การสั่งฟ้องและการสั่งไม่ฟ้อง ตามหลักนิติธรรมของอัยการ (ตอนที่ 1)

การสั่งฟ้องและการสั่งไม่ฟ้อง ตามหลักนิติธรรมของอัยการ (ตอนที่ 1)

ตามที่มีข่าวการสั่งคดีของอัยการคดีหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง และมีคำถามติดตามมาถึงหลักการสั่งฟ้อง-สั่งไม่ฟ้องของอัยการในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลในทางกฎหมายที่ใช้ในการออกคำสั่งว่าการสั่งฟ้องใช้หลักอะไร การสั่งไม่ฟ้องใช้หลักอะไร เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องแล้วเหตุใดต่อมากลับมาสั่งฟ้องผู้ต้องหาในเรื่องนั้นได้อีก บางคดีสั่งฟ้องไว้แล้วเหตุใดต่อมากลับมีการสั่งไม่ฟ้องได้อีก ที่ทางอัยการมักใช้คำกล่าวว่า “ได้สั่งสอบสวนจนสิ้นกระแสความแล้ว” หรือคำว่า “พยานหลักฐานอ่อนไม่พอฟ้อง” มีความหมายในทางกฎหมายอย่างไร เมื่อใดประเทศไทยจะใช้การดำเนินคดีในระบบไต่สวนแทนระบบกล่าวหาซึ่งใช้อยู่ในชั้นการดำเนินคดีของตำรวจและอัยการ อัยการจะสั่งไม่ฟ้องโดยใช้หลักการยกประโยชน์แห่งข้อสงสัยให้แก่ผู้ต้องหาเหมือนการวินิจฉัยคดีของศาลได้หรือไม่คำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องของอัยการแตกต่างกับคำพิพากษาของศาลอย่างไร เป็นต้น ฯลฯ

เราคงต้องยอมรับความจริงว่าศาสตร์หรือวิทยาการด้านอัยการของประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันน้อยมาก หนังสือหรือตำราบรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเกือบไม่มีการเขียนถึงทฤษฎีหรือหลักปรัชญาเกี่ยวกับการสั่งคดีของอัยการเลยสำหรับแนวคำพิพากษาฎีกาที่กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของอัยการในคดีอาญาก็มีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการสอบสวนของพนักงานสอบสวนที่ไม่ชอบอันมีผลทำให้การฟ้องคดีของอัยการไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยเท่านั้น ทำให้ผู้ศึกษาวิชานิติศาสตร์และประชาชนทั่วไปจึงไม่ทราบถึงศาสตร์หรือวิทยาการด้านอัยการเท่าที่ควร เพราะยากแก่การทำความเข้าใจ

ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าโดยที่การดำเนินคดีอาญาของอัยการเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพและการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างสำคัญ การให้ประชาชนได้รับทราบหลักการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการน่าจะเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมซึ่งจะมีผลต่อการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนกับองค์กรอัยการมากยิ่งขึ้น

