‘มีความรู้ท่วมหัว ต้องเอาตัวให้รอด’

‘มีความรู้ท่วมหัว ต้องเอาตัวให้รอด’

‘มีความรู้ท่วมหัว ต้องเอาตัวให้รอด’

เมื่อครั้งเป็น “ปลัดกระทรวงสาธารณสุข” ราว 10 ปีที่แล้ว มีลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชา เพศชาย ขณะนั้น เป็นนักวิชาการสาธารณสุข ระดับผู้ชำนาญการพิเศษ มีปัญหามาปรับทุกข์ เล่าเรื่องราว พอสรุปความได้ว่า

“กำลังทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง รู้สึกเหมือนว่าตัวเองกำลังว่ายวนเวียนอยู่ในวังวนน้ำร้อนเดือดๆ หนีไปไหนก็เจอแต่ปัญหาไม่รู้จบ และเพิ่งรู้ว่าจบการศึกษาในระดับปริญญาเอกเป็น ‘ดอกเตอร์’ และ ‘ดำรงตำแหน่งซี 8’ ระดับหัวหน้าฝ่าย หรือสาธารณสุขอำเภอ ช่วยอะไรไม่ได้ทั้งๆ ที่ตลอดเวลา มีความสุข มีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก ทั้งระดับความรู้ทางโลกที่ตัวเองร่ำเรียนมา และความรู้ทางธรรมที่ได้ทุ่มเทให้กับการทำบุญอย่างยิ่ง แต่แปลกใจ ไม่อาจหนีจากกองทุกข์ใหญ่ในใจได้เลย

หลายๆ ครั้ง ที่กลับมาตั้งคำถามและมองดูปัจจัยรอบๆ ด้านของตนเอง อยู่ในบ้านหลังใหญ่ มีครอบครัวพร้อมหน้า ที่ทำงานอยู่ระดับหัวหน้าก็ดี หน้าที่การงานก็ดี ทั้งยังได้รับการนับหน้าถือตา และนอกจากนี้ ก็นั่งทำ ‘สมาธิ’ ทุกวัน แต่แปลกที่ไม่เคยรู้สึกว่าตนเป็นอิสระจากอะไร ที่รุมล้อมรอบตัวเลย จึงเริ่มสงสัยตัวเองว่า ทำผิดตรงไหน? ความทุกข์ที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นเพราะตนยังภาวนาไม่พอใช่ไหม? หรือมีปัจจัยอื่นๆ ประมาณว่าตน ‘มีความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด’ อยากให้ช่วยหาทางออกให้”

Advertisement

ผู้เขียนได้มาวิเคราะห์ ผู้ใต้บังคับบัญชาท่านนี้ดูแล้วน่าเป็นห่วง และยังเชื่อว่าคงมีอีกหลายท่านคงจะมีสภาพแบบเดียวกันไม่มากก็น้อย จึงขออนุญาต นำคำสอนของท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ที่เคยมาแสดงธรรมที่เสถียรธรรมสถาน ให้กับปุถุชนผู้ที่สนใจการภาวนา ในหัวข้อเรื่อง “การภาวนากับคนรุ่นใหม่ในโลกปัจจุบัน” เป็นการเผยแผ่ที่ท่านสมเด็จฯ ได้แสดงธรรมไว้ว่า…

คำว่า “ภาวนา” เป็นคำที่มีความหมายกว้างมากในพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่าข้อปฏิบัติในทางพุทธศาสนาทั้งหมดรวมอยู่ในคำว่า “ภาวนา” เพราะพุทธศาสนานั้นมองมนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก เมื่อฝึกแล้วก็เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ ถ้าไม่ฝึกก็ไม่ประเสริฐ

“ภาวนา” แปลว่า การทำให้เป็น ให้มี ความหมายว่า “สิ่งใดยังไม่เป็นก็ทำให้เป็น สิ่งใดที่ยังไม่มีก็ทำให้มี” สิ่งที่จะให้เป็นให้มีต้องมีความหมายพิเศษอยู่ที่ว่ามันมีประโยชน์แก่ชีวิตของเรา พอเราเป็นในทางที่ดี มันก็เจริญขึ้น เพราะฉะนั้นคำว่า “ภาวนา” ที่แปลว่าให้เป็น ให้มี ก็เลยแปลต่อไปให้ง่ายว่า “เจริญ”

