สะพานแห่งกาลเวลา : ชื่อนั้นสำคัญไฉน? โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

แฟ้มภาพ AP

ครั้งหนึ่ง วิลเลียม เชคสเปียร์ เคยให้ โรเมโอ กับ จูเลียต สนทนากันว่าด้วยนัยสำคัญของชื่อ

“อะไรอยู่ในชื่อกันนะ? ทำไมเราถึงต้องเรียกสิ่งนี้ว่ากุหลาบ หรือถ้าเป็นชื่ออื่นจะไม่หอมหวานเท่านี้?”

นัยของ เชคสเปียร์ก็คือ แท้จริงแล้ว ชื่อ ไม่ได้มีนัยสำคัญใดๆ

แต่ในโลกธุรกิจแตกต่างออกไป ชื่อ อาจมีความหมายใหญ่หลวง การเปลี่ยนชื่ออาจส่งผลให้ลูกค้าขาประจำหดหายไปจนหมดก็ได้ หรืออาจทำให้ธุรกิจเติบใหญ่ได้มากกว่าเดิมก็เป็นได้เช่นกัน

Advertisement

มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก อิงค์. ให้เหตุผลในการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “เมทา แพลตฟอร์ม อิงค์.” เอาไว้ว่า เพื่อให้ครอบคลุมทุกอย่างที่บริษัททำ

เขาบอกว่า ชื่อบริษัทเดิมไม่ได้สะท้อนถึงกิจกรรมทั้งหมดของบริษัท แต่กลับถูกยึดถือเป็นเพียงบริษัทโซเชียลมีเดียเท่านั้น ไม่ได้รวมเอาอีกหลายอย่างที่บริษัทพัฒนาและผลิต อย่างเช่น อินสตาแกรม, เมสเซนเจอร์, วอทส์แอพพ์, เควสต์ วีอาร์ เฮดเซ็ท, หรือฮอไรซอน วีอาร์ แพลตฟอร์ม เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาแพลตฟอร์ม “เมทาเวิร์ส” ขึ้นในอนาคต

ชื่อบริษัทเมทา จึงยึดโยงกับ เมทาเวิร์ส ของเฟซบุ๊กอย่างแนบแน่น

เมทาเวิร์สเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งแบบเดียวกับเฟซบุ๊ก ตัวเมทาเวิร์สจะเป็นโลกเสมือนจริง 3 มิติ ที่จะปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์เท่านั้น

เราทุกคนสามารถมี “ตัวตน” อยู่ในเมทาเวิร์สได้ (แน่นอนต้องสมัครเป็นสมาชิก เหมือนกับที่เราสมัครเข้าใช้งานเฟซบุ๊ก) ในรูปของอวตาร์ เป็นตัวตน 3 มิติที่สามารถทำกิจกรรมทุกอย่างในเมทาเวิร์สได้ เช่น พูดคุยกับอวตาร์คนอื่นๆ ตั้งร้านขายของ หรือรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ฯลฯ

ซักเคอร์เบิร์กบอกว่า คำว่า “เมทา” เป็นคำในภาษากรีก หมายความถึง “บียอนด์” หรือสิ่งที่อยู่ไกลออกไปจากตอนนี้

แต่จริงๆ แล้ว คำว่า เมทาเวิร์ส ปรากฏให้เห็นกันมานานมากแล้ว และก็เป็นเหมือนคำอื่นๆ อีกหลายคำที่ใช้กันอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีสารสนเทศ คือมีที่มาจาก “นิยายวิทยาศาสตร์”

อย่างเช่นคำว่า “ไซเบอร์สเปซ” ที่เราคุ้นกันดีในเวลานี้ ปรากฏเป็นครั้งแรกอยู่ในเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ ชื่อ “เบิร์นนิง โครม” (Burning Chrome) ของวิลเลียม กิบสัน

คำว่าเมทาเวิร์สเอง ปรากฏครั้งแรกในนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อ “สโนว์ แครช” ของนีล สตีเฟนสัน ตีพิมพ์เมื่อปี 1992

ในจินตนาการของสตีเฟนสัน เมทาเวิร์ส ก็เป็นโลกเสมือนจริง 3 มิติ ซึ่งตามท้องเรื่องระบุเอาไว้ว่าเป็น “ที่สืบทอด” ของ “อินเตอร์เน็ต” ที่กลายเป็นสิ่ง
ล้าสมัยไปแล้วในเวลานั้น

ในเมทาเวิร์สของซักเคอร์เบิร์ก ทุกคนสามารถพบปะ พูดคุย ทำงาน และเล่นสนุกได้หลากหลาย โดยอาศัยชุดอุปกรณ์วีอาร์, แว่นตา เออาร์, แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อื่นๆ ประกอบ

ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กบอกด้วยว่า จะจัดตั้งทีมงานขึ้นมารับผิดชอบการพัฒนาเมทาเวิร์สนี้โดยเฉพาะ ให้อยู่ภายใต้เรียลิตี้แล็บส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานพัฒนาฮาร์ดแวร์เสมือนจริงของเฟซบุ๊กในอดีต เขาไม่ได้บอกถึงเม็ดเงินลงทุน แต่บอกว่าการลงทุนเพื่อการนี้จะทำให้กำไรจากการประกอบการของบริษัทลดลง ราว 10,000 ล้านดอลลาร์ ในปีนี้

หมื่นล้านดอลลาร์ ไม่ใช่เงินก้อนเล็กๆ แต่อย่างใด สะท้อนให้เห็นความจริงจังและมุ่งมั่นไปในทิศทางนี้อย่างชัดเจน

และทำให้ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ซักเคอร์เบิร์กจะให้ชื่อบริษัทใหม่ว่า “เมทา”

ซักเคอร์เบิร์กคาดการณ์เอาไว้ว่า ภายใน 10 ปีนับจากนี้ไป เมทาเวิร์สของเขาจะดึงดูดผู้คนเข้าไปใช้งานได้ถึง 1,000 ล้านคน

และคาดหวังว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยสร้างงานใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับเมทาเวิร์สอีกนับเป็นล้านๆ ตำแหน่ง

นักสังเกตการณ์ในแวดวงบางคนบอกว่า กระบวนการรีแบรนด์ในครั้งนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะ “ครอบงำ” ธุรกิจของโลกเสมือนจริงในอนาคตไว้ในกำมือ แบบเดียวกับที่เฟซบุ๊กครอบงำโซเชียลมีเดียของโลกในเวลานี้

เป็นการเปลี่ยนชื่อใหม่ไว้รองรับขุมทรัพย์ใหม่ๆ ที่จะมีมาให้เก็บกินไม่สิ้นสุดนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image