กฎหมายสำคัญที่บัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาในประเทศไทยคือ “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ.2478” ร่างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ติดต่อมาจนรัชสมัยรัชกาลที่ 7 ตามข้อเรียกร้องของหลายประเทศที่มีสิทธิเสรีภาพนอกอาณาเขตเหนือประเทศไทย นั่นคือคนต่างชาติที่มีสนธิสัญญาที่กระทำผิดไม่ต้องถูกพิจารณาคดีในศาลไทย โดยไทยได้จ้างนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงจากหลายประเทศมาเป็นกรรมการยกร่างให้ เพื่อให้ต่างชาติเชื่อถือในมาตรฐานของประมวลกฎหมายฉบับนี้ ในจำนวนนี้มีนักกฎหมายจากอังกฤษและฝรั่งเศสด้วย ทั้งสองประเทศซึ่งเป็นมหาอำนาจล่าอาณานิคมต่างใช้อิทธิพลบีบบังคับให้ประเทศไทยนำระบบการพิจารณาของประเทศของตนมาบัญญัติไว้ในร่างประมวลกฎหมายฉบับนี้ โดยอังกฤษเป็นประเทศใช้ ระบบกล่าวหา ส่วนฝรั่งเศสเป็นประเทศใช้ ระบบไต่สวน ประเทศไทยจึงหาทางประนีประนอมโดยขอนำตัวอย่างกฎหมายของประเทศที่มีสองระบบอยู่ในฉบับเดียวกัน ประเทศไทยจึงได้นำตัวอย่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศแอฟริกาใต้ ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสยินยอม แต่ขณะนั้นแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่ปกครองโดยคนผิวขาว ซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยและใช้นโยบายแบ่งแยกระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำ โดยจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างรุนแรงต่อคนพื้นเมืองผิวดำซึ่งเป็นชนพื้นเมืองและเป็นคนกลุ่มใหญ่ตามนโยบายที่เรียกเป็นภาษาพื้นเมืองว่า “Apartheid” ทำให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของแอฟริกาใต้ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวาง จึงทำให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยมีปัญหาทางด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนติดตามมาหลายประการจนกระทั่งปัจจุบัน ปัจจุบันแอฟริกาใต้มิได้ปกครองโดยคนผิวขาวอีกต่อไป และยกเลิกนโยบายแบ่งแยกผิวแล้ว โดย ค.ศ.1994 แอฟริกาใต้มีประธานาธิบดีผิวดำเป็นคนแรกคือ นายเนลสัน แมนเดลา

Advertisement

การกล่าวถึงหลักการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการ จำต้องกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจการดำเนินคดีอาญาของตำรวจกับอำนาจการดำเนินคดีอาญาของอัยการ เพราะทั้งสองอำนาจนี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันโดยไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ดังได้กล่าวข้างต้นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยปรับปรุงมาจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งมีทั้งการดำเนินคดีอาญาในระบบไต่สวนและระบบกล่าวหา รวมอยู่ด้วยกัน เพื่อให้ประเทศมหาอำนาจล่าอาณานิคมทั้งฝรั่งเศส (ระบบไต่สวน) และอังกฤษ (ระบบกล่าวหา) ยอมรับ ดังนั้น การดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยทั้งในชั้นตำรวจและชั้นอัยการ ซึ่งเป็นขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานชั้นก่อนฟ้องคดีจึงใช้ระบบไต่สวน ส่วนการพิจารณาคดีในชั้นศาลใช้ระบบกล่าวหา นอกจากนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติให้อำนาจของพนักงานสอบสวนและอัยการรวมอยู่ด้วยกันในภาคสอง (สอบสวน) มิได้แยกเป็นภาคพนักงานสอบสวนและภาคอัยการ เพราะในทางทฤษฎีไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะมาตรา 120 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน”

ดังนั้น อัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีโดยไม่มีการสอบสวนคดีโดยตำรวจเสียก่อน หรือมีการสอบสวนแต่เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะมีผลทำให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดีนั้นๆ ด้วยเช่นกัน

ความสัมพันธ์ที่ไม่อาจแบ่งแยกระหว่างอาจสอบสวนกับอำนาจสั่งคดีของอัยการนั้น ก็โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติให้ทั้งตำรวจและอัยการมีอำนาจสอบสวนทั้งสองฝ่าย เพียงแต่แบ่งแยกหน้าที่กันทำ กล่าวคือตำรวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนจะมีอำนาจและหน้าที่เริ่มต้นสอบสวนคดีจนเห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้วโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบจากฝ่ายใด จากนั้นจึงจะเสนอความเห็นและส่งสำนวนไปยังอัยการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนอัยการมีอำนาจสอบสวนจำกัดเพราะมิใช่พนักงานสอบสวน โดยอัยการจะทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองพยานหลักฐานจากการสอบสวนในสำนวนการสอบสวนที่พนักงานสอบสวนเป็นผู้รวบรวมเสนอมาให้พิจารณา และมีอำนาจสอบสวนเฉพาะการสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมหรืออัยการมีอำนาจสอบปากคำพยานบางคนด้วยตนเองเท่านั้น

