‘เดือนสว่าง คุณาพันธุ์’ ปั้นแบรนด์ Kaff & Co.

‘เดือนสว่าง คุณาพันธุ์’ ปั้นแบรนด์ Kaff & Co. ใช้ธรรมชาติบำบัดแก้ปัญหาสภาพผิว

ใช้ธรรมชาติบำบัดแก้ปัญหาสภาพผิว

เริ่มต้นโจทย์ของสามีสู่ธุรกิจที่ขอโตตามจังหวะ

“ในวิกฤตย่อมมีโอกาส” เป็นสำนวนคุ้นหูตั้งแต่หลังปี 2540 จากกรณีวิกฤตต้มยำกุ้ง และยังคงใช้มาจนถึงทุกวันนี้

แต่ในกรณีที่จะเอ่ยถึงนี้ ไม่ใช่เรื่องวิกฤต แต่เป็นเรื่องของปัญหาที่ทำให้เจอโอกาส

Advertisement
เดือนสว่าง คุณาพันธุ์

คุณเดือนสว่าง คุณาพันธุ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Kaff & Co. (คาฟฟ์ แอนด์ โค) เป็นหนึ่งในเจ้าของธุรกิจที่เป็นอีกตัวอย่างให้เห็นถึงความสำเร็จ จากความพยายามต้องการแก้ปัญหา จนก่อเกิดธุรกิจที่มั่นคง

แบรนด์ Kaff & Co. มีผลิตภัณฑ์หลักคือผลิตภัณฑ์ดูแลหนังศีรษะ จุดเริ่มต้นมาจากการแก้โจทย์ของสามีคุณเดือนสว่าง ที่มีปัญหาผมร่วงง่าย ผลข้างเคียงจากการทานยาโรค SLE หรือโรคแพ้ภูมิตัวเองมานานตั้งแต่อายุ 16 ปี ซึ่งถือเป็นโชคดีมีผู้แนะนำให้รู้จักสมุนไพรไทย น้ำมันมะกรูด ทดลองใช้ราว 3 เดือน เริ่มเห็นความแตกต่างที่ดีขึ้น และโชคดีอีกชั้นที่ป้าเป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอคำแนะนำเพิ่มเติม ลงมือทำผลิตภัณฑ์ไปทดลองขายตามตลาดนัด ซึ่งเมื่อ 7 ปีก่อน มีฟรีมาร์เก็ตประเภททำของแฮนด์เมดมาขายกัน

และนี่คือจุดเริ่มต้นที่คุณเดือนสว่างตัดสินใจไม่ทำเล่นๆ แต่จะทำเป็นธุรกิจจริงจัง เริ่มตั้งแต่ทำเรื่องไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ รศ.ดร.พาณีศิริสะอาด อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทย เป็นผู้ตั้งต้นสูตรให้ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ขออนุญาต อย. รวมถึงออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นสากล ตั้งชื่อแบรนด์สินค้า “Kaff & Co.” มาจาก Kaffir Lime หรือ มะกรูด เพื่อสื่อถึงสมุนไพรไทย สื่อถึงสินค้าจากธรรมชาติ และสื่อไกลไปทั่วโลกว่าสมุนไพรไทย “มะกรูด” มีดีอย่างไร จึงทำเรื่องขององค์ความรู้ ค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วย

Advertisement

“ทำโปรเจ็กต์ขึ้นมาแบบจริงจัง ให้โจทย์อาจารย์ว่า อยากทำสินค้าสมุนไพรไทย แต่ไม่มีความรู้ว่าต้องใช้แค่ไหน นานแค่ไหนถึงจะดี เห็นผล โดยโจทย์คือทำสินค้าตอบสนองกลุ่มคนที่มีปัญหาเรื่องหนังศีรษะ และต้องเห็นผลได้ชัดเจนในระยะเวลาไม่นานนัก ดังนั้น สิ่งสำคัญคือสัดส่วนและวิธีการสกัด อย่างมะกรูด การสกัดส่วนที่สำคัญที่ดีอยู่ที่ผิว น้ำมันผิวมะกรูดคือส่วนที่ดี อาจารย์แนะนำว่าหน้าที่ของแชมพูคือต้องชำระล้างได้ดี นุ่มลื่น กลิ่นหอม พอแชมพูทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว ต้องมีทรีตเมนต์บำรุงหนังศีรษะ เลยทำแชมพู และทรีตเมนต์น้ำมันมะกรูดสกัดเย็น เพราะตั้งใจทำเรื่องหนังศีรษะให้ลูกค้าใช้แล้วรู้สึกได้ถึงสุขภาพหนังศีรษะที่ดี ผมร่วงน้อยลง เพราะหนังศีรษะเหมือนดิน ถ้าดินดีต้นไม้ก็ดีสวย เมื่อหนังศีรษะดี ผมสวยก็จะค่อยๆ ตามมา ตอนนี้ถือว่าแก้ปัญหาของสามีได้แล้ว ทุกวันนี้ผมร่วงน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด มีเส้นผมใหม่ค่อยๆ ขึ้นมา แม้ว่ายังต้องทานยาโรค SLE อยู่ก็ตาม”

