ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม : การดัดสันดาน ส.ส.หลังยาวทำสภาล่ม บทเรียนรู้จากเกาหลีใต้

บทเรียนการดัดสันดานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.หลังยาว กล่าวคือ การที่ ส.ส.ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการประชุม หรือการที่ขาดความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชนที่ต้องสนใจการประชุมสภา และกิจการงานของสภาเพื่อประโยชน์ของประชาชนของประเทศเกาหลีใต้ ได้ถูกเปิดเผยโดยองค์กรภาคประชาสังคมที่มีชื่อว่า “People Solidarity For Participatory Democracy” (PSPD) หรือเรียกเป็นไทยว่า “องค์กรเอกภาพประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลายอย่างเพื่อตรวจสอบนักการเมืองทั้งด้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและสร้างความโปร่งใส โดยเฉพาะวิธีการปราบนักการเมืองด้วยวิธีการเปิดเผยข้อมูลการทำหน้าที่ ส.ส.ว่ามีพฤติกรรมอย่างไรบ้างในกระบวนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดัดสันดาน ส.ส.หลังยาว

ทั้งนี้ การดัดสันดาน ส.ส.หลังยาว จะกระทำโดยวิธีการการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร นับตั้งแต่การเปิดเผยการมาประชุมและไม่มาประชุม การแสดงตนหรือไม่แสดงตนในการประชุม การลงมติหรือการไม่ลงมติในญัตติและในกฎหมายต่างๆ ที่เสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภา ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ที่ ส.ส.แสดงถึงการได้ปกป้องประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติทั้งการอภิปราย การลงมติ หรือแม้กระทั่งการเปิดเผยเบื้องหลังประวัติการศึกษา ประสบการณ์ และการทำงานก่อนที่จะมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นต้น เพื่อแจ้งไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนทุกครัวเรือน ซึ่งในที่สุดเมื่อ ส.ส.ได้ถูกเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวข้างต้นก็ทำให้ประชาชนได้รับรู้ ส.ส.ของตนเองว่าเป็นอย่างไร และในที่สุดประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกาหลีใต้ก็ได้ลงโทษ ส.ส.ที่มีพฤติกรรมเป็น ส.ส.หลังยาวไปจำนวนหนึ่ง ที่ทำให้ต้องสอบตกไป

วกมาดูกรณีของประเทศไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของบ้านเราบ้าง เราอาจจะไม่คุ้นชินกับการเปิดเผยพฤติกรรมของ ส.ส.ในการทำหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นระบบแบบองค์กร PSPD อย่างประเทศเกาหลีใต้ ที่มีองค์กรภาคประชาสังคมมีลักษณะเป็นอาสาสมัคร มีความเป็นกลางและทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์การปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.แต่ละคน และสรุปให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับรู้ รับทราบ ซึ่งสำหรับประเทศไทยอาจจะคิดไม่ได้ไกลถึงลักษณะอย่าง PSPD เพราะอาจจะมีลักษณะแบบราชการที่อาจจะหยาบและฉาบฉวยแบบทำเอาไปที เป็นต้นว่า ปิดประกาศรายชื่อการลงมติในเรื่องต่างๆ ไว้เป็นปึกๆ หนาๆ ไว้ที่บอร์ดของรัฐสภา ซึ่งไม่มีใครเปิดอ่านหรืออาจจะนานๆ จะมีคนมาเปิดอ่าน

ส่วนหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ก็ทำไม่ได้รายละเอียดมากพอในการเปิดเผยพฤติกรรม ส.ส. ซึ่งจะทำได้เฉพาะบางส่วนและบางประเด็นเท่านั้น โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งเองอาจจะได้ดูได้ฟังบ้างเฉพาะผู้ที่สนใจเปิดฟังหรือเปิดดูเพียงบางช่วงบางตอน ทำให้ความทั่วถึงก็ไม่เกิดขึ้นประเด็นจึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้ประชาชนได้เข้าถึงพฤติกรรมนักการเมืองแต่ละพื้นที่ แต่ละเขตที่ส่งตรงไปยังบ้านเรือนแต่ละครัวเรือนโดยตรง

