สัญญาปางหลวง

สัญญาปางหลวง เป็นสัญญาที่อังกฤษและพม่าทำขึ้น ก่อนที่อังกฤษจะมอบเอกราชให้พม่า มันเกิดขึ้นเพราะอังกฤษยังเป็นห่วงไตใหญ่ และชาติพันธุ์ชายแดน อื่นๆ จึงให้พม่าจัดประชุมขึ้นเพื่อถามความเห็นของรัฐฉานและชาติพันธุ์เหล่านั้น ว่า จะเป็นอิสระหรือ จะไปรวมกับประเทศไทยเฉพาะรัฐฉาน แต่รัฐฉานและชาติพันธุ์ไม่มาร่วมประชุมด้วย เหตุผลเป็นอย่างไร จะขยายตอนหลัง ขณะที่รัฐฉานและประเทศพม่าเหนือตกอยู่ในอำนาจของอังกฤษ เป็นเวลา 62 ปีนั้น ทั้งสองเมืองมีสถานภาพแตกต่างกัน กล่าวคือ รัฐฉานเป็นเมืองในอารักขาของอังกฤษ ขึ้นต่อข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษโดยตรง ส่วนพม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ หรือเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ดังนั้น ความรู้สึกของชาวฉานและพม่า จึงแตกต่างกัน ชาวฉานจะถือตนเสมอพม่า แต่พม่าไม่ถืออย่างนั้น กลับถือว่า ฉานยังต้องเป็นลูกไล่ของพม่าต่อไป เพราะเหตุที่ก่อนที่พม่าจะสิ้นพระมหากษัตริย์ปกครองบ้านเมือง รัฐฉานต้องอยู่ใต้อำนาจของกษัตริย์พม่า มาเป็นร้อยปีแล้ว ต่อเมื่ออังกฤษ ได้พม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ในปี พ.ศ.2428 แล้ว ในปีนั้นเอง ทั่วทั้งรัฐฉานก็ขับไล่ทหารพม่าออกจากรัฐฉานได้หมด จากนั้นรัฐฉานก็ประกาศ ความเป็นเอกราชของตน นั่นคือเป็นต้นเหตุให้รัฐฉานสำนึกในความเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตาม ต่อประเด็นนี้ ไตใหญ่คงคิดถูกแล้ว เพราะถ้าไตใหญ่ไม่ประกาศอิสรภาพให้เป็นทางการ ผลเสียจะเกิดขึ้นเมื่ออังกฤษอ้างว่า ไตใหญ่ยังเป็นเมืองขึ้นของพม่าอยู่ ดังนั้น เมื่อพม่าเป็นของอังกฤษ ไตใหญ่ต้องเป็นของอังกฤษด้วย แต่อังกฤษไม่อ้าง กลับใช้กำลังเข้ายึดรัฐฉานและชาติ พันธุ์ อื่นต่อไป และก็ปกครองรัฐฉานเป็นรัฐในอารักขา เหมือนรัฐเอกราช ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในการปกครองดังกล่าวนั้น ในระบบทหาร ผู้บัญชาการทหารจะมาจากกะเหรี่ยงเท่านั้น ส่วนชาวพม่าจะได้เป็นเพียงรองผู้บัญชาการ ในหน่วยราชการพลเรือน หัวหน้างานแต่ละหน่วย จะเป็นชาวฉาน กะเหรี่ยงและชาติพันธุ์อื่นๆ เท่านั้น นี่คือความแค้นที่พม่าได้รับจากอังกฤษ ดังนั้น เมื่อพม่าได้อิสรภาพแล้ว จึงไม่ยอมร่วมอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ ส่วนในสภาพสังคมประชาชนไตใหญ่ และพม่า ก็เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ตามปัจจัยที่เกิดขึ้นแต่ละสภาพการณ์ขณะนั้น กล่าวคือ เมื่อสมัยที่ไตใหญ่ต้องอยู่ใต้อำนาจของกษัตริย์พม่า ชาวพม่า ก็ถือไตใหญ่เป็นเมืองขึ้นของพม่า ฉานก็จำใจยอมรับ แต่เมื่ออังกฤษปกครองไตใหญ่ เป็นรัฐในอารักขา เพราะมีประมุขเป็นพระราชาคือเจ้า เหมือนอังกฤษ ไตใหญ่จึงมีความรู้สึกฐานะเทียบเท่ากับพม่า ท่าทีดังกล่าวทำให้พม่ามองว่าไตใหญ่ตีเสมอตน และเมื่อญี่ปุ่นยึดฉานและพม่า ชาวฉานกลับเข้าเป็นทหารช่วยอังกฤษ ส่วนพม่าช่วยญี่ปุ่น แล้วนี่เองที่พม่าเริ่มเอาคืนฉานเพื่อแก้เผ็ดที่ฉานบังอาจตีเสมอตน ตอนอยู่กับอังกฤษ ผู้อยากรู้ความจริงว่า เอาคืนอย่างไร ขอให้ไปอ่านหนังสือรัฐฉานของอัคนี มูลเมฆ

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองระเบิดขึ้น ออง ซานพร้อมชาวพม่า 33 คน เข้ามาประเทศไทย พบทูตญี่ปุ่น ขอให้ญี่ปุ่นช่วยฝึกกองกำลังให้พม่า เพื่อขับไล่อังกฤษออกจากพม่า ญี่ปุ่นรีบดำเนินการให้ทันที เพราะญี่ปุ่นกำลังมีแผนชาตินิยม เอเชียเพื่อเอเชียอยู่พอดี พอถึงปี พ.ศ.2484 ญี่ปุ่นบุกเข้าไทยขอผ่านประเทศไทยไปพม่าเพื่อขับไล่อังกฤษออกจากพม่า ตามเจตนาของชาวพม่าโดยมีออง ซาน เป็นหัวหอก พอถึงปี พ.ศ.2485 กองกำลังกู้ชาติของพม่าที่ฝึกอาวุธอยู่ญี่ปุ่น พร้อมกองทัพญี่ปุ่น ก็บุกทะลวงเข้ารัฐฉานภาคเหนือที่เมืองล่าเซี่ยว ส่วนทางใต้ อีกกองทัพหนึ่งก็บุกเข้าไปทางเมืองกาลอ จากปี พ.ศ.2485 จนถึง ปี พ.ศ.2488 สิ้นภาวะสงคราม โดยการยอมแพ้ของญี่ปุ่น ตลอดเวลาเกือบ 4 ปี ที่พม่าอยู่ใต้ปกครองของญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นตั้งรัฐบาลพม่าเป็นหุ่นเชิด และรัฐฉานถูกญี่ปุ่นยึดครอง ขณะเดียวกันญี่ปุ่นบงการให้รัฐบาลหุ่นเชิดพม่าประกาศผนวกรัฐฉานอยู่ในการปกครองของพม่า เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรชนะแล้ว พม่าและรัฐฉานก็กลับมาอยู่ในอำนาจของอังกฤษอีก จากนั้นมาอังกฤษก็ประกาศจะมอบเอกราชให้พม่า แล้วนั่นเองที่อังกฤษให้มีการประชุมเพื่อสิทธิของชาติพันธุ์ชาวเขา ซึ่งมีชาวไตใหญ่เป็นต้น เพื่อให้ เขาได้ตัดสินใจ ชะตากรรมของตัวเอง การประชุมครั้งแรกจัดขึ้นที่เมืองปางหลวงเขตรัฐฉาน เมื่อวันที่ 20-28 มีนาคม 2489 (1946) ดังนั้น ข้อตกลงนั้นจึงเรียกว่า สัญญาปางหลวง ซึ่งมีมติว่า ให้รัฐฉานและชาติพันธุ์อยู่ร่วมกับพม่าไปสิบปีก่อน แล้วถอนตัวไปเป็นเอกราช

ถามว่า ทำไมรัฐฉานจึงไม่ไปร่วมประชุมเพื่อกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ตอบว่า เพราะขณะนั้นอังกฤษเปลี่ยนรัฐบาลจากพรรคของวินสตันเซอร์ชีล น่าจะเป็นพรรคอนุรักษนิยม เป็นพรรคแรงงาน และพรรคนี้นั่นเองที่มอบเอกราชให้พม่า การที่อังกฤษปกครองรัฐฉานเป็นรัฐในอารักขา น่าจะด้วยความเป็นห่วงระบบการปกครองรูปแบบราชอาณาจักรเหมือนกัน อังกฤษจึงออกปากที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ถึง 2 ครั้ง ว่า ให้รัฐฉานเลือกปกครองตนเอง โดยอยู่ในอารักขาของอังกฤษ หรือให้ไปรวมกับประเทศไทย แต่เจ้าฟ้ายังหวังเอกราชอยู่ จึงไม่สนใจคำแนะนำของอังกฤษเลย การให้ประชุมครั้งแรกที่เมืองปางหลวงนี่คือโอกาสที่ อังกฤษเปิดให้เป็นครั้งแรก แต่รัฐฉานก็ไม่มาร่วมประชุม เพราะกลัวว่าเมื่อพม่าเป็นตัวนำในการขอเอกราช พม่านั่นแหละจะบังคับรัฐฉานและชาติพันธุ์อื่นให้เป็นเมืองขึ้นของตนอีก มิใช่เพียงแค่นั้น บรรดาเจ้าฟ้าทั้งหลาย ยังส่งโทรเลขไปลอนดอน แจ้งให้รัฐบาลอังกฤษทราบว่า พม่าซึ่งมีออง ซานเป็นตัวแทนไปเจรจานี้มิได้เป็นตัวแทนรัฐฉานในการเจรจามอบเอกราชให้รัฐฉาน อังกฤษต้องเชิญตัวแทนชาวฉานเท่านั้น ไปเจรจาเรื่องรัฐฉาน อูนุ ผู้เป็นหัวหน้าพรรคต่อด้านเผด็จการกลัวว่า โทรเลขของที่ประชุมผู้ปกครองรัฐฉาน อังกฤษจะเออออด้วย เขาจึงให้มีการประชุมชาวฉานขึ้นที่สวนสาธารณะเมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน มติที่ประชุมคราวนั้น มีว่า ชาวฉานถือว่า ออง ซานเป็นตัวแทนเจรจาเรื่องเอกราชของรัฐฉานด้วย แล้วก็ส่งโทรเลขไปลอนดอนด้วยข้อความนี้

Advertisement

เรามาวิเคราะห์ท่าที่ของพม่า จากการประชุมที่ปางหลวงครั้งแรก ว่าเขามุ่งอะไร? การประชุมคราวนั้นมีเพียงข่าวที่ออกมาว่า ให้ทุกชาติพันธุ์อยู่ร่วมกับพม่า สิบปีก่อน แล้วจึงถอนตัวไปเป็นเอกราช นี่คือจุดที่มีเจตนาหลอกให้ตายใจ แล้วมาอยู่ร่วมกันสิบปี ในช่วงที่อยู่ร่วมกันนั้นนั่นเอง เป็นช่วงเวลาที่พม่ามุ่งทำลายชาติพันธุ์เหล่านั้น ให้สิ้นสภาพในการที่จะเป็นชาติอีกต่อไป แล้วจะได้เห็นสภาพรัฐฉานที่ถูกทำลายไปแล้ว ซึ่งจะชี้ให้เห็นในบทสรุป หลักฐานที่เป็นพยานในการมีเจตนาหลอกลวงให้ชาติพันธุ์มาอยู่รว่มกันก่อนสิบปี มีดังต่อไปนี้ หนึ่ง หลอกให้ไตใหญ่คือเจ้าฟ้าเมืองยองห้วย เป็นประธานาธิบดีคนแรกของพม่า นี่คือ เหยื่อชิ้นใหญ่ที่พม่าล่อ แล้วไตใหญ่ก็ฮุบทันที สอง ในขณะที่กำลังประจบให้รัฐฉาน อยู่ร่วมกับพม่านั้น อองซานจะพูดกับ
เจ้าฟ้าว่ามหามิตร สาม หลายคนในช่วงที่อองซาน กำลังเป็นหัวหอกวิ่งเต้นขอเอกราชจากอังกฤษนั้น พูดว่าอองซานคนเดียวเท่านั้นที่จริงใจในการจะมอบเอกราชให้รัฐฉาน แต่เผอิญเขาตายไปก่อน เรื่องจึงเป็นแบบนี้ แต่ผู้เขียนมั่นใจว่า แผนนี้อุนุกับอองซานและพม่าคนอื่นๆ ร่วมกันวางไว้แน่ หลักฐานคือ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ในการที่ญี่ปุ่นบุกเข้าพม่านั้น ทัพญี่ปุ่นมาพร้อมกับอองซานผู้ซึ่งไปฝึกอาวุธอยู่ที่ญี่ปุ่น สองปี ทัพหนึ่งบุกเข้าเมืองล่าเซี่ยวรัฐฉาน นั่นคือญี่ปุ่นหวังยึดรัฐฉาน ถามว่า อองซานแนะนำไหม เพราะมาในกองทัพด้วย หรือญี่ปุ่นคิดเอง ยื่งกว่านั้นอีกหลักฐานหนึ่งที่เด่นชัดกว่านั้น ก็คือ เมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดพม่าแล้ว ได้ตั้งรัฐบาลหุ่นเชิด มี ดร.