เงิน-งาน

งานบุญกฐินได้หมดเทศกาล “ทอดกฐิน” วันสุดท้ายตรงกับวันลอยกระทง 19 พฤศจิกายน 2564

ผู้เขียนได้อ่านสารบุญกฐิน ปี 2561 ของ “ท่านพระปัญญานันทมุนี” เจ้าอาวาสวัดชลประทาน รังสฤษดิ์ พระอารามหลวง ระบุว่า

คณะสงฆ์วัดชลประทานรังสฤษดิ์ได้ร่วมใจปฏิบัติศาสนกิจ พร้อมรับผ้าพระกฐินพระราชทานตามพระบรมพุทธานุญาต ที่มีแก่พระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย ที่จะมอบให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ส่วนผ้ากฐินคณะศรัทธาร่วมใจด้วยสามัคคีธรรมเพื่อสมทบทุนปรับปรุงอาคารศูนย์การเรียนรู้ ปัญญานันทานุสรณ์ พัฒนาศาสนสถานและศาสนธรรมยังผลให้เกิดแก่พุทธบริษัทสืบไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.จัดวัดชลประทานรังสฤษดิ์ให้เป็นวัดเมืองที่มีพุทธวิถีร่วมสมัยท่ามกลางธรรมชาติ ร่มเย็นสมกับเป็นอาราม

Advertisement

2.เป็นสถานที่รวบรวมพระธรรมแห่งปัญญาของพระบรมครู รวมถึงวิถีชีวิตและงานของ “หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ”

3.เป็นสถานที่ศึกษา ปฏิบัติ เผยแพร่ธรรม ประกาศธรรมทางพุทธศาสนาตามแนวทางของ “หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ”

อาคาร “ปัญญานันทานุสรณ์” ถือว่าเป็นสถานที่แทนชีวิตทางกายภาพ และทางจิตวิญญาณของหลวงพ่อปัญญาฯ เพื่อประโยชน์แห่งความสุขของเพื่อนมนุษย์ หรือผู้มีส่วนแห่งบุญอุปถัมภ์ครั้งนี้ เท่ากับสืบอายุพระพุทธศาสนาผ่านแนวคิด แนวทาง และแนวนำของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ สาระสำคัญมี “บันทึกข้อคิดการทำงานของศรีพระศาสนา” ปัญญานันทภิกขุ และพุทธทาสภิกขุ ความว่า…

Advertisement

⦁ “ชาติใดมีคนขยันขันแข็ง ชาตินั้นจะก้าวหน้า” เราเป็นหน่อหนึ่งของชาติ อย่าให้อยู่อย่างถ่วงความเจริญของชาติเป็นอันขาด “จงเพาะนิสัยการตื่นเช้า ก้าวไปข้างหน้า ทำงานกับเวลา เพื่อพัฒนาตนเอง ให้เจริญไว้เสมอเถิด”

⦁ “เราทำงานร่วมกัน แม้จะอยู่ไกลกันก็เหมือนกับอยู่ใกล้ ใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ ใจที่มอบถวายพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีความมุ่งมั่น
อย่างหนักแน่นในการที่จะทำงานเพื่อพระศาสนา เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชน”

⦁ “การทำงานตามหน้าที่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิต เพราะงานคือชีวิต ชีวิตคืองาน งานทำคนให้เป็นคนอย่างแท้จริง คนจักมีค่ามีราคาก็เพราะการทำงาน”

⦁ “คนไม่ทำงาน หรือคนรกแผ่นดิน ประเทศไทยต้องการคนประเภทรักงาน สร้างงาน ทำงานให้ก้าวหน้า” การฝึกไปตั้งแต่เยาว์วัยจะได้ทำใจให้เคยชินกับงานนั้นๆ ถ้าไม่ฝึกฝนทำงานก็จะกลายเป็นคนเกียจคร้านไป คนขี้เกียจเป็นคนหนักแผ่นดิน รกโลกเปล่าๆ

⦁ พระพุทธองค์ตรัสเตือนไว้ว่า “ใคร่ครวญก่อนจึงทำดีกว่า เพราะสิ่งที่ทำลงไปแล้ว จักทำคืนอีกไม่ได้ การกระทำที่นำความร้อนใจมาให้ เป็นการกระทำที่ไม่ดี” พระโอวาทนี้ ผู้ที่รักคนควรปฏิบัติโดยแท้

