เดินหน้าชน : ล้มเพื่อเดินต่อ โดย จตุรงค์ ปทุมานนท์

ที่ประชุมรัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มรีโซลูชั่น ที่ประชาชนเข้าชื่อกัน 135,247 คน ในวันที่ 16 พฤศจิกายน ใช้เวลาพิจารณารวมทั้งสิ้น 18 ชั่วโมง

ก่อนจะลงมติชี้ขาดว่าจะให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเป็นครั้งที่ 2 ได้ไปต่อหรือไม่ในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้

แน่นอน เมื่อดูเนื้อหาสาระของร่างแก้ไขจำนวน 23 มาตรา แต่มีสาระสำคัญในการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็นหลักๆ คือ 1.ยกเลิกวุฒิสภา ใช้ระบบสภาเดียว

2.ปฏิรูปที่มา อำนาจหน้าที่ การตรวจสอบถ่วงดุลของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 3.ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ 4.ล้มล้างผลพวงรัฐประหาร

Advertisement

โดยเนื้อหาสาระตามที่ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอต่อรัฐสภานั้น ถือว่า มีความก้าวหน้าในหลักการประชาธิปไตย

เนื่องจากรายละเอียดของการแก้ไขทั้ง 4 ประเด็นหลักข้างต้นนั้น จะยึดโยงกับ ส.ส. ซึ่งตัวแทนของประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้ง เข้าไปมีบทบาททำหน้าที่

คณะผู้ตรวจการกองทัพ, คณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ และคณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ แต่ละคณะประกอบด้วย ส.ส.จำนวน 10 คน

Advertisement

เข้าไปตรวจสอบ ถ่วงดุล ในองค์กรต่างๆ ให้มีความยึดโยงกับอำนาจของประชาชน ด้วยการให้มีสัดส่วนของ ส.ส. เข้าไปทำหน้าที่ในคณะผู้ตรวจการชุดต่างๆ

ขณะที่นักการเมืองที่มองการเมืองแบบโลกไม่สวย ฟันธงตรงกันว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มีเนื้อหาแบบเล่นใหญ่ เปิดหน้าตัดอำนาจเผด็จการทั้งระบบ

ไม่น่าจะผ่านความเห็นชอบในวาระแรก จากสมาชิกวุฒิ (ส.ว.) จำนวน 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ตีตกในชั้นรับหลักการ ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (3)

แม้ทางฝ่ายผู้เสนอร่างแก้ไขอย่าง “ไอติม” นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น จะรู้ถึงทิศทางการลงมติชี้ขาดร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ว.เป็นอย่างดี

โดย “พริษฐ์” ให้เหตุผลไว้อย่างน่าฟังว่า “รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาตั้งแต่ที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ที่กลุ่มเรามองว่าเป็นปัญหาหลัก คือ

ถูกใช้เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับของเรา พยายามตัดกลไกสืบทอดอำนาจเหล่านี้

เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้เปรียบ เพื่อให้มีระบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย มีกติกาแข่งขันอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ถ้า ส.ว.คนใดจะคว่ำร่างนี้ก็ต้องอธิบายว่าเหตุใดถึงไม่อยากให้ มีระบบการปกครองที่มีกติกาเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ขอให้ประชาชนติดตามการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเชิงกฎหมายได้

แต่สมรภูมิหนึ่งของการต่อสู้คือ การต่อสู้เชิงความคิด ผมคิดว่าการใช้สมรภูมิต่อสู้ทางความคิดตรงนี้ มันมีความสำคัญและมีความยั่งยืนไม่น้อยไปกว่าการต่อสู้เชิงกฎหมาย”

แน่นอนแม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หลายฝ่ายจะฟันธงกันว่าจะถูก “ล้ม” ในชั้นวาระแรก แต่เป็นการ “ล้ม” เพื่อเดินหน้าต่อในทางความคิด ตามเป้าหมายที่วางไว้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image