20 มารยาท บนความเป็น‘เพื่อน’

ทุกคนล้วนคุ้นเคยกับคำว่า “เพื่อน” แต่ “เพื่อนแท้ เพื่อนจริงใจ” หรือให้ภาษาสวยหน่อยเราเรียก “กัลยาณมิตร” ซึ่งเพื่อนที่ซื่อสัตย์ต่อกัน จริงใจต่อกัน ช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกัน และร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

แต่เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงเห็นด้วยกับผู้เขียนที่ว่า “ทำไมเพื่อนสมัยเรียนมัธยมจึงคบกันได้ยาวนาน” กว่าเพื่อนที่เราคบกันในช่วงอื่นของวัย นี่คือสิ่งที่หลายคนสงสัยกันมายาวนาน เพื่อนรุ่นไหนก็ไม่สนิทเท่าเพื่อนที่เรียนอยู่ด้วยกันในระดับ “ชั้นมัธยม” เรามาลองวิเคราะห์เหตุผลกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

1.ไม่มีเปลือก : เพื่อนรุ่นเดียวกันวัยนี้คบกันด้วยแต่ตัวตนจริงๆ ใครเป็นใคร อย่างไร เห็นกันหมด ใครเรียนเก่ง ใครอ่อน ฉลาด ขยัน ขี้เกียจ แม้กระทั่งพ่อแม่เป็นใคร มีสตางค์หรือไม่มี รู้กันหมด ไม่ต้องมาทำฟอร์มใส่กัน

2.ไม่มีผลประโยชน์ : เพื่อนสมัยมัธยมไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง คบกันได้เพราะ “มึงกับกู” เหมือนๆ กัน ไม่ใช่เพราะจะพึ่งพาอะไรกันมากมาย อย่างดีก็แค่ “ขอกูลอกการบ้านมึงหน่อย” พอเอาไปส่งครู ตอบผิดด้วยกันทั้งคู่เลยก็มีบ่อยๆ เพราะไปลอกของมัน ดีไม่ดี! ทำเองยังอาจจะถูกบ้างบางข้อ

Advertisement

3.รู้จักกันถึงพ่อ ถึงแม่ ถึงพี่น้อง บ้านช่อง รู้ไส้ รู้พุงกันหมด : สนิทกันแบบไม่มีอะไรปิดกั้น สนิทกันขนาดเรียกชื่อเพื่อนเป็นชื่อพ่อมันจนกระทั่งเรียนจบก็มี บางทีเรียกชื่อมัน (ซึ่งเป็นชื่อพ่อเพื่อน) พ่อมันขานเราก็มี เพราะพ่อมันนึกว่าเรียกเขา ที่ดีคือเพื่อนมันไม่เคยโกรธเลย

4.หัดจีบสาวพร้อมๆ กัน : ด้วยลีลาที่นึกถึงทุกวันนี้ยังเกิดคำถามกับตัวเองว่า “กูทำไปได้ยังไง” แต่ก็เป็นการจีบแบบใสๆ ซื่อๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าจีบไปก็เท่านั้น เล่ากันเมื่อไหร่ก็ฮากันเมื่อนั้น บางทีนึกดีใจด้วยซ้ำที่ไม่จีบเป็นจริงเป็นจังจนขอแต่งงาน เพราะมาเจออีกทีหลังเกษียณ แก่ไม่มีที่ติจริงๆ (จริงๆ ก็แก่ทั้งคู่นั่นแหละ ระหว่างเรากับเขานะ)

5.ทำอะไรแย่ๆ เหมือนกัน : วัยมัธยมเป็นวัยรอยต่อของความเป็นเด็กกับวัยรุ่นที่กำลังจะโตเป็นผู้ใหญ่ จึงมีเรื่องแย่ๆ ให้ทำเยอะมาก ทุกคนในกลุ่มที่คบกันจะมีเรื่องแย่ๆๆ ให้ทำแตกต่างกันออกไป จนไม่มีใครดูฉลาดกว่ากันในสายตาของผู้ใหญ่ เพราะคิดทำการแต่ละเรื่องมีแต่เรื่องแย่ๆ ทั้งนั้น มันเลยคบกันได้มายาวนาน เพราะไม่ต้องมีใครอายใครนั่นเอง