ดังนั้น ก็จะมีคำว่าภาวนาไปพ่วงท้ายสิ่งที่ดีๆ ที่เราจะพัฒนาหรือทำให้มี ให้เป็น ให้เจริญขึ้นมา อย่างเช่นจะทำให้เมตตาเจริญขึ้นในจิตใจ เราก็ปลูกฝัง พัฒนาเมตตา ก็คือ “เมตตาภาวนา” แปลเป็นภาษาไทยว่า “เจริญเมตตา” ถ้าจะเจริญกุศล ภาษาบาลีใช้คำว่า “กุศลภาวนา” แปลว่าการ “เจริญกุศล” คือการทำกุศลให้เจริญเพิ่มพูน หรือสมาธิ ก็ใช้ภาวนาเติมเข้าไปก็เป็น “สมาธิภาวนา” แปลว่า “เจริญสมาธิ” ส่วนการเจริญปัญญา ได้รู้แจ้งความจริงของสิ่งทั้งหลายตามธรรมชาติ เราก็เรียกว่า “เจริญวิปัสสนา หรือ วิปัสสนาภาวนา” นั่นคือ จะไปเจริญอะไร ทำอะไรให้เกิด ให้มี ให้ดีขึ้นก็เป็นภาวนาหมดไม่ได้จำกัดว่าจะต้องมานั่งสมาธิเท่านั้น ในความหมายที่กว้างที่สุด คือ ข้อปฏิบัติที่ดีงามทั้งหมดในพุทธศาสนา เรียกว่า “ภาวนา”

กล่าวอีกประการหนึ่ง คือ ข้อปฏิบัติทั้งหมดในพุทธศาสนา คือ การเรียนเรื่องภาวนา ภาวนานั้นเป็นกิจต่อมรรคและมรรคนั้น อยู่ในอริยสัจข้อที่ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค) ในอริยสัจแต่ละข้อจะได้แสดงกิจหรือหน้าที่ไว้ ซึ่งกิจหรือหน้าที่ต่ออริยสัจนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก คนที่จะบรรลุอริยสัจแล้วต้องรู้กิจในอริยสัจด้วย ความสำคัญ คือ ต้องตั้งคำถามว่ากิจหรือหน้าที่ต่ออริยสัจทั้ง 4 ตามลำดับข้อเป็นอย่างไร?

ข้อ 1 ทุกข์ อริยสัจ คือ ความทุกข์ เช่น เดี๋ยวนี้คนเรียนได้ปริญญาตรี โท เอก ก็คือ การเรียนรู้อยู่แค่ทุกข์เท่านั้น กิจอริยสัจข้อนี้ คือ “ปัญญา” แปลว่า กำหนดรู้ รู้เข้าใจให้ถูกต้อง เป็นหน้าที่ต่อทุกข์ ยังไปไม่ถึงขั้นต่อไปของอริยสัจ
ข้อที่ 2 สมุทัย อริยสัจ คือ เหตุเกิดแห่งทุกข์นั้น กิจอริยสัจ คือ เราต้องละ ต้องกำจัดเหตุที่เกิดทุกข์นั้น
ข้อที่ 3 นิโรธ อริยสัจ คือ ความดับทุกข์ กิจอริยสัจ คือ ต้องทำความดับทุกข์ และภาวะไร้ทุกข์นั้นให้แจ้ง
ข้อที่ 4 มรรค อริยสัจ คือ หนทางไปสู่ความดับทุกข์ กิจอริยสัจเป็นสิ่งที่ต้องภาวนา ดังนั้นภาวนาก็คือ กิจต่อมรรคทั้งหมด คือ กิจที่นำไปสู่ความดับทุกข์ การทำภาวนา ก็คือ การปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง

การทำงานของอริยสัจ 4 คือ พระพุทธเจ้าสอนทุกข์ไว้ไม่ได้สำหรับให้เราเป็นทุกข์ แต่สอนทุกข์ให้รู้จักเท่าทันทุกข์ ถ้าคนรู้ไม่เท่าทันทุกข์จะแก้ไขทุกข์ไม่ได้ คนที่มัวแต่หนีทุกข์ไม่เผชิญหน้า ไม่ยอมรับรู้ ไม่ยอมศึกษา ไม่ยอมเข้าใจ จะแก้ไขทุกข์ไม่ได้