Advertisement

เมื่อพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการแล้ว พนักงานสอบสวนก็หมดอำนาจสอบสวนคดีนั้น การจะมีการสอบสวนอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปอยู่ในอำนาจของอัยการที่จะสั่งการตามที่เห็นสมควร หากพนักงานสอบสวนเรียกบุคคลใดมาสอบปากคำเป็นพยานเพิ่มเติมโดยไม่มีคำสั่งจากอัยการ ย่อมเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ ดังนั้น หากพยานไม่มาพบตามที่พนักงานสอบสวนสั่งให้มาย่อมไม่มีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน หากอัยการเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่ชัดเจนสมบูรณ์เพียงพอ ก็มีการสอบสวนในชั้นอัยการแต่เป็นการสอบสวนที่จำกัดอย่างยิ่ง โดยเป็นการออกคำสั่งให้มีพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามประเด็นที่กำหนดให้หรือสั่งให้พนักงานสอบสวนนำพยานมาให้อัยการทำการสอบปากคำด้วยตนเอง ตามมาตรา 143 (ก) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ได้ แต่อัยการใช้วิธีการสอบสวนพยานด้วยตัวเองน้อยมาก

เหตุผลที่พนักงานสอบสวนต้องเสนอสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการเมื่อเห็นว่า การสอบสวนเสร็จแล้ว ก็เพราะในทางหลักกฎหมายตำรวจมีอำนาจดำเนินคดีอาญาได้ทันทีเมื่อมีเหตุอันควรสงสัย (reasonable suspicion) โดยไม่จำต้องมีพยานหลักฐานชัดแจ้งทุกกรณีเพราะการสอบสวนหลายครั้งเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมได้ทันท่วงทีเกิดขึ้น เช่นตำรวจสามารถตรวจค้นบุคคลทันทีในที่สาธารณะได้ทันทีโดยไม่ต้องมีหมายค้นตามมาตรา 93 หากมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง หรือสามารถจับกุมบุคคลที่ต้องสงสัยซึ่งวิ่งมาโดยมีเสียงเอะอะติดตามมาซึ่งน่าสงสัยว่าจะกระทำผิดมาแล้วว่าหลบหนี โดยบุคคลต้องสงสัยต้องยอมให้ตรวจค้นหรือยอมให้จับกุมแต่โดยดีหากต่อสู้ขัดขวางอาจมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน หากการต่อสู้ขัดขวางใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ เจ้าพนักงานก็มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนตอบโต้เพื่อป้องกันตัวจนถูกผู้ต้องสงสัยถึงแก่ความตายได้และอาจกลายเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมในที่สุด ทั้งนี้ เกิดจากการตรวจค้นและจับกุมโดยเหตุอันควรสงสัยนี้เอง

ดังนั้น จึงต้องถือว่าการดำเนินคดีอาญาของตำรวจเป็นข้อมูลหรือพยานหลักฐานดิบ โดยยังมิได้มีการกลั่นกรองทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอีกชั้นหนึ่ง องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบกลั่นกรองก็คือองค์กรอัยการ ผลในทางกฎหมายติดตามมาก็คือ กฎหมายมิได้ให้ตำรวจมีอำนาจออกคำสั่งที่มีผลในทางกฎหมายได้ด้วยตนเอง ตำรวจมีอำนาจเพียงเสนอความเห็นต่อองค์กรอัยการเท่านั้น เช่น ความเห็นควรงดการสอบสวนในกรณีที่ผลการสอบสวนไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิดตามมาตรา 140 หรือควรสั่งฟ้องหรือควรสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 141-142 แม้การเปรียบเทียบ (ปรับ) ในคดีลหุโทษ เช่น ความผิดตามกฎหมายจราจร ฯลฯ ก็ต้องส่งบันทึกการเปรียบเทียบปรับไปยังอัยการเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการเปรียบเทียบทุกคดีว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ตามมาตรา 142 วรรคท้ายอีกครั้งหนึ่งการเปรียบเทียบปรับนั้นๆ ถึงจะมีผลในทางกฎหมาย

อนึ่ง โดยที่ประเทศไทยปัจจุบันเมื่อเกิดคดีสำคัญๆ ก็มักเรียกร้องให้การสอบสวนของตำรวจใช้ระบบไต่สวนแทนที่จะเป็นไปตามระบบกล่าวหา ดังนั้น จึงขอสรุปให้ทราบว่าระบบการดำเนินคดีอาญาทั้ง 2 ระบบมีสาระสำคัญอย่างใด

ระบบกล่าวหา มีที่มาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งแต่เดิมไม่มีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนรัฐ จึงใช้วิธีให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิฟ้องคดีอาญาได้อย่างกว้างขวาง เพราะถือว่าประชาชนทุกคนมีหน้าที่ช่วยเหลือรัฐในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดตามหลักที่ว่า “ใครๆ ก็ฟ้องคดีได้” (anyone may prosecute) เป็นการฟ้องคดี-ต่อสู้คดีระหว่างประชาชน โจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานพิสูจน์ความผิดของจำเลย ส่วนจำเลยมีสิทธินำสืบพยานหักล้างพยานโจทก์ โดยศาลจะวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดรับฟังพยานทั้งสองฝ่ายแล้ววินิจฉัยคดีไปตามพยานหลักฐานที่ได้มาจากการสืบพยานดังกล่าว ทางวิชาการจึงเรียกว่าระบบความแบบคู่ความ (Adversary system)

เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วเห็นได้ว่า การสอบสวนของตำรวจนั้นเป็นไปตามระบบไต่สวนอยู่แล้ว กล่าวคือ พนักงานสอบสวนจะต้องทำการค้นหาความจริงทุกชนิดเท่าที่จะสามารถทำได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 131 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งบัญญัติว่า “ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา”

อย่างไรก็ดี บทบัญญัติของมาตรา 131 ของเดิมก่อนการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2547 ทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้เพราะกฎหมายบัญญัติเพียงว่าเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดเท่านั้น ทำให้ระเบียบข้อบังคับขององค์กรตำรวจแต่เดิมจึงกำหนดแนวทางการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานมุ่งเน้นไปในทาง “ค้นหาความผิด” แทนที่จะ “ค้นหาความจริง” ทั้งที่ตามเจตนารมณ์ของการสอบสวนประสงค์ให้ทำการค้นหาข้อเท็จจริงของคดีทุกชนิดอย่างเป็นกลาง ส่วนพยานหลักฐานที่ได้มาจะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้ต้องหาก็ต้องเป็นไปตามนั้น ดังนั้น ระเบียบหรือข้อบังคับของตำรวจในอดีตที่ทำให้เกิดปัญหาก็เช่นข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยที่ 1/2498 ว่าด้วยระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี เล่มที่ 1 ลักษณะที่ 8 ข้อ 254 ซึ่งกำหนดไว้ว่า “ตามปกติผู้สอบสวนไม่จำเป็นต้องสอบสวนพยานของผู้ต้องหา เพราะตามธรรมดาพนักงานสอบสวนมีหน้าที่พิจารณาคดีว่าพอมีมูลเป็นหลัก ฯลฯ” ระเบียบดังกล่าวจึงทำให้ขัดกับมาตรา 131 ซึ่งบัญญัติให้สอบสวนพยานหลักฐานในทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นพยานหลักฐานนั้นจะมาจากที่ใด เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในคดีมากที่สุด

ในระบบกล่าวหานี้ โจทก์-จำเลยมีฐานะเท่าเทียมกัน แม้โจทก์จะเป็นพนักงานอัยการซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐ การพิจารณาสืบพยานในศาลจะกระทำโดยเปิดเผยและต่อหน้าจำเลยเสมอ ยกเว้นกฎหมายจะบัญญัติเป็นอย่างอื่น ตามที่บัญญัติในมาตรา 171 ว่า “การพิจารณาและสืบพยานในศาลให้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” ศาลจะวางตัวเป็นกลางและควบคุมการดำเนินคดีให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติโดยเคร่งครัด มีการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยอย่างเข้มงวด การดำเนินคดีของโจทก์หากผิดพลาดในประเด็นสำคัญอาจทำให้ศาลพิพากษายกฟ้องได้เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 228/2511 ซึ่งพิพากษาว่า “ฟ้องซึ่งโจทก์มิได้ลงชื่อนั้นเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกฟ้อง” หากโจทก์สืบพยานพิสูจน์ความผิดจำเลยได้ไม่ชัดแจ้ง ศาลอาจยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยโดยพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยมาตรา 227 วรรคสองบัญญัติว่า “เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ให้ยกประโยชน์แห่งข้อสงสัยนั้นให้จำเลย”