เมื่อได้สินค้าตรงโจทย์แล้ว คุณเดือนสว่างก็เริ่มทำตลาดโดยโฟกัสกลุ่มเป้าหมาย ตีโจทย์ที่ว่าเป็นสินค้าดี ใช้ของดี น่าจะตอบโจทย์คนเมืองที่นิยมสินค้าเคาน์เตอร์แบรนด์ จึงเป็นที่มาของการดีไซน์แพคเกจเพื่อวางตำแหน่งของสินค้า

ถามถึงความแตกต่างของ Kaff & Co. กับแชมพูมะกรูดที่มีจำหน่ายในตลาด คุณเดือนสว่างเล่าหัวเราะขำว่า ขนาดคนที่บ้านก็ยังถามแบบไม่แน่ใจว่าจะขายได้ เพราะตลาดแชมพูมะกรูดมีมากแล้ว และ Kaff & Co. ยังตั้งราคาแพงกว่า

ซึ่งระยะเวลาพิสูจน์ความจริง แบรนด์ Kaff & Co. ในปีนี้ย่างก้าวสู่ปีที่ 8 และขยายผลิตภัณฑ์นอกจากแชมพู ทรีตเมนต์ ยังเพิ่มครีมนวด และล่าสุดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เปิดตัวสินค้ากลุ่มบอดี้ คือสบู่เจลและสบู่ก้อน ทั้งที่ไม่มีหน้าร้านเลย! ตอกย้ำความเชื่อมั่นของคุณเดือนสว่างว่าขายได้ ด้วยการวางตำแหน่งสินค้าชัดเจนตรงจุดกลุ่มเป้าหมาย และที่สำคัญคุณภาพสินค้าตอบโจทย์ ให้ผลลัพธ์ชัดเจนหลังใช้ “สิ่งที่ให้ความสำคัญคือรูปลักษณ์และการสื่อสาร เราไม่ได้ขายสินค้าเพราะความเชื่อ แต่ขายความเป็นไปได้ ให้ผลลัพธ์ที่เป็นจริง” คุณเดือนสว่างย้ำและพูดถึงการทำตลาดที่ไม่มีหน้าร้าน เพราะ Kaff & Co. โตมาในยุคอีคอมเมิร์ซ ทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ผ่านแพลตฟอร์ม ลาซาด้า ช้อปปี้ และเว็บไซต์ Kaff & Co. รวมถึงผ่านร้านสุขภาพ ร้านขายยาตามโรงพยาบาล แต่ยังไม่ขายผ่านโมเดิร์นเทรด เนื่องจากช่องทางนี้จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาก ยังเน้นขายเองเป็นหลัก ไม่รีบร้อนให้ธุรกิจโตเร็ว ขอทำธุรกิจแบบค่อยๆ โต

ถามถึงคำถามยอดฮิต สถานการณ์โควิด-19 กับธุรกิจ คุณเดือนสว่างบอกว่า เป็นโชคดีที่เน้นขายออนไลน์ ด้วยตั้งใจให้เป็นสินค้าดีที่จับต้องได้ ได้ทำเว็บไซต์ของตัวเองเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึง ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดโควิดระบาด พอเกิดสถานการณ์ล็อกดาวน์ แบรนด์ Kaff & Co. จึงแทบไม่ได้รับผลกระทบยอดขายยังสม่ำเสมอ และในบางช่วงเวลากลับขายได้ดีกว่าเดิม “คนส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้านมากขึ้น ออกไปไหนไม่ได้ก็จะใช้เวลาค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ขณะที่เรามีฐานอยู่บนอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว การเสิร์ชหาก็จะเจอเรา ทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น”

ถามย้ำว่าเป็นโอกาสช่วยให้ Kaff & Co. โตขึ้น แต่ได้คำตอบกลับมาว่า ไม่เคยคิดหรือจัดลำดับว่าเป็นธุรกิจกลุ่มไหน เอสเอ็มอี หรือใหญ่กว่า แค่อยากให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีติดบ้าน ตอบโจทย์เรื่องหนังศีรษะ หรือพักหนังศีรษะจากการทำสีผม คล้ายๆ การกลับมาทำดีท็อกซ์ผม เหมือน “ฟ้าทะลายโจร” ในยุคโควิด ต้องมีติดบ้าน

