สะพานแห่งกาลเวลา : ตั๋วเที่ยวเดียวสู่หายนะ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Reuters)

อีกเพียงไม่กี่วัน การประชุมสุดยอดของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กลาสโกว์ สหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่เรียกกันว่า ค็อป26 ก็จะเริ่มต้นขึ้นแล้ว

แต่ยังไม่มีวี่แวว ไม่มีกระแสใดๆ ที่ส่อแสดงให้เห็นว่า การประชุมที่ว่ากันว่า เป็นการประชุมว่าด้วยภาวะโลกร้อนที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก จะประสบความสำเร็จ มีมรรคมีผลเป็นรูปธรรมใดๆ แต่อย่างใด

ถึงขนาดหัวเรือใหญ่อย่าง อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม เมื่อเหลือเวลาอีกเพียงสัปดาห์เดียวที่การประชุมจะเริ่มต้นขึ้นว่า กลัวเหลือเกินว่า “ค็อป26” จะล้มเหลว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เลขาฯยูเอ็นออกมาปรารภอย่างนี้ เมื่อราวกลางเดือนกันยายน กูแตร์เรสบอกกับรอยเตอร์ทำนองเดียวกันว่า ค็อป26 ที่กลาสโกว์ เสี่ยงที่จะล้มเหลว

Advertisement

ที่ต่างกันก็คือ ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหลังนี้ เลขาฯยูเอ็นเพิ่มดีกรีความกังวลมากขึ้นไปอีกเป็น “กังวลมาก” ว่าจะล้มเหลว

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นกังวลนั้น นายกูแตร์เรสระบุว่า เป็นเพราะระหว่างกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา กับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีความ “ไม่ไว้วางใจ” ซึ่งกันและกันอยู่ในระดับที่สำคัญระดับหนึ่ง ซึ่งต้อง “ก้าวข้าม” ไปให้ได้

“เรากำลังอยู่ริมขอบเหวลึกอย่างยิ่ง และเมื่อคุณไปยืนอยู่ตรงริมขอบเหวนั้น คุณต้องระวังให้มากว่าก้าวต่อไปของคุณจะไปในทิศทางไหน” เลขาฯยูเอ็นอุปมาให้เห็นภาพเป็นรูปธรรม ก่อนย้ำว่า

Advertisement

“ก้าวต่อไปของพวกเราคือ ค็อป26”

การประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของยูเอ็นที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมมากที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2015 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ

ค็อป21 หนนั้น ช่วยให้เกิด “ความตกลงปารีส” ที่ชาติสมาชิกเรียกร้องให้พยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส ถ้าจะให้ดีที่สุดก็ให้อยู่แค่ใกล้ๆ กับ 1.5 องศา สูงกว่าระดับอ้างอิงเมื่อก่อนยุคอุตสาหกรรมก็พอ

รายงานล่าสุดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ ระบุเอาไว้ว่า โลกเราในตอนนี้ มีโอกาสเพียงแค่ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกในช่วงใดช่วงหนึ่งในอีก 1-5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นอย่างน้อยที่สุดไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยในยุคก่อนหน้าการปฏิรูปอุตสาหกรรม

ปัญหาของโลกเราในเวลานี้ก็คือ ถ้าเราไม่ฉกฉวยโอกาสที่มีอยู่แค่ 40 เปอร์เซ็นต์ที่ว่านั้นเอาไว้ให้ได้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็จะเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับสูงกว่าระดับอ้างอิงเมื่อก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 2.7 องศาเซลเซียส

เลขาฯยูเอ็น เตือนถึงประเด็นนี้เอาไว้ชัดเจนอย่างยิ่งดังนี้

“ดัชนีชี้วัดทั้งหมดในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงเส้นทางสู่ระดับอย่างน้อยสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 2 องศาเซลเซียสแล้ว และการบรรลุถึงระดับนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการตีตั๋วเที่ยวเดียวสู่หายนะชัดๆ”

น้ำเสียงของเลขาฯยูเอ็นยังคงแข็งกร้าวอย่างยิ่ง เมื่อย้ำถึงสาเหตุของปัญหา

“การปล่อยมลภาวะคาร์บอนของประเทศเพียงหยิบมือ ทำให้มนุษยชาติทั้งมวลถึงกับทรุดตัวลงคุกเข่า และประเทศเหล่านั้นต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นใหญ่หลวงที่สุด”

กูแตร์เรสบอกต่อว่า

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะยังคงมีเวลาเพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้การประชุมที่กลาสโกว์ล้มเหลวลง

“แต่เวลาที่ว่านั้นเหลือไม่มากแล้ว และทุกอย่างยิ่งนานกลับยิ่งยุ่งยากลำบากมาขึ้น นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมผมถึงได้เป็นกังวลเอามากมายมากในเวลานี้ ผมกลัวเหลือเกินว่า หลายสิ่งหลายอย่างอาจเกิดผิดพลาดขึ้นมา

“บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศ จี20 จะพบหารือกันที่กรุงโรม (ประเทศอิตาลี) ผู้นำเหล่านี้รู้ดีว่า เศรษฐกิจของพวกเขามีส่วนรับผิดชอบกับการปล่อยมลภาวะคาร์บอนให้กับโลกถึง 4 ใน 5 ส่วน

“หากพวกเขาไม่หยัดยืนขึ้นมาแสดงความรับผิดชอบ…ก็เท่ากับว่าเรากำลังดุ่มเดินเข้าไปหาสภาวะที่มนุษยชาติจะได้รับทุกข์ทรมานที่เลวร้ายอย่างยิ่ง”

เลขาฯยูเอ็นเรียกร้องไปยังชาติสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีนเอาไว้ชัดเจนอย่างยิ่งว่า ทั้งสองประเทศยังคงต้อง “ทำ” ให้มากขึ้นกว่าที่ประกาศออกมาจนถึงขณะนี้

ไม่เช่นนั้นอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็จะถึงระดับ “หายนะ” ที่เกินกว่ายุคอุตสาหกรรม 2.7 องศาในอีกไม่ช้าไม่นานแน่นอนครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image