สถานการณ์หมู : คนเลี้ยงหมูยังทุกข์ ต้องขายหมูขาดทุน รักษาอาชีพ

คนเลี้ยงหมูต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนสะสมมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จากการยกระดับมาตรการการป้องกันโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) และโรคเพิร์ส (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome : PRRS) ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตหมูมากถึง 30% ของอุตสาหกรรม ส่งผลให้แม่พันธุ์เสียหายกว่า 300,000 ตัว จากเดิมไทยมีแม่หมู 1.1 ล้านตัว คาดว่าปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 8 แสนตัว และการผลิตหมูขุน ลดเหลือ 15 ล้านตัวต่อปี จากเดิมที่มีอยู่ราว 19-20 ล้านตัวต่อปี เท่ากับสูญเสียหมูขุนไปมากถึง 20-25%

ขณะเดียวกัน เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องดำเนินมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้กระทบการเลี้ยงหมูจากการที่คนงานภายในฟาร์มต้องติดโรค ต้นทุนด้านค่าบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคระบาดทั้งในคนและในหมูจึงสูงมาก โดยเฉพาะการทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ที่สร้างต้นทุนแฝงเพิ่มขึ้นในหมูขุนอีก 300-500 บาทต่อตัว นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงยังต้องใช้เงินทุนอีกมากกับการเดินหน้าเข้าสู่ระบบฟาร์มมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ เพื่อให้ผู้บริโภคมีหมูคุณภาพดี ปลอดภัยต่อการบริโภค

เมื่อผนวกกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการเลี้ยงหมู ทำให้คณะอนุกรรมการต้นทุนของ Pig Board ประเมินว่าเกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงหมูสูงถึง 78-80 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน

ในด้านการบริโภค สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงแล้ว ยังทำให้รูปแบบการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนแปลง โดยลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กำลังซื้อของประชาชนถดถอย ตลอดจนนักเรียนทั่วประเทศต้องเรียนผ่านออนไลน์ ส่งผลโดยตรงต่ออัตราการบริโภคเนื้อหมูในประเทศจากเดิมมีการบริโภคอยู่ที่ 22 กก./คน/ปี ลดลงเหลือเพียง 16 กก./คน/ปี เท่านั้น

Advertisement

ปริมาณการผลิตหมูกำลังลดลงจากความวิตกของผู้เลี้ยงที่มีต่อปัจจัยลบที่เกิดขึ้น ทั้งจากสถานการณ์โรคในหมู และโรคโควิด-19 ปัญหาน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายแก่ฟาร์มเลี้ยงหมูในหลายพื้นที่ ซึ่งกว่าจะพลิกฟื้นฟาร์มให้กลับมาเลี้ยงหมูได้ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ทั้งการซ่อมแซม ทำความสะอาด และพักโรงเรือนตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ เพื่อป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจมากับน้ำ รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ประกอบกับภาวะขาดทุนสะสมที่ผู้เลี้ยงต้องแบกรับมานานกว่า 3 ปี และยิ่งต้องขาดทุนอย่างหนักในช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา กลายเป็นความกดดันที่มีต่อผู้เลี้ยง และมีผลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจลงหมูเข้าเลี้ยง

ปัจจุบัน ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยต่างลดความเสี่ยงด้วยการหยุดเลี้ยงหมูเพื่อรอดูสถานการณ์ ขณะที่รายกลางและรายใหญ่ตัดสินใจพักโรงเรือน ชะลอการเข้าเลี้ยงหมู หรือเข้าเลี้ยงหมูน้อยลง ทำให้ปริมาณหมูในประเทศปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับความต้องการบริโภคที่กลับมาฟื้นตัวจากปัจจัยบวกทั้งการคลายล็อกมาตรการของภาครัฐ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และการเรียนการสอนที่เริ่มกลับมาดำเนินการได้แล้ว

เมื่อปริมาณผลผลิตไม่สอดคล้องกับการบริโภค ส่งผลให้ราคาหมูขยับขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถก้าวข้ามต้นทุนการผลิตได้ แม้ว่าราคาสุกรหน้าฟาร์มตามประกาศแนะนำของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจะอยู่ที่ 82-84 บาท/กก. แต่ราคานี้เป็นเพียงการประกาศราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ส่วนราคาขายจริงในพื้นที่ต่างๆ กลับขายได้เพียง 75-80 บาท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การตลาดในแต่ละพื้นที่ ขณะที่ต้นทุนหมูขุนเฉลี่ยไตรมาส 3/2564 จากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กลับสูงถึง 80.03 บาท/กก.แล้ว หมายความว่า เกษตรกรต้องขายหมูในราคาขาดทุน ภาวะต้นทุนสูงแต่ขายได้ราคาถูกเช่นนี้ ตอกย้ำความทุกข์ระทมในอาชีพนี้ได้ชัดเจน

Advertisement

หมูเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ที่มีปริมาณผลผลิตและความต้องการบริโภค เป็นปัจจัยกำหนดทิศทางราคา โดยปกติการลดลงของปริมาณผลผลิตที่ 5% จะกระทบให้ราคาเพิ่มขึ้นราว 20% ขณะนี้ความเสียหายของหมูทั้งประเทศอยู่ที่ราว 30% แต่การบริโภคกลับอยู่ในช่วงขาขึ้น ย่อมส่งผลต่อภาวะราคาหมูอย่างแน่นอน ผู้บริโภคหลายคนอาจรู้สึกได้ว่าหมูมีราคาสูง แต่รู้หรือไม่หมูไทยยังมีราคาต่ำกว่าหมูในหลายประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มสูงถึง 124.40-130.94 บาท/กก. ส่วนกัมพูชา ราคา 84.60 บาท/กก. ขณะที่ประเทศจีน ราคาหมูเป็นในปัจจุบันอยู่ที่ 85.37-94.32 บาท/กก.

แหล่งข้อมูล : Vet Products Group / Pork Product Price / Wensi / Pig_View China / สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

จากปัจจัยทั้งหมดที่ปรากฏ เกษตรกรคนเลี้ยงหมูต้องฝ่าด่านความทุกข์ด้วยการช่วยเหลือตนเองมาตลอด การขายสินค้าที่คุ้มทุนและมีกำไรบ้างเท่านั้น จึงจะช่วยให้อาชีพคนเลี้ยงหมูดำเนินต่อไปได้ หากทุกฝ่ายเข้าใจและเห็นใจเกษตรกร ปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงานอย่างเสรี ก็จะทำให้สถานการณ์ราคาหมูเข้าสู่สมดุลได้เอง อย่าลืมว่าเกษตรกรไม่ได้มีทางเลือกด้านอาชีพมากนัก หากต้องเลิกการเลี้ยงหมูและเริ่มนับหนึ่งใหม่กับอาชีพอื่น คงไม่ง่ายที่จะประสบความสำเร็จ แต่ในฐานะผู้บริโภคที่เปลี่ยนเมนูอาหารในแต่ละมื้อได้ง่ายๆ สามารถเลือกบริโภคโปรตีนชนิดอื่นทดแทนได้ไม่ยาก ทั้งเนื้อไก่ ไข่ไก่ หรือปลา ก็น่าจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรคนเลี้ยงหมูกู้วิกฤตอาชีพในสถานการณ์เช่นนี้ได้อีกทาง

อุษณีย์ รักษ์กสิกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image