แม้ว่าคุณเดือนสว่างไม่ขอโฟกัสขนาดของธุรกิจ ขอเป็นเพียงแบรนด์ในใจคนไทยต้องมีติดบ้าน แต่ความตั้งใจจะสร้างชื่อ มะกรูดไทย ดังระดับโลกด้วย ก็เริ่มเห็นจะเป็นจริง เพราะปัจจุบันมีลูกค้าต่างชาติที่เคยได้ใช้ ติดใจสั่งซื้อไปจำหน่ายเอง อย่างเภสัชกรชาวลาว นำผลิตภัณฑ์ Kaff & Co. ไปวางจำหน่ายที่หลวงพระบาง ในพม่า อินโดนิเซีย ก็มีวางขายตามร้านขายยา หรือแม้แต่ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซแห่งสหรัฐ อย่าง Amazon.com ก็มีวางจำหน่าย รวมถึงตลาดในแคนาดาด้วย นอกจากนี้ เกาหลีใต้ที่ขึ้นชื่อเรื่องบิวตี้และการบำรุงผิว ยังติดต่อขอเป็นพาร์ตเนอร์ ให้ผลิตสินค้าป้อนแบรนด์ของเกาหลี แต่คุณเดือนสว่างคิดว่ายังไม่พร้อม อยากให้ Kaff & Co. ไปได้อย่างมั่นคงก่อน “เปรียบเหมือนลูก เพิ่งจะ 7-8 ขวบ คงต้องจูงมือไปอีกสักพัก จนกว่าจะโต เป็นแบรนด์ที่แข็งแรง อยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยเราไม่ต้องกังวล เมื่อถึงเวลานั้น จะไม่ปิดโอกาสการเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทที่มี Vision กว้างกว่า มีความแข็งแกร่งกว่า มาช่วยเติมเต็มเราได้”

ย้อนถามถึงตัวคุณเดือนสว่างก่อนมาจับธุรกิจ เคยทำพีอาร์ มาร์เก็ตติ้งให้กับโรงแรมโฟว์ซีซั่น เจ้าตัวบอกว่าอยู่กับโรงแรมโฟว์ซีซั่นมาตลอด จนมาช่วยธุรกิจของสามีที่มีบริษัททำอินทีเรีย ก่อนจะมาทำแบรนด์ Kaff & Co. “ถือเป็นโชคดีที่ได้ร่วมงานกับโฟว์ซีซั่นที่เน้น Core Value การบริการที่นึกถึงคนอื่น สิ่งนี้นำมาใช้กับการทำแบรนด์ Kaff & Co. ได้เป็นอย่างดี เป็นการหล่อหลอมการทำธุรกิจที่ตั้งอยู่บนฐานคำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะงานบริการ ตอบแชต ถือว่าช่วยได้ 100%”

ถามย้ำอีกครั้ง มองเป้าหมาย Kaff & Co. อย่างไร คุณเดือนสว่างไม่ตอบตรงๆ แต่ตอบถึงสิ่งที่ “อยาก” เห็น คืออยากมีหน้าร้าน เหมือนต่างประเทศ ที่ญี่ปุ่นจะมีร้านขายยาโบราณคู่อยู่กับร้านกาแฟ เป็นไลฟ์สไตล์ให้ความรู้สึกรีแลกซ์กับลูกค้ามากๆ มีเทลเลอร์ยืนหลังเคาต์เตอร์ จัดยา-ปรุงยา ผสมสัดส่วนตามอาการของลูกค้าหลังขอคำปรึกษา เป็นโปรเจ็กต์ที่อยากให้เกิด รูปแบบป๊อปอัพสโตร์ ห้างในเมือง สัก 3 แห่ง เป็นระยะสั้นๆ ทดลองตลาดก่อน โดยจะมีเภสัชกรประจำร้านเพื่อคอยให้คำปรึกษาและจัดสรรโปรดักต์ให้เหมาะกับแต่ละบุคคล

ส่วนโปรเจ็กต์ที่ทำแน่ๆ ในปีหน้าคือเรื่องการรีไซเคิลโปรดักต์ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยโครงการหนึ่งที่เริ่มแล้วคือโครงการ กรีนโรด ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นโครงการรับขวดผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าใช้แล้วนำไปรีไซเคิลในรูปแบบต่างๆ เช่น ทำบล็อก ทำถนนให้โรงเรียน วัด ทำหลังคา เก้าอี้ ฯลฯ

แม้คุณเดือนสว่างจะนิยามธุรกิจของตัวเองว่า เป็นเพียงเจ้าของกิจการเล็กๆ ที่ยังมีผลิตภัณฑ์ไม่กี่ SKU ด้วยความตั้งใจทำธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้จังหวะเวลานำทาง แต่ก็เป็นอีกหนึ่งกิจการที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมรักษาสภาพแวดล้อมของโลกใบนี้ให้น่าอยู่ เพื่อส่วนรวมของทุกๆ คน ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ธุรกิจที่ทุกบริษัทก้าวเดินมาทางเดียวกัน เพื่อโลกใบนี้จะอยู่ต่อได้อย่างยืนยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image