⦁ งานสุจริตทุกอย่างเป็นงานมีเกียรติทั้งนั้น งานทุจริตเป็นงานไร้เกียรติ ไม่พึงยอมตนให้ตกต่ำด้วยการทำงานทุจริตเป็นอันขาด จงประพฤติธรรม คือ ทำหน้าที่ให้สุจริต เพราะงานที่สุจริตย่อมผลิตผลอันดีงามแก่ตนเสมอ ส่วนผู้ที่ทำงานไม่สุจริต ย่อมพบความเดือดร้อน ทั้งก่อนทำ-ทำอยู่-ทำแล้ว

⦁ ความสุขอยู่ที่ความพอดี ถ้าเกินมันก็เป็นทุกข์ ขาดไปก็เป็นทุกข์ ดังนั้น จะทำอะไรก็ “พอดีพองาม”

⦁ “อย่าทำอะไรตามใจกิเลส เพราะกิเลสไม่เคยปรานีใคร ไม่เคยทำอะไรให้ดีขึ้น นอกจากทำลาย”

⦁ “คนบางคนมักปล่อยตนให้ตกอยู่ในอำนาจของความเกียจคร้าน ชอบหาความสบายด้วยการนอน กินข้าวอิ่มแล้วนอนเหมือนหมูในเล้า คนแบบนี้มีเนื้อหนังเจริญแต่ปัญญาและทรัพย์ไม่เจริญ”

⦁ คนเราเกิดมาย่อมมีความตายเป็นธรรมดา เวลาเกิดมา เรามิได้มีอะไรมา เวลาตาย เรามิได้เอาอะไรไป บุญกับบาปเท่านั้นเป็นสมบัติประจำชีพ

⦁ บุญนำไปสู่สุคติ บาปนำไปสู่ทุคติ คนผู้รักตนจึงพยายามทำความดี อันจักเป็นที่พึ่งของตน ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

⦁ คิดดูให้ดี คิดดูให้ดี ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับอยู่ทุกเวลานาที ถ้าไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์แล้วจะมีค่ามีราคาที่ตรงไหน

⦁ พระพุทธเจ้าท่านติไว้ว่า “อตฺตตฺถปญฺญา อสุจี มนุสฺสา” “บุคคลผู้ใช้สติปัญญาความสามารถ เพื่อประโยชน์ตนถ่ายเดียวเป็นคนสกปรก เป็นคนใช้ไม่ได้ อย่าอยู่อย่างคนสกปรก ให้อยู่อย่างคนสะอาดปราศจากสิ่งชั่วร้าย จึงจะเป็นการถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ทางพระพุทธศาสนา”
ขอให้มีหลักประจำใจว่า คนเราเกิดมามือเปล่า ตัวเปล่า ตายไปก็มือเปล่า ไม่ได้เอาอะไรไป เราจะโลภโมโทสันอะไรกันหนักหนา
เราควรเกิดมาเพื่อเสริม เพื่อเติม เพื่อแต่งให้ชาติเจริญก้าวหน้า ดีกว่าที่จะอยู่ด้วยความมักมากอยากได้ จะเป็นประวัติศาสตร์ในทางร้ายไว้ในบ้านเมืองต่อไป

⦁ พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านสอนให้เราพิจารณาตัวเอง ตักเตือนตัวเอง แก้ไขตัวเอง

⦁ ในเวลาสิ้นวันหนึ่ง ต้องมองดูตัวเอง สิ้นสัปดาห์หนึ่ง เดือนหนึ่ง ก็ต้องมองดูตัวเอง สิ้นปีก็ต้องมองกันเป็นการใหญ่ เพื่อสำรวจผลงานการประพฤติปฏิบัติ กำไรของชีวิต ทั้งที่เป็นวัตถุ ทั้งที่เป็นจิตใจ เพื่อให้รู้ว่าได้กำไร หรือขาดทุนป่นปี้

⦁ ชีวิตใดเป็นชีวิตที่มีกำไร ก็ควรชื่นอกชื่นใจ ชีวิตใดเป็นชีวิตที่ขาดทุน ก็ควรถามตัวเองว่า ฉันเกิดมาทำไม? ฉันมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร? สิ่งที่ดีที่สุดที่ฉันควรจะประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันคืออะไร? ฉันได้กระทำในสิ่งนั้นอย่างสมบูรณ์แล้วหรือไม่?

