกษาอีกครั้ง นอกจากจะมีความปลอดภัยเพียงไรแล้ว จะทำให้การเรียนรู้ของพวกเขามีชีวิตชีวา มีคุณภาพ มีความเป็นมนุษย์ยิ่งขึ้นกว่าการเรียนแบบออนไลน์อยู่แต่หน้าจอทั้งวัน ขณะที่รายที่มีปัญหา ผลการเรียนยิ่งตกต่ำย่ำแย่ จะแก้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้เสียงเรียกร้องให้เปิดโรงเรียนและกลับเข้าห้องเรียนจึงดังอย่างต่อเนื่อง ยืนยันได้จากคำแถลงของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยตรง

ครูตรีนุชบอกว่ากระทรวงศึกษาธิการจัดทำโครงการประเมินแบบเร่งด่วน (Rapid Appraisal) ทำให้ทราบปัญหาอุปสรรคของการปฏิบัติจริงในพื้นที่ในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

เก็บข้อมูล 2 รอบ จากนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ล้วนสะท้อนว่า นักเรียนต้องการให้เปิดเรียนแบบ On-Site ร้อยละ 94 อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด ส่วนมากต้องการให้สลับวันมาเรียนเพื่อลดจำนวนเพื่อนร่วมชั้นและจัดห้องเรียนโดยเว้นระยะห่าง และให้มีการผสมผสานการเรียนทั้งแบบ Online และ On-Site ตลอดจนให้ลดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม

ผู้ปกครองต้องการให้เปิดเรียนแบบ On-Site ร้อยละ 90 เพราะต้องการให้บุตรหลานได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ ได้ลงมือปฏิบัติจริง และลดภาระที่ต้องดูแลในการเรียน Online ด้านครูต้องการให้เปิดเรียนแบบ On-Site ร้อยละ 88 โดยมีความพร้อมจัดการเรียนสอนแบบ On-Site ในระดับมากถึงมากที่สุด คิดเห็นว่าการเปิดเรียนแบบ On-Site สามารถทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ และลงมือปฏิบัติได้จริง และครูสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างครบถ้วนตามหลักสูตร

แต่ยังคงมีความกังวลเรื่องความพร้อมของผู้เรียนที่ต้องปรับตัวจากการเรียน Online ความกังวลเรื่องของสื่อการเรียนการสอนที่ไม่ใช้มาเป็นเวลานานอาจไม่พร้อมใช้งาน เช่น เครื่องมือในห้องวิทยาศาสตร์ ครูส่วนใหญ่ยังต้องการให้มีการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนและอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัย

เป็นคำแถลงซึ่งยืนยันถึงความต้องการเปิดโรงเรียน เปิดห้องเรียนของทั้งสามฝ่าย แต่ไม่กล่าวถึงประเด็นปัญหาความไม่พร้อม ความขาดแคลน และผลกระทบที่เกิดจากการเรียนออนไลน์อย่างลงลึกเท่าที่ควร

สาเหตุหลักมาจากอะไร ความร้ายแรงของปัญหาถึงระดับไหน ส่งผลถึงคุณภาพการเรียนรู้ทั้งของนักเรียนและครู กับคุณภาพการศึกษาโดยรวมอย่างไร

ที่สำคัญ รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แก้ไขให้ปัญหาทุเลาเบาบางลงได้แค่ไหน จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ขณะที่ปากก็คุยโขมงโฉงเฉงว่าการใช้อินเตอร์เน็ตของไทยอยู่ในระดับนำของโลก แต่คุณภาพการศึกษากลับตรงกันข้าม

ด้วยเหตุนี้แหละครับ แถลงการณ์ของผู้นำประเทศจึงควรมีเนื้อหาด้านการศึกษาเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่เน้นแต่เศรษฐกิจ ตึกสูง แต่คนทรุด อย่างเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image