สธ.หนุนโควต้า เรียน‘พยาบาล-สาธารณสุข’7,000คน

สธ.หนุนโควต้า เรียน‘พยาบาล-สาธารณสุข’7,000คน

สธ.หนุนโควต้าเรียน‘พยาบาล-สาธารณสุข’7,000คน

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนามความร่วมมือ ผนึกกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการศึกษา และการพัฒนาสุขภาพของผู้เรียนทุกช่วงวัยตามนโยบายของรัฐบาลให้บรรลุเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง และมีความต่อเนื่องตามแนวคิดขององค์กร UNESCO ที่ว่า “Education for All, All for Education” การศึกษาเพื่อปวงชน ปวงชนเพื่อการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดองค์การอนามัยโลก WHO ที่ว่า “Health for All, All for Health” สร้างสุขภาพดีเพื่อมวลชน สร้างมวลชนเพื่อมีสุขภาพดีถ้วนหน้า

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดระบบจัดการด้านการศึกษา เด็กไทยทุกคนที่เกิดในแผ่นดินไทยได้เรียน 100% “คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาถ้วนทั่ว” และด้านสุขภาพที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้โอกาสผู้เรียนทุกระดับตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษา พัฒนาองค์ความรู้ และการรับรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) นั่นคือ “คนไทยทุกคนในแผ่นดินไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 “นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข” ร่วมกับ “นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาสุขภาพของผู้เรียนทุกช่วงวัย ผ่านโครงการ “สถาบันพระบรมราชชนกสัญจร” (สบช.สัญจร) โดยมี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน

Advertisement

สาระสำคัญของความตกลงร่วมมือในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาการศึกษา และพัฒนาสุขภาพของผู้เรียนแบบบูรณาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายผ่านโครงการสำคัญ คือโครงการสถาบันพระบรมราชชนกสัญจร (สบช.สัญจร) ซึ่งโครงการนี้จะได้กระจายโอกาสทางการศึกษาและสร้างโอกาสให้แก่ผู้เรียนในท้องถิ่นห่างไกล และท้องถิ่นทุรกันดาร หรือขาดแคลนทุนทรัพย์ สนับสนุนให้ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาได้เข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน (Equity) โดยเน้นในสาขา “ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ” สร้างให้ผู้เรียนมี “วินัย รู้หน้าที่ สามัคคี เสียสละ สัจจะ”

ปัจจุบันสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ได้ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัย สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตาม “พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ.2562” ที่จัดการศึกษาผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมี “วิสัยทัศน์ เป็นผู้นำต้นแบบสถาบันอุดมศึกษาในการบูรณาการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพโดยชุมชนเพื่อชุมชน สู่สากล แข่งขันได้และยั่งยืน” หรือกล่าวสั้นๆ ได้ว่า เป็น “มหาวิทยาลัย” เพื่อชุมชน ตามปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก กับสมเด็จพระราชชนนี ที่ต้องการดูแลประชาชนทั่วประเทศให้การศึกษากับประชาชนในส่วนของท้องถิ่นอย่างทั่วถึง

สำหรับจุดแข็งของ “สบช.” คือต้นทุนที่มีอยู่คือการมี “วิทยาลัยการพยาบาลพระบรมราชชนนี, วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร” กระจายอยู่ทั่วประเทศถึง 39 แห่ง ครอบคลุมทุกพื้นที่เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข เขต 1-12 และเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถผลิตบุคลากรด้านพยาบาลได้ประมาณปีละ 4,000 คน ด้านสาธารณสุขและสหเวชได้ 3,000 คน รวม 7,000 คน และมีอาจารย์จบปริญญาเอกอีกประมาณ 400 คน

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเจริญของเทคโนโลยีดิสรัปชั่น (Disruption) ตลอดจนประเทศชาติพบภาวะวิกฤตโรควายร้ายโควิด-19 จนทำให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเดินทาง ความเป็นอยู่และระบบการศึกษา ทำให้โอกาสเข้าถึงการศึกษายากกว่าช่วงที่ผ่านๆ มา ซึ่งปัจจุบันเด็กน้อย เด็กนักเรียนที่เข้าถึงการศึกษาน้อยลงกว่าเดิมและประสบความยากจนเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการแข่งขันสูง มหาวิทยาลัยต้องมีการปรับตัวตลอดเวลาในการเรียนการสอน การจัดการทั้งองค์กร ครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง (Transformative)

อนึ่ง กระทรวงสาธารณสุข โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล เห็นชอบให้ “สบช.” จัดทำโครงการ “สบช.สัญจร” เพื่อให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร โรงเรียนมัธยมเล็ก ใหญ่ มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาใน “สถาบัน” เกิดความเท่าเทียมกัน โดยมีหลักการคือ เข้าถึงประชาชน-ชุมชน ทั้งจังหวัด 77 จังหวัดทุกอำเภอ โดยในปี 2565 เปิดโอกาสให้ที่นั่งเรียน 7,000 คน เรียนพยาบาล 4,000 คน สาธารณสุข 3,000 คน ครอบคลุมโรงเรียนมัธยมเป้าหมายปีนี้คือ 800-900 โรงเรียน โรงเรียนละ 5-7 ที่นั่ง ซึ่งคาดว่าในปี 2566 จะครอบคลุมโรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ

หลักสูตรที่เปิดรับสมัคร :
1.คณะพยาบาลศาสตร์ ระดับปริญญาตรี จำนวน 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต
2.คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ ระดับปริญญาตรี จำนวน 9 หลักสูตร ได้แก่
1.หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน
2.หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาทันตสาธารณสุข
3.หลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย
4.หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเวชระเบียน
5.หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค
6.หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
7.หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์