Advertisement

ผมเข้าใจว่า บทเรียนรู้จากองค์กร PSPD ก็คือ การทำให้ประชาชนมีความสะดวกและง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลนักการเมืองที่เป็น ส.ส. โดยเฉพาะข้อมูลการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรของแต่ละสมัยประชุม หรือแต่ละปี เพื่อแจกแจงรายละเอียดการทำหน้าที่การประชุมเปิดเผยรายชื่อ ส.ส.ที่ขาดประชุมมากที่สุดเรียงลำดับถึงน้อยที่สุด หรือ ส.ส.ที่ไม่แสดงตนมากที่สุดเรียงลำดับลงมา แม้กระทั่งการโหวตและการมาลงมติโหวตหรือไม่ได้โหวต เรียงลำดับจากมากสุดสู่น้อยสุด เป็นต้น เพื่อแจกแจงไปยังครัวเรือนในพื้นที่ของ ส.ส.ทุกพื้นที่ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบและพิจารณาพฤติกรรมของ ส.ส. หรือส่วนหนึ่งเป็นการดัดสันดาน ส.ส.หลังยาวนั่นเอง

ผมจึงเข้าใจว่า การเสนอตัวของผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ในการเข้ามาทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรต่างก็มีจุดมุ่งหมายสำคัญก็คือ การมาทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับพี่น้องประชาชนทั้งในแง่การอภิปราย การเสนอญัตติ การทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องเสนอกฎหมายหรือพระราชบัญญัติต่างๆ เพื่อจะเป็นผลประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การตรวจสอบรัฐบาลในฐานะฝ่ายค้าน และในทำนองเดียวกันหากเข้ามาเป็นรัฐบาลเพื่อเข้ามา บริหารประเทศ ดังนั้น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องมาร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ ส.ส.ดำเนินงานของกิจการสภาทุกๆ เรื่องสามารถดำเนินการไปได้ รวมทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้านก็เช่นเดียวกัน โดยรวมแล้วการเป็น ส.ส.ต้องมาประชุมสภาในวันที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรกำหนดให้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ตามวาระต่างๆ) ส.ส.จะต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการประชุมสภา เพราะถือว่าเป็นหน้าที่หลักที่จะต้องรับผิดชอบ

ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าการเปิดเผยและเผยแพร่พฤติกรรมการทำงานของ ส.ส.ในกระบวนการของรัฐสภาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหามาตรการแนวทางในการกำกับดูแลควบคุมพฤติกรรมของส.ส. เพื่อเปิดเผยแก่ประชาชนตามแนวทางที่เสนอไว้ตามต้นแบบขององค์กร PSPD โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นถึงการออกมาเปิดเผยข้อมูลของ ส.ส.ทั้งการมาร่วมประชุมสภา และการไม่มาร่วมประชุมสภา การแสดงตนหรือไม่แสดงตน การลงมติหรือไม่ลงมติ ตลอดจนการลงมติหรือไม่ลงมติในกฎหมาย พระราชบัญญัติต่างๆ เป็นต้น ว่าได้ลงมติไปในแนวทางใดด้วย แล้วนำมาประมวลสังเคราะห์พฤติกรรมของ ส.ส.ในแต่ละประเด็นดังที่กล่าวแล้วว่าเป็นอย่างไร โดยนำข้อมูลเหล่านี้มาเปิดเผยให้ประชาชนทราบ

Advertisement

ผมจึงเสนอไว้ว่าสภาผู้แทนราษฎรไทยน่าจะนำแนวทางขององค์กร PSPD มาประยุกต์ใช้เพื่อให้การดำเนินงานของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเดินไปตามระเบียบวาระการประชุมอย่างสมบูรณ์และเพื่อดัดสันดาน ส.ส.หลังยาวที่มีส่วนในการทำให้สภาล่ม และถือว่าเป็นการดัดสันดานนักการเมืองที่เป็น ส.ส.ในการไม่รับผิดชอบในการทำหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ผู้แทนของตนเองว่าเป็นอย่างไร และนำไปพิจารณาในการเลือกหรือไม่เลือกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image