เดินหน้าชน : กู้วิกฤตร.ร.เจ๊ง โดย นายด่าน

การประกาศปิดกิจการของโรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี สิ้นปีการศึกษา 2564 หรือช่วงเมษายน 2565 ทำให้ปัญหาของโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศที่กำลังเผชิญกับภาวะขาดทุนจนต้องทยอยปิดกิจการไป กลายเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องหันกลับมาทบทวนเพื่อหาแนวทางช่วยเหลืออย่างจริงจัง

ด้วยความที่เป็นโรงเรียนเก่าแก่ก่อตั้งมาแล้ว 82 ปี การปิดตัวของโรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรีจากภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานจนทำให้ขาดสภาพคล่อง ย่อมสะเทือนแวดวงการศึกษา

และยังเป็นตัวสะท้อนความวิกฤตของโรงเรียนเอกชนที่กำลังเผชิญได้อย่างดี เพราะแม้แต่โรงเรียนเก่าแก่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากมูลนิธิอํานวยศิลป์มาตลอดหลายปีที่ผ่านมายังไปต่อไม่ได้

สาเหตุหลักของการปิดกิจการนอกจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จนทำให้ไม่สามารถเปิดเรียนได้ รายได้หมุนเวียนจากการเก็บค่าเล่าเรียนจึงหายไปด้วยนั้น อัตราการเกิดที่ต่ำของประชากรไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มีเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนน้อยลงกว่าเดิมมาก

Advertisement

อีกทั้งผู้ปกครองส่วนใหญ่จะนิยมส่งลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลมากกว่า เพราะลดภาระค่าใช้จ่ายจากผลกระทบของโควิด-19

ด้วยเหตุดังกล่าวการจะช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนให้พ้นจากวิกฤตจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แม้ นางกนกวรรณ
วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกมาย้ำว่าจะเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางช่วยเหลือแล้ว

โดยกว่า 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ผลักดันนโยบายที่จะช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนให้มีสภาพคล่อง แต่ยังไม่สำเร็จลุล่วงตามเสียงสะท้อนของผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ทั้งการหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่อง มักเจอปัญหาสถาบันการเงินปล่อยกู้ให้ในวงเงินที่น้อย และเน้นช่วยเหลือลูกหนี้เดิม

Advertisement

ส่วนการช่วยเหลือโดยการปล่อยกู้เงินกองทุนส่งเสริมโรงเรียนเอกชน สูงสุดรายละ 3 ล้านบาท จะติดปัญหาผู้ค้ำประกัน

ล่าสุด ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เรียกร้องว่า อยากให้ภาครัฐเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด คือให้โรงเรียนสามารถกลับมาจัดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้โรงเรียนมีรายได้หมุนเวียน และอยากให้ช่วยเรื่องเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชน เพราะตอนนี้ครูอยู่ได้โดยการลดเงินเดือนของตัวเอง

การวางแนวทางช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนไม่ใช่แค่การเสริมสภาพคล่อง แต่ต้องมองในระยะยาว ต้องสะสางปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน

ขอหยิบยกความเห็นบางส่วนของ นายชิตวร ลีละผลิน ประธานเครือข่ายโรงเรียนเอกชนกรุงเทพมหานคร ที่ได้สะท้อนปัญหาและเสนอเอาไว้น่าสนใจว่า รัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารการศึกษาเอกชนว่ามีกระบวนการอย่างไร โดยได้สะท้อนอุปสรรคต่างๆ ที่อยู่หลายด้าน

1.โรงเรียนเอกชนในส่วนภูมิภาคได้รับผลกระทบจากการที่การบริหารการศึกษาส่วนท้องถิ่นมีโครงการรัฐเรื่องการขยายตัวของโรงเรียนดีประจำตำบล ส่วนนี้รัฐต้องเข้ามาดูแล และต้องเพื่อให้โรงเรียนเอกชนอยู่รอด

2.การบริหารโรงเรียนเอกชนซึ่งเป็นการบริหารที่ต้องมีการแข่งขันกับโรงเรียนเอกชนด้วยกัน บรรดาโรงเรียนใหญ่ที่มีทุนมาก ก็จะส่งผลกระทบต่อโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้ไม่มียอดนักเรียน ถึงกับต้องปิดตัวเอง รัฐควรเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือ เช่น ด้านกฎหมาย การเว้นระยะห่างการสร้างโรงเรียนที่เคยมี แต่ปัจจุบันไม่ถูกนำมาใช้ ใครจะสร้างโรงเรียนตรงไหนรัฐก็ออกใบอนุญาตให้ ซึ่งเป็นปัญหากับโรงเรียนเอกชนมาก

นอกจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐแล้ว ร.ร.เอกชนจะต้องปรับตัว ยกระดับคุณภาพ การจัดการเรียนการสอนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image