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เรารู้เท่าทันทุกข์ศึกษาให้รู้จริง ถ้ารู้ทันแล้วก็สามารถจัดการกับทุกข์ได้ แต่ไม่ได้สอนให้เราทุกข์ ทุกข์เป็นสิ่งที่สำหรับปัญญารู้ สำหรับปฏิบัตินั้นอยู่ที่มรรค ซึ่งเมื่อปฏิบัติแล้วก็จะห่างทุกข์ไปตามลำดับ สุขมากขึ้น มากขึ้นจนกระทั่งไม่มีทุกข์เหลืออยู่เลย คนที่สุขมากขึ้นนี้ทุกข์จะน้อยลง

ดังนั้นในเชิงของความรู้ด้วยปัญญาแล้ว เรารู้เท่าทันทุกข์ในเชิงปฏิบัติ เราจะเข้าถึงสุขมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ดังนั้นภาวนาจึงเป็นกิจต่อมรรคทั้งหมดดังที่กล่าวมาแล้ว

พระพุทธเจ้าจัดเป็น 4 อย่าง คือ “ภาวนา 4” มีดังนี้
หนึ่ง กายภาวนา แปลว่า เจริญกาย เจริญกายที่ใช้ภาษาปัจจุบันเป็นพัฒนากาย
สอง ศีลภาวนา พัฒนาศีล เจริญศีล ทำศีลให้งอกงามขึ้น ให้เป็นให้มีขึ้น
สาม จิตตภาวนา เจริญจิต คือ ทำจิตใจให้เจริญงอกงามขึ้น
สี่ ปัญญาภาวนา ทำปัญญาให้เจริญงอกงามขึ้น
สำหรับในรายละเอียด “ภาวนา 4” โดยสรุปได้ดังนี้

1) “กายภาวนา” แปลว่า พัฒนากาย ทำกายให้เจริญซึ่งไม่ใช่มุ่งทำกายให้ร่างกายใหญ่โต แต่ต้องพัฒนาการในที่นี้ ต้องพัฒนาความสัมพันธ์ของตัวเราเกี่ยวข้องกับ ปัจจัย 4 รอบตัวเรา เริ่มที่ใกล้ที่สุด ทำให้ชีวิตดีงาม กล่าวคือ มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เราต้องใช้ให้เป็น

ขั้นแรก ของการบริโภคอาหาร คือ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี เราจะได้เอาร่างกายไปดำเนินชีวิตที่ดีงาม ไปทำสิ่งที่มีคุณค่ามีประโยชน์ เจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วเรารับประทานอาหารด้วยความมุ่งหมายนี้ เราก็รับประทานแต่พอดีเกิดเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เรียกว่า รับประทาน “ด้วยปัญญา” รู้จักพิจารณารู้จักความมุ่งหมายในการกิน ในการบริโภค แค่ “อาหาร” นี้ก็เริ่มเป็นภาวนาแล้วส่วนเรื่องเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ก็บริโภค มีและใช้ อย่างพอเพียง พอดีด้วย “ปัญญา” เช่นกัน

ขั้นต่อไป การพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางด้านวัตถุ เพราะว่าปัจจุบันมีความเจริญทางด้านเทคโนโลยีต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็น ทำอย่างไรใช้แล้วไม่เกิดโทษต่อชีวิตทำให้เกิดคุณค่า เป็นประโยชน์ ไม่ทำให้กุศลเพิ่มพูน คนยุคนี้ต้อง “ภาวนา เรื่องนี้” อย่าได้มองข้ามเป็นอันขาด