Advertisement

6.กิน นอน เที่ยว ด้วยกัน : วัยมัธยมเป็นวัยที่ติดกันอย่างกับตังเม ไปไหนไปกันเป็นฝูง เกาะกลุ่มกันแน่น กินก็กินด้วยกัน ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยจะมีอะไรให้กิน นอนก็นอนเกลือกกลิ้งอยู่บนพื้นด้วยกัน หลับได้เพราะเพลีย ที่ไปทำทโมนมาทั้งวัน ความผูกพันมันจึงถูกหล่อหลอมจนเป็นเนื้อเดียวกัน วันละนิดละหน่อย จนแยกกันไม่ออก

7.โดนครูดุด่าทำโทษมาด้วยกัน : จนไม่เหลือยางอายอะไรให้อายอีกแล้ว ใหม่ๆ อาจจะอายเพื่อนสนิทที่เป็นผู้หญิงเป้าหมายตาที่อยู่ในห้องเดียวกัน พอนานเข้า ทั้งเขาและเราก็ชินกันไปเองจนไม่มีใครอายใคร

8.มีอดีตและวีรกรรมร่วมกันมายาวนาน : เพื่อนที่คบกันมาจนสนิท แนบแน่น จะมีประวัติศาสตร์หรือวีรกรรมที่ร่วมทำกันมามากมายหลายรสชาติ จนเล่ากี่ครั้งก็ไม่มีวันหมด ทุกครั้งที่กลับไปเยี่ยมเยียนสถาบันที่เคยเล่าเรียนกันมาก็จะจดจำภาพได้ทุกภาพ ว่าอะไรอยู่ตรงไหน มะม่วงต้นไหนที่ใครเคยปีน ใครโดนครูทำโทษตรงไหน อย่างไร ฯลฯ จำได้หมด ล้วนเป็นวีรกรรมแบบไม่แตกต่างกันเท่าไหร่

9.ขอเงินกันกินขนม แทนการขอยืม : ด้วยที่สมัยนั้น ทุกคนได้เงินมาโรงเรียนไม่มากมายอะไร แค่หลักสิบบาทเท่านั้น จะต่างกันไปตามฐานะของแต่ละบ้านบ้าง แต่ก็ไม่กี่บาท ความอดอยากปากแห้งจึงมาเยือนชนิดไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ การขอเงินเพื่อนกินขนม หรืออเมริกันแชร์ หรือให้เพื่อนเลี้ยง จึงเป็นเรื่องปกติ การ “ขอยืม” เงินเพื่อนสมัยนั้นไม่ค่อยมีให้เห็น มีแต่ “ขอเลย” หรือ “ขอลืม” เท่านั้น

10.เรามาพบเจอกันในแต่ละครั้งหลังจากจบการศึกษา : เราได้เห็นวิวัฒนาการและการเติบโตของเพื่อนในกลุ่มแต่ละคน พร้อมกับได้รื้อฟื้นความหลัง ความทรงจำเก่าที่เราร่วมทำกันมา นัยหนึ่งก็เหมือนเป็นการลดอัตตาตัวตนของตนเองไปในเวลาเดียวกันว่า “ไม่ว่าวันนี้ทุกคนจะมาไกลแค่ไหน แต่เราก็มีจุดเริ่มต้นที่ไม่ต่างกัน คือความเป็นเพื่อนที่ไม่มีกีดขวางระหว่างมึงกับกูไปได้ เท่านั้นเอง”

นอกจากการวิเคราะห์เหตุและผลของความเป็นเพื่อนแล้ว

เราไม่ได้อยู่กับเพื่อนที่รู้จักและเข้าใจกันตลอดเวลา แต่เราต้องอยู่ในสังคมที่มีคนหลากหลาย ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราอยู่ในสังคมทุกกลุ่มได้คือ มารยาท เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ได้

1.ผู้มีมรรยาท ย่อมพยายามปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเคร่งครัด แม้แต่หน้าที่ที่ต้องกระทำร่วมกับคนหมู่มาก เช่น การยืนเข้าแถวเพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้ใดก็ตาม ผู้มีมรรยาทย่อมยืนรออยู่อย่างสงบและเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ส่งเสียงอื้อฉาว หรือหยอกล้อผู้ใดเป็นอันขาด 2.การเปล่งเสียงไชโยนั้นอาจจะกระทำได้ในโอกาสที่ต้องการแสดงความจงรักภักดีต่อชาติ หรือต่อพระมหากษัตริย์ หรือเมื่อต้องการจะแสดงความยินดี หรืออำนวยพร แต่ควรมีการนัดหมายให้การเปล่งเสียงเป็นไปโดยพร้อมเพรียง 3.การหมอบคลานเป็นประเพณีของไทย ผู้มีมรรยาทจึงควรทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไร และควรเลือกใช้ให้เหมาะสมโอกาสและสถานที่ 4.การแสดงความเคารพนั้นกระทำได้หลายวิธี ผู้มีมรรยาทจึงควรจะรู้จักวิธีแสดงความเคารพที่ถูกต้อง