⦁ การทำกุศลนั้นไม่จำเป็นต้องตีฆ้องร้องป่าว เพราะชาวพุทธมุ่งความบริสุทธิ์ใจเป็นข้อใหญ่ และพุทธศาสนามิใช่คำสอนที่เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ เพื่อความหรูหราฟุ่มเฟือย กุศลที่ควรทำโดยไม่ต้องลงทุนเลย คือการชำระใจของตนให้สะอาด เป็นงานที่ทำโดยไม่ต้องรบกวนใคร เป็นงานที่ได้ผลมาก เป็นงานที่ทำให้อายุพระพุทธศาสนาถาวรสิ้นกาลนาน

“หลวงปู่พุทธทาสภิกขุ” กล่าวว่า

⦁ การงาน คือ การปฏิบัติธรรม
อันการงาน คือคุณค่า ของมนุษย์
ของมีเกียรติ สูงสุด อย่าสงสัย
ถ้าสนุก ด้วยการงาน เบิกบานใจ
ไม่เท่าไร ได้รู้ธรรม ฉ่ำซึ้งจริง
เพราะการงาน เป็นตัวการ ประพฤติธรรม
กุศลกรรม กล้ำปนมา มีค่ายิ่ง
ถ้าจะเปรียบ ก็เปรียบคน ฉลาดยิ่ง
นัดเดียววิ่ง เก็บนก หลายพกมา
คือการงาน นั้นต้องทำ ด้วยสติ
มีสมาธิ ขันติ มีอุตสาห์
มีสัจจะ มีทมะ มีปัญญา
มีศรัทธา และกล้าหาญ รักงานจริง

⦁ ทำงานเพื่องาน ปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม
ทำเพื่อเงิน : ทนทุกข์ไปนาน และเงินมาอยู่บนหัว
ทำเพื่องาน : ได้ทันที และเงินมาอยู่ใช้ฝ่าเท้า
จงทำงานสนุกและเป็นสุขตลอดเวลาที่ทำ
งกเงินเสียงาน แต่งกงานยิ่งได้เงิน ไม่งกอะไร จะเป็นธรรมยิ่งขึ้นแล้วดับทุกข์
ทำงานเพื่องาน เงินไม่ไปไหน ยิ่งมีมาก
ปฏิบัติธรรม เพื่อธรรม นิพพานมาหาเอง
นิพพานนั้น ยิ่งไปหา ยิ่งยากได้ ยิ่งถอยไกล ยิ่งไม่หา ยิ่งไม่อยากได้ก็มาเอง

⦁ ทำทุกวัน-เสร็จทุกวัน

⦁ ทำอะไร ด้วยใจ ไม่หมายมั่น
ว่า “ตัวฉัน-ของฉัน” นั้นคุณหลาย
ใจเย็นชื่น ครื้นเครง เบาสบาย
ทั้งร่างกาย แคล่วคล่อง ว่องไวดี

⦁ ทำไปพลาง เสร็จไปพลาง อย่างนฤมิต
แต่ไม่คิด ว่าของใคร ที่ไหนนี่
ไม่มีตัว ใครทำ ล้ำวิธี
งานก็ดี คนก็สุข ทุกวันเอย

ท้ายสุด หลวงปู่ขอคัดค้านคำกล่าวที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” หลวงปู่ระบุว่า เป็นคำกล่าวที่ไม่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้ทำงานในฐานะเป็นหน้าที่ที่ถูกต้องสำหรับสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด มิใช่ทำเพื่อเงินมาปรนเปรอชีวิตให้หลงระเริงในอบายมุข หรือความเริงรมย์ต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่อง “บ้าวูบเดียว”

สรุป ท้ายเล่ม คือ หลวงปู่พุทธทาสภิกขุบอกว่า งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน บันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน ไงเล่าครับ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image