2) “ศีลภาวนา” ในชีวิตของเราทุกวันนี้ คือ การเกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ ในสังคม จึงต้องมีการภาวนา คือ การฝึกพัฒนาอบรม ทำชีวิตให้ดีขึ้นในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะความสัมพันธ์อยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ได้ดี ในการจะอยู่ร่วมกัน โดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน แก่งแย่งกัน ข่มเหงกันด้วยอำนาจ มีความสามารถมากกว่า มีโอกาสมากกว่าก็ได้เอาเปรียบกอบโกยทำให้คนอื่นเดือดร้อน พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสหลักศีล เข้ามาเป็นมาตรฐานสำหรับเป็นกรอบเอาไว้ ขออย่าได้ละเมิดต่อกัน คุณก็อยู่กันได้ สังคมก็พลอยอยู่กันได้ มีความสุขกันตามอัตภาพ ซึ่งการที่มีความสุขดีก็จะต้องย่างก้าวต่อไป ถึง “ขั้นจิต” และ “ขั้นปัญญา”

อนึ่ง ศีล ไม่ใช่หลักประกันความสุข แต่เป็นหลักประกันทางสังคมให้อยู่กันได้เพียงเท่านั้น โดยที่คนเรา ต่างก็ต้องพัฒนาความสัมพันธ์การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขเท่าเทียมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลให้อภัย ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

3)”จิตภาวนา” แปลว่าการพัฒนาทางจิต คือ ทำจิตใจให้เจริญงอกงาม โดยจะมีวิธีการเชื่อมโยงให้ “ระดับกาย-ระดับศีล” เกื้อกูลต่อ “จิต” ตลอดจนด้าน “ปัญญา” กล่าวคือ ในการพัฒนาภาวนา 4 ด้าน นี้ต้องโยงกันไปหมด ไม่ใช่ว่าจะทำไปทีละอย่าง แต่ต้องสัมพันธ์กัน

“การดำเนินชีวิตที่สุจริต ก็มีความปลาบปลื้มในชีวิตมีความอิ่มใจ ไม่ก่อความเดือดร้อน เบียดเบียนสังคมชีวิตเราก็สุจริต กาย วาจา ใจดีงาม เราก็มีความอิ่มเอิบใจ อย่างน้อยจิตใจก็ไม่วุ่นวาย

จากนั้นก็ฝึกตนเองให้มีความสุขอย่างเรียบง่ายมากมายจนเสพติดวัตถุนิยม ต้องฝึกให้มีสติให้มีสมาธิระลึกได้อยู่เสมอว่า ถ้าเราพัฒนาชีวิตให้ถูกต้องให้มีความสุขอย่างเรียบง่าย เป็น ‘อิสระ’ จะมีวัตถุมากหรือน้อยลง สุขหรือทุกข์เป็น “ศูนย์” เท่าเดิม หรือ บวก 1 ลบ 1 คือเป็นศูนย์ตลอดเวลา ฉะนั้น คนที่พัฒนาถูกต้อง คือ พัฒนาจิตใจให้มีความสามารถที่จะมีความสุขมากขึ้นเป็นคนที่สุขง่ายขึ้นจากพัฒนาด้านจิตใจ ก็มีร่างกาย ‘การพัฒนาคุณธรรม’ ทำจิตใจให้มีเมตตา กรุณา มีศรัทธาเพิ่มมากขึ้น มีความเคารพ กตัญญูกตเวที พัฒนาจิตใจให้งอกงาม เพื่อส่งผลดีต่อความสัมพันธ์กันสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ เพื่อมนุษย์ด้วยกันด้วยความ “เมตตา”

เมตตาคุณธรรม คือ ความรักความปรารถนาดี ความอยากให้คนอื่นเป็นสุข กล่าวคือ เราสุขเมื่อเห็นคนอื่นสุขด้วย ก็เลยมีความสุขจากการให้ การให้เที่เคยเป็นความทุกข์นั้นกลายเป็นความสุข ฉะนั้นจึงได้ความสุขชนิดใหม่ คือ สุขจากการ “ให้”

4) “ปัญญาภาวนา” การพัฒนาปัญญา คือ มองเพื่อนมนุษย์ด้วยความรู้ความเข้าใจ เห็นสุขเห็นทุกข์ของเขา “ปัญญา” เราก็เจริญงอกงาม เราพัฒนาสิ่งต่างๆ ในชีวิตนี้เนื่องอยู่ในธรรมชาติแวดล้อม เนื่องด้วยตัวผู้อื่น สุขทุกข์ของเราและเพื่อน อาศัยซึ่งกันและกัน

สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นก็ทำให้สิ่งอื่นเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นในทางที่ดี ส่งผลกระทบดีต่อสิ่งอื่น ถ้าสิ่งหนึ่งเกิดในทางไม่ดี ก็จะส่งผลไม่ดีต่อสิ่งอื่น เมื่อเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ก็จะมี “ปัญญา” มองกว้างออกไป สามารถปรับตัวการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมให้ถูกต้องขึ้น จนกระทั่งรู้เข้าใจ โลกธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งหลายเป็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ซึ่งเป็น “กฎธรรมชาติ” จะไปเอา “ความอยาก” ของเราเป็นตัวกำหนดไม่ได้ เพราะจะทราบเป็นกระแส “ตัณหา” ที่เราสร้างขึ้นมา

“กระแสตัณหา” คือ กระแสอยากได้อยากมีอยากเป็นของมนุษย์ซึ่งเป็นของปรุงแต่ง สิ่งที่แท้จริง คือ กระแสเหตุปัจจัยของธรรมชาติที่สามารถเข้าไปถึงได้ด้วย “ปัญญา”

ดังนั้น แทนที่จะสร้าง “กระแสตัณหา” เราก็หันไปสร้าง “กระแสปัญญา” ทั้งนี้กระแสตัณหาจะขัดแย้งกับกระแสธรรมชาติมาก เรามักจะ “แพ้” ทุกที แล้วก็ “ทุกข์” ด้วย แต่พอสร้าง “กระแสปัญญา” มันรู้ทันตามเหตุปัจจัยกระแสปัญญาของคนมันกลมกลืนไปกับกระแสเหตุปัจจัยของธรรมชาติ พอมันกลั่นเป็นกระแสเดียวกันเราก็ไม่ทุกข์นี่

เรารู้ตามความเป็นจริงเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร ปัญญาเราก็รู้ไปตามนั้น

กระแสปัญญา กระแสเหตุปัจจัยเป็นอันเดียวกัน กลมกลืนประสานกัน “ตอนนี้สบาย” ดำเนินชีวิตสอดคล้องและพอรู้เท่าทันความจริงทั้งหลายเป็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” สิ่งทั้งหลายมันเป็นไปตามกฎของมันอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ทุกข์ในธรรมชาติก็มีอยู่ตามกฎธรรมชาติของมัน ไม่มาเป็นทุกข์ในใจเรา

“อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” นี้เป็นกฎความจริงในธรรมชาติเราไปแก้ไม่ได้ เราแก้ธรรมชาติไม่ได้ แต่เรามาแก้ในใจของเรา คือ ทำอย่างไรไม่ให้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาครอบงำจิตใจของเรา จิตใจของเราก็เป็นอิสระ นี่คือ “จบ” นี่คือ “จิตใจ” ที่เป็นอิสรภาพที่ท่านเรียกว่า “พ้นจากทุกข์” นี่คือ “ปัญญาภาวนา”

สรุปได้ว่า การ “ภาวนา 4” ของพระพุทธเจ้านี้ไม่เคยล้าสมัยเลย ถ้าเราทุกคนที่เป็น “คนไทย” หรือชาติใดก็ได้ ลองนำคำสอนไปใคร่ครวญและ “ฝึกฝน” ให้มีขึ้นในวิถีชีวิตประจำวันดู ฝึกเจริญสติและเฝ้าดูชีวิตของเราๆ

ในเวลาบริโภค การบริโภคทำให้ “ชีวิตของเราแข็งแรง”

การฝึกเจริญสติ ขณะบริโภคทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เพื่อทำให้ชีวิต “มีพลังของชีวิต”

แต่ถ้าเราไม่มีสติในการบริโภค การบริโภคนั้นอาจจะทำลายชีวิตของเราก็ได้ พวกเราจงดำเนินชีวิตด้วย “กระแสแห่งปัญญา” อย่าใช้ชีวิตด้วย “กระแสแห่งตัณหา” ความตระหนักรู้เท่าทันปัจจุบันทุกขณะอย่างนี้ จะส่งเสริมให้ความรู้ทางโลกของเราทุกคนเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติด้วย ขอให้ “พวกเรา” ทุกคน “มีความรู้ท่วมหัวแล้วเอาตัวให้รอด” ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image