บามอ เป็นนายก โดยมีพลเอกอองซาน (ญี่ปุ่นตั้งให้) เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม จากนั้น รัฐบาลหุ่นเชิดนั้น ก็ประกาศผนวกรัฐฉานเป็นส่วนหนึ่งของพม่า ถามว่า อองซานอยู่ไหนตอนนี้ หรือหลับตาท่องมนต์อยู่ ! นี่แสดงว่าพม่าต้องการเอารัฐฉานเป็นของตนให้ได้ สี่ เมื่อเจ้าฟ้ารัฐฉานส่งโทรเลขไปลอนดอน ปฏิเสธว่า อองซานมิได้เป็นตัวแทนเจรจาเรื่องเอกราชของรัฐฉาน แต่อูนุรีบระดมชาวฉานที่เมืองตองจี ชุมนุมกันแล้วได้มติว่า อองซานเป็นตัวแทนเจรจาเอกราช ของรัฐฉานด้วย ในประเด็นนี้ ผู้เขียนเจาะลึกลงไปพบว่า ในตัวเมืองตองจี ส่วนใหญ่เป็นคนสองสัญชาติ คือฉาน กับปะโอ เมื่อมาชุมนุมกัน มติจึงไม่เข้ากับรัฐฉาน แต่เข้ากับพม่า ตามที่อูนุต้องการ ทุกวันนี้ในเมืองหลวงของรัฐฉาน คือตองจี ประชากรส่วนใหญ่กลับเป็นปะโอมากกว่าชาวฉานเสียอีก นี่ก็คือแผนทำลายให้ฉานหมดสภาพที่จะเป็นเอกราชต่อไปของรัฐฉาน

จึงขอสรุปว่า การที่พม่าให้อยู่ร่วมกัน สิบปีก่อนนั่นคือ เจตนาหลอกทำลายรัฐฉานและชาติพันธุ์อื่นให้สิ้นสภาพเป็นชาติไปก่อน ดังตัวอย่างดังนี้ หนึ่ง พม่าให้จีนเช่าเมืองลาไปปกครอง ทุกวันนี้เมืองลามีแต่คนจีนเป็นคนส่วนใหญ่ คนไตใหญ่และชาติ พันธุ์อื่นๆเป็นคนส่วนน้อย หมดสภาพที่จะไปเป็นของไตใหญ่แล้ว สอง พม่าให้ว้าปกครองรัฐฉานที่ติดกับจีนเป็นเขตปกครองพิเศษมีกองกำลังเข้มแข็ง สาม เมื่อมินอ่องลายยึดอำนาจใหม่ๆ ได้อนุญาตให้ชนชาติว้าย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่ที่จังหวัดท่าขี้เหล็กติดกับแม่สาย ถึง 6 พันคน นี่ก็คือแผนทำลายรัฐฉานให้เป็นเมืองของชาติพันธุ์อื่น สี่ ดอยโฮนที่เจ้ายอดศึกฉานใต้ยึดครองไว้อยู่ มินอ่องลายและฉานเหนือผู้ซึ่งรับใช้พม่าอยู่ ได้บุกยึดได้แล้ว จากนั้นก็ให้ชนชาติว้าขึ้นไปอยู่แทน นั่นคืออะไร ? นั่นคือให้ว้าสะดวกในการส่งยาเสพติดมายังไทย ห้า พม่าให้ความสะดวกแก่ชนชาติปะโอในการอพยพมาอยู่ในเมืองหลวงของรัฐฉาน ทุกวันนี้เมืองนี้จึงมี ชาวฉานน้อยกว่าปะโอ ไม่เหมาะจะเป็นเมืองหลวงของรัฐฉานแล้ว แต่ที่แน่ๆ เห็นกับตา คือ พม่าสั่งให้บรรจุชนชาติปะโอไปเป็นครูตามโรงเรียนชนบทในรัฐฉาน นี่ถ้าไม่ใช่หวังทำลายความเป็นชาติของรัฐฉาน แล้วมันคืออะไรเล่า! ขอสะกิด! ไตใหญ่ และไทยสยามว่า ถ้าเป็นไปได้ขอให้ฟ้องไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศว่า สัญญาที่ให้อยู่ร่วมกันสิบปีนั้น พม่าเจตนาจะใช้สิบปีนั้นทำลายรัฐฉานและชาติพันธุ์อื่นให้สิ้นความเป็นชาติได้อีกต่อไป ในเมื่อครบสิบปีแล้ว อนิจจา ! พี่น้องเรา! ใครจะช่วยได้บ้างหนอ !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image