ระบบกล่าวหานี้จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการวางตัวเป็นกลางของศาล แต่มีจุดอ่อนคือ อาจทำให้การสืบพยานในศาลเกิดความล่าช้า เพราะทั้งโจทก์-จำเลยมีสิทธินำสืบพยานฝ่ายตนได้อย่างกว้างขวาง บางคดีอาจใช้เวลาเฉพาะในศาลชั้นต้นนับสิบปี

ระบบไต่สวน มีความแตกต่างกับระบบกล่าวหาคือ ผู้พิพากษาจะทำหน้าที่ค้นหาความจริงในคดีด้วยตนเอง (Judicial Investigation) โจทก์-จำเลยมีบทบาทในคดีน้อยกว่าระบบกล่าวหา และในการดำเนินคดีในศาลจะมีความยืดหยุ่นกว่าในศาลระบบกล่าวหา เช่น พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 (ซึ่งใช้ระบบไต่สวน) มาตรา 8 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลมีคำสั่งให้คู่ความที่ดำเนินกระบวนการพิจารณาไม่ถูกต้องดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องได้ ฯลฯ” ศาลระบบไต่สวนให้ความสำคัญในพยานหลักฐานที่เป็นเอกสาร เช่น พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 22 บัญญัติว่า “ในคดีที่อัยการสูงสุด พนักงานอัยการ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฯลฯ เป็นโจทก์ให้ศาลนำรายงานและสำเนาการสอบสวนหรือสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของโจทก์มาเป็นหลักในการแสวงหาความจริง ฯลฯ” ในระบบไต่สวนมีความยืนหยุ่นกว่าระบบกล่าวหา เพราะผู้พิพากษาดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีด้วยตนเองในระบบไต่สวน ศาลสามารถพิจารณาคดีลับหลังจำเลย เพราะถือว่าผู้พิพากษาให้ความยุติธรรมแก่จำเลยด้วยตนเองอยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.ฯ 2559 มาตรา 28 วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควรเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยไม่ชักช้า ศาลมีอำนาจและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ ฯลฯ (3) จำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้ว แต่ได้หลบหนีไปและศาลได้ออกหมายจับแล้วแต่ยังจับตัวมาไม่ได้ ฯลฯ” ระบบไต่สวนมีผลดีในการทำให้การพิจารณาคดีมีความรวดเร็วกว่าระบบกล่าวหา เช่น พระราชบัญญัติฯ 2559 มาตรา 6 บัญญัติว่า “วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้ใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็ว ฯลฯ” และสามารถค้นหาความจริงในคดีได้ดีกว่าระบบกล่าวหา แต่อาจมีผลเสียที่ว่าประชาชนและคู่ความอาจให้ความมั่นใจในความเป็นกลางของผู้พิพากษาน้อยกว่าผู้พิพากษาในระบบกล่าวหา

สำหรับปัญหาข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยที่ 1/2498 ข้อ 254 ที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานผู้ต้องหาที่ขัดต่อระบบไต่สวนตามมาตรา 131 นั้น แต่ปัจจุบันปัญหาเรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นอีกแล้วเพราะเมื่อ พ.ศ.2547 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนต้องรายงานพยานหลักฐานทุกชนิดรวมทั้งพยานหลักฐานของฝ่ายผู้ต้องหาโดยแก้ไขเพิ่มเติมข้อความที่ว่า “ฯลฯ เพื่อที่จะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิด” เป็นข้อความว่า “ฯลฯ เพื่อที่จะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา” นอกจากนี้ยังได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 134 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับการสอบปากคำผู้ต้องหาโดยเพิ่มเติมข้อความในวรรคสี่ว่า “พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อกล่าวหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้”

การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 131, 134 แสดงให้เห็นชัดแจ้งยิ่งขึ้นว่า ในการสอบสวนนั้นได้ใช้ระบบไต่สวนคือ ค้นหาความจริงทุกชนิดของคดีเพื่อค้นหาความจริงยิ่งกว่าการค้นหาความผิด และหากพนักงานสอบสวนปฏิเสธไม่ยอมรับพยานหลักฐานของฝ่ายผู้ต้องหา ก็อาจมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image