8.หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิตสาขานวัตกรรม และการสื่อสาร ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี 4 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (1) สาขาวิชาเทคนิคเภสัชกรรม (2) สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (3) สาขาวิชาเวชระเบียน (4) สาขาวิชาช่างทันตกรรม

รูปแบบ/เกณฑ์การรับสมัคร (ระดับปริญญาตรี): “สบช.” รับสมัครตามระบบ “TCAS 65” ของ
กระทรวงอุดมศึกษาฯ 5 รอบ
รอบที่ 1 Portfolio เปิดรับสมัครวันที่ 3-9 มกราคม พ.ศ.2565 สมัครผ่านสถาบัน https://admission.pi.ac.th รับผู้กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประกอบด้วยโครงการต่างๆ ดังนี้

1.โครงการความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) (ร.ร.คัดเลือก/มีผลงานนำเสนอ) รับโรงเรียนละ 5 คน (คณะพยาบาลศาสตร์ 4 คน คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ 1 คน)
2.โครงการรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านกีฬา และศิลปวัฒนธรรม (มีผลงานระดับเขต/ประเทศ) รับเขตสุขภาพละ 2 คน (คณะพยาบาลศาสตร์ 1 คน คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ 1 คน)
3.โครงการช้างเผือก สบช.(ขาดทุนทรัพย์ ผลการเรียนดี ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 300,000 บาท/ปี มีทุนการศึกษา) รับเขตสุขภาพละ 3 คน (คณะพยาบาลศาสตร์ 2 คน คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ 1 คน)

⦁ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค
เกณฑ์การรับ (1) GPAX 5 ภาคการศึกษา ไม่น้อยกว่า 3.00 (2) PGA กลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิชาภาษาอังกฤษ วิชาละไม่น้อยกว่า 3.00 (3) มีแฟ้มสะสมผลงาน และยืนยันว่าเป็นผลงานของตน
⦁ หลักสูตรอื่นๆ ของคณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์

เกณฑ์การรับสมัคร (1) GPAX 5 ภาคการศึกษา ไม่น้อยกว่า 2.50 (2) PGA กลุ่มสาระวิชาคณิตศาสตร์ และวิชาภาษาอังกฤษ วิชาละไม่น้อยกว่า 2.50

⦁ ยกเว้นผู้สมัครโครงการพิเศษ
1.โครงการรับผู้มีความสามารถพิเศษด้านกีฬา และศิลปวัฒนธรรม (1) ใช้เกณฑ์ GPAX 5 ภาคการศึกษา ไม่น้อยกว่า 2.50 (2) PGA กลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิชาภาษาอังกฤษ วิชาละไม่น้อยกว่า 3.00 (3) มีแฟ้มสะสมผลงาน และยืนยันว่าเป็นผลงานของตน

รอบที่ 2 Quota เปิดรับสมัครวันที่ 21-31 มีนาคม พ.ศ. 2565 สมัครผ่านสถาบัน https://admission.pi.ac.th รับผู้กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประกอบด้วยโครงการต่างๆ ดังนี้
1.โครงการ อสม. หรือบุตร อสม. รับจังหวัดละ 2 คน (คณะพยาบาลศาสตร์ 2 คน)
2.โครงการความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนจังหวัด รับจังหวัดละ 2 คน (คณะพยาบาลศาสตร์ 1 คน คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ 1 คน)
3.โครงการร่วมมือหน่วยงานต่างๆ ภาครัฐภาคเอกชน และมูลนิธิ รับตามแผนความร่วมมือ

หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต :
เกณฑ์การรับ (1) GPAX 5 ภาคการศึกษา ไม่น้อยกว่า 2.75 (2) PGA กลุ่มสาระวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิชาภาษาอังกฤษ วิชาละไม่น้อยกว่า 2.50 (3) มีแฟ้มสะสมผลงาน และยืนยันว่าเป็นผลงานของตน

⦁ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค เกณฑ์รับสมัคร GPAX 3.0 GPA 3.0
⦁ หลักสูตรอื่นๆ คณะสาธารณสุขและสหเวช เกณฑ์รับสมัครเช่นเดียวกัน
รอบ 3 : Admission เปิดรับสมัครวันที่ 2-10 พฤษภาคม พ.ศ.2565
รอบ 4 : Direct Admission เปิดรับสมัครวันที่ 25-30 พฤษภาคม พ.ศ.2565
⦁ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต
⦁ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค
⦁ หลักสูตรคณะสาธารณสุข
รอบ 5 : รับตรงอิสระ หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับรอบ Direct Admission (กรณีรับได้ไม่เต็มแผนการรับ)
⦁ เชิญชวนนักเรียนโรงเรียนมัธยมปลายทุกท่าน ทุกโรงเรียนทั่วไทย สนใจสมัครมาเรียนที่ “สถาบันพระบรมราชชนกของเรา” ด้วยหลักการที่ว่าอัตลักษณ์ของ “บัณฑิต” คือ วินัย หน้าที่ สามัคคี เสียสละ สัจจะ กตเวที “สมรรถนะหลักของเรา” คือ บัณฑิตเราจะมีลักษณะ 4Cs คือ Critical thinker, communicator, Collaborator, Creator for Community Engagements และจะดูแลนักศึกษา

ดังที่ว่า “ลูกท่าน คือ ลูกเรา หน้าที่เรา คือ แสงเทียน” ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image