5.วิธีแสดงความเคารพผู้มีอาวุโส เมื่อนั่งกับพื้นควรหมอบกราบ เมื่อยืนหรือนั่งเก้าอี้ควรพนมมือเคารพโดยน้อมตัวลงต่ำ และก้มศีรษะลงจรดมือ 6.ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ก่อน ผู้อ่อนอาวุโสย่อมเคารพผู้สูงอาวุโสกว่า โดยวิธีพนมมือและน้อมศีรษะลงจรดมือ ผู้สูงอาวุโสย่อมตอบการเคารพโดยวิธีพนมมือรับ 7.วิธีไหว้ไม่ควรกางศอก แต่ควรยกมือขึ้นพนม โดยศอกทั้งสองชิดสีข้าง นิ้วหัวแม่มือทั้งสองจรดหว่างคิ้ว 8.การแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กระทำโดยวิธีกราบ คือนั่งพับเพียบแล้วหมอบกราบแบมือ หรือกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ คือคุกเข่าลงทั้งสองข้าง แล้วกราบลงโดยฝ่ามือทั้งสองข้างและศีรษะจรดพื้น 9.การกราบบุคคลที่ไม่ใช่ภิกษุ ต้องกราบโดยตั้งมือทั้งสองประกบกันไว้บนพื้น ไม่ใช่กราบโดยแบมืออย่างกราบพระ 10.การถวายความเคารพพระมหากษัตริย์และพระมเหสี กระทำโดยกราบ คือหมอบลงแล้วกราบ โดยตั้งมือทั้งสองข้างประกบกันไว้ หรือถวายบังคม คือคุกเข่าลง วางตัวไว้บนส้นเท้าทั้งสองข้าง พนมมือไว้เพียงอก และยกขึ้นไปจรดหน้าผากแล้วยกลงมาและกลับขึ้นไป

11.วิธีถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ และพระมเหสี อีกวิธีหนึ่งคือ การถวายคำนับ สำหรับผู้ชายยืนตัวตรง แล้วก้มศีรษะลงอย่างต่ำ สำหรับผู้หญิงยืนตัวตรงแล้วถอยเท้าข้างหนึ่งไปข้างหลัง และย่อเข่าข้างที่ถอยไปนั้นจนเกือบจรดพื้น เรียกว่า “ถอนสายบัว” ในการถวายความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยวิธีถอนสายบัวให้น้อมศีรษะลงช้าๆ ขณะที่เข่าแตะพื้นและเงยศีรษะในขณะที่ยืดตัวตรง สำหรับการถวายความเคารพสมเด็จพระบรมราชวงศ์นั้นไม่ต้องก้มศีรษะและการย่อเข่า ไม่ต้องต่ำเท่าการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ส่วนแขนทั้งสองข้างควรเหยียดโดยสำรวมไว้ชิดกับตัว แต่ในกรณีที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเฉพาะตัว ควรประสานมือทั้งสองข้างไว้บนเข่า ในขณะที่น้อมศีรษะลง 12.การแสดงความเคารพ โดยวิธีถอนสายบัวนั้นใช้เฉพาะแก่พระมหากษัตริย์ พระมเหสี พระบรมวงศ์ชั้นพระราชโอรส ธิดา พระราชธิดา มารดา พระราชภคินี และพระราชภาตาโดยตรงของพระมหากษัตริย์ 13.เมื่อเสด็จพระราชดำเนินผ่านมาในรถพระที่นั่งควรถวายความเคารพ โดยยืนตรงแล้วคำนับ ถ้าเสด็จพระราชดำเนินมาโดยทางลาดพระบาท จะยืนตรงแล้วถวายคำนับ หรือจะนั่งพับเพียบแล้วหมอบกราบลงกับพื้นก็ได้ หลักสำคัญที่ควรทราบคือ ถ้าจะยืนต้องถวายคำนับ ถ้าไม่ถวายคำนับให้นั่งลงหมอบกราบ 14.ผู้มีมรรยาทไม่โบกมือกับผู้ใหญ่เป็นอันขาด ถ้าท่านผู้ใหญ่โบกด้วย ผู้มีมรรยาทย่อมแสดงความเคารพต่อท่านโดยควรแก่ฐานะของท่าน เช่น น้อมตัวลงไหว้ หรือก้มศีรษะคำนับ หรือถอนสายบัว 15.การเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในที่รโหฐานที่มิได้นั่งเก้าอี้ เมื่อแลเห็นพระองค์ต้องหมอบกราบลงครั้งหนึ่งแล้วคลานโดยมือทั้งสองจรดพื้น เมื่อใกล้ที่ประทับแล้วหมอบกราบถวายบังคมอีกครั้งหนึ่ง และหมอบฟังพระราชดำรัส หรือพระราชเสาวนีย์ เมื่อรับพระราชกระแสแล้ว กราบถวายบังคมและคลานถอยหลังออกมาจนห่างที่ประทับพอสมควร แล้วจึงกราบถวายบังคมอีกครั้งหนึ่งแล้วคลานกลับหลังต่อไป

