สะพานแห่งกาลเวลา : เมื่อ‘กวางป่า’ติดโควิด โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Unsplash)

เราได้รับรู้กันมาระยะหนึ่งแล้วว่าสัตว์เลี้ยงในบ้าน อย่างเช่น สุนัขหรือแมว สามารถติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้ เสือในสวนสัตว์ก็ติดโควิดได้เช่นเดียวกัน

สัตว์ที่เราเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ อย่างเช่น ตัวมิ้งค์ ซึ่งในบางประเทศเลี้ยงกันเป็นฟาร์ม เพื่อเอาขนมาทำเป็นเสื้อผ้า ก็สามารถติดเชื้อโควิดได้

แต่ในกรณีของสัตว์ป่าแตกต่างกันออกไป เมื่อสัตว์ป่าเกิดติดเชื้อโควิด-19 ได้ ปัญหาเริ่มมากขึ้นกว่าการที่สัตว์เลี้ยงที่เราคุ้นเคยเกิดติดเชื้อ

รายงานผลการศึกษาวิจัยการติดเชื้อโควิด-19 ในหมู่กวางป่าหางขาว ในรัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยในแวดวงวิทยาศาสตร์

Advertisement

งานวิจัยดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ bioRxiv เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ระบุว่า ระหว่างเดือนเมษายน 2020 จนกระทั่งถึงเดือนมกราคม 2021 นักวิจัยเข้าไปตรวจสอบประชากรกวางป่าในรัฐไอโอวา พบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรกวางทั้งหมดติดเชื้อโควิด-19

บทสรุปของงานวิจัยดังกล่าวระบุเอาไว้ว่า ผลของการวิจัยแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ สามารถนำเชื้อโควิด-19 ไปแพร่ให้กับกวางป่าเหล่านี้ได้

ในเวลาเดียวกัน กวางป่าที่ติดเชื้อจากมนุษย์ก็สามารถแพร่เชื้อโควิดต่อให้กับกวางตัวอื่นๆ ได้เช่นกัน ไม่เช่นนั้นปริมาณการติดเชื้อคงไม่มากมายถึง 80 เปอร์เซ็นต์เป็นแน่

Advertisement

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาในกรณีนี้ ก็คือ เมื่อกวางป่าติดเชื้อจากคนได้ แล้วก็สามารถแพร่เชื้อให้กับกวางตัวอื่นได้ ถ้าอย่างนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่ากวางป่าจะกลายเป็นแหล่งที่ทำให้เชื้อ โควิด-19 กลายพันธุ์ แล้วแพร่เชื้อกลายพันธุ์ใหม่ที่ว่านั้นกลับมาให้คนได้เช่นกัน?

โทนี โกลด์เบิร์ก สัตวแพทย์ ที่ศึกษาจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องวิวัฒนาการของโรคติดเชื้อในสัตว์ ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ยอมรับตรงไปตรงมาว่า “ไม่รู้” และไม่น่าจะมีใครรู้ด้วยว่า มีโอกาสเป็นเช่นนั้นได้หรือไม่

ที่ผ่านมา ยังไม่เคยปรากฏว่า โควิด-19 ที่แพร่จากคนไปสู่สัตว์อีกสปีชีส์หนึ่ง จะแพร่กลับมาสู่คนอีกครั้งหนึ่งได้

แต่แค่ได้รู้ชัดเจนว่า กวางป่าสามารถเป็น “แหล่งเก็บสะสมเชื้อ” (reservoirs) ได้ ทั้งยังสามารถแพร่ให้กับกวางป่าด้วยกัน ก็น่าตกใจพอแรงแล้ว

ศาสตราจารย์โกลด์เบิร์กให้เหตุผลว่า เพราะนั่นเท่ากับว่า ทำให้การดำเนินความพยายามเพื่อควบคุมโรค มีความซับซ้อนขึ้นใหญ่หลวงเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออกว่า ในอดีตเคยเกิดปรากฏการณ์อย่างที่กังวลกันนี้กับเชื้อโรคระบาดอื่นๆ ขึ้นมาหรือเปล่า ทำให้ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่า เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้

กรณีที่ใกล้เคียงที่สุด เป็นกรณีของเชื้อโรคระบาดอย่าง ไข้เหลือง กับโรคเวสต์ไนล์ แต่ทั้งสองเชื้อต้องมีตัวกลางที่เป็นพาหะนำโรคกลับมาสู่คนอีกครั้ง นั่นคือ “ยุง”

โดยสรุปแล้ว นักวิทยาศาสตร์ลงความเห็นว่า ถึงตอนนี้ยังคงเร็วเกินไปที่จะบ่งชี้ไปในทางหนึ่งทางใดจากกรณีนี้

แต่โกลด์เบิร์กยืนยันว่า โดยหลักการแล้ว การนำเชื้อใหม่ๆ ไปแพร่ในสัตว์ป่าเป็นจำนวนมากนั้นไม่ใช่เรื่องดีแน่ ด้วยเหตุผลที่ว่ามนุษย์เรามีเครื่องมือและองค์ความรู้น้อยมากในการควบคุม หรือบริหารจัดการโรคระบาดในป่า

โกลด์เบิร์กย้ำด้วยว่า ถ้าหากกวางป่าหางขาวที่ไอโอวาเป็นแหล่งเก็บสะสมเชื้อที่แท้จริงได้ และสามารถแพร่กลับมาสู่คนได้จริงๆ การหาหนทางกำจัด หรือควบคุมโรคก็จะยิ่งยากมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้

เป็นไปได้ที่ ไวรัสเมื่อเข้าสู่ตัวกวางแล้ว จะไม่สามารถขยายตัวได้มากมายนัก จนค่อยๆ หมดไปในที่สุด

แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันที่ เมื่อเข้าสู่ตัวกวางแล้วมันสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การกลายพันธุ์ และเป็นไปได้ที่จะแพร่กลับมาสู่คนได้อีกครั้ง

“เราอาจโชคไม่ดีที่เชื้ออาจแพร่ออกมาจากตัวกวางสู่คนได้ในลักษณะที่ร้ายแรงต่อคนเรามากขึ้นกว่าเดิม”

เป็นคำเตือนที่ชวนคิดเลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image