16.การเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานที่นั่งเก้าอี้ หรือยืนเฝ้า พอแลเห็นพระองค์ต้องถวายคำนับครั้งหนึ่ง เมื่อทรงพระราชดำเนินผ่านมาต้องถวายคำนับอีกครั้งหนึ่งและยืนตรงอยู่ ผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทจะนั่งลงได้ต่อเมื่อเสด็จขึ้นประทับบนพระราชอาสน์แล้ว ก่อนจะนั่งทุกครั้งต้องถวายคำนับ และก่อนจะลุกขึ้นย้ายที่ทุกครั้งต้องถวายคำนับ เมื่อลุกจากที่ประทับทุกครั้ง ผู้ที่นั่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ต้องลุกขึ้นยืนเป็นการถวายความเคารพ และต้องบ่ายหน้าไปทางพระองค์ทุกขณะ 17.ในการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ไม่ว่าจะเป็นในที่รโหฐาน ซึ่งใช้วิธีหมอบคลานและกราบถวายบังคม หรือในงานพิธีที่ใช้วิธีถวายคำนับ เมื่อมีโอกาสเข้ารับพระราชทานของสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามต้อง “เอางาน” เสียก่อนจึงจะรับได้การ “เอางาน” คือการยกมือขวาตั้งขึ้นและกระดกปลายมือขึ้นเล็กน้อย การจับต้องราชูปโภคทุกครั้งต้อง “เอางาน” เสียก่อน 18.ผู้มีมรรยาท ไม่บังอาจแตะต้องส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งพระองค์พระมหากษัตริย์ พระมเหสี หรือพระบรมราชวงศ์ผู้ใหญ่ โดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต หรือพระอนุญาต 19.ของสำหรับจะทูลเกล้าฯถวาย หรือถวาย หรือมอบแก่ผู้มีอาวุโสต้องใส่พานแล้วส่งถวายหรือส่งใส่ทั้งพาน ไม่ใช่ใส่พานมาแล้วหยิบจากพานออกส่งด้วยมือถวาย หรือให้แก่ผู้มีอาวุโสผู้ทรงอาวุโสสูงเท่านั้น จึงจะส่งของให้ผู้อ่อนอาวุโส โดยหยิบจากพานแล้วมอบให้กับมือ

20.เมื่ออยู่เฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ไม่ต้องแสดงความเคารพผู้อื่น และไม่ควรกล่าวถ้อยคำอันใดแก่ผู้ใดก่อนที่จะได้ขอพระบรมราชานุญาต ไงเล่าครับ

ท้ายสุดขอฝากแฟนๆ มติชนทุกท่าน ด้วยการดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวให้ปลอดจากโรคไวรัสโควิด-19 ด้วยหลัก 5 ประการ

1.เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครบ อย่าลืม “3 อ” ออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อารมณ์ดี 3 ลด : ลดอ้วน ลดละเหล้า ลดละบุหรี่

2.ใส่ Mask 100% ทุกที่ทุกเวลา

3.กินร้อนช้อนส่วนตัว อาหารจานเดียว แยกกันทาน

4.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์

5.สังเกตตัวเอง ถ้ามีอาการไข้หวัด ไอ ไข้สูงมากกว่า 37.5 ํ ไอมากขึ้น หายใจขัด รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ไงเล่าครับ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image