‘ธรรม’ที่ไม่ธรรมดา

‘ธรรม’ที่ไม่ธรรมดา

‘ธรรม’ที่ไม่ธรรมดา

ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากที่มีปัญหาไม่ชอบธรรม มีการได้เปรียบเสียเปรียบจนเกิดปัญหา
เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ “ว่าไม่เป็นธรรม” จึงได้มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งจากการใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ มาเป็น 2 ใบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะเหตุผลต้องการความ “เป็นธรรม” ให้เกิดขึ้นใน “สังคมไทยยุคประชาธิปไตย” ของเรา

สืบเนื่องจากที่ทราบกันอยู่หลายประเด็นที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ 1.การออกแบบรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ออกแบบเพื่อ “การสืบทอดอำนาจ” โดยเขียนกติกาขึ้นมา ด้อยค่าการตัดสินใจของประชาชน บรรจงกติกาขึ้นมาเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับพรรคพวกของตัวเอง และใช้อาวุธทำลายคู่ต่อสู้ 2.กระบวนการเลือกตั้ง ระบบสัดส่วนใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเอาคะแนนที่เกิดจากคะแนนเฉลี่ยปัดเศษไปเรื่อยๆ คะแนนของผูสมัครแต่ละพรรคได้มาเท่าไร ไม่ตกน้ำ เอามารวมเป็นคะแนนพรรคไปเฉลี่ยเป็นสัดส่วนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองตามลำดับ

เลยเป็นอานิสงส์ของพรรคเล็กๆ ที่มีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์ของคะแนนพึงมี หรือคะแนนกลาง ได้ ส.ส.แบบสัดส่วน หรือแบบบัญชีรายชื่อชนิด “ส้มหล่น” กันไปกว่า 10 พรรค ไปรวมตัวกันเป็นพรรคเล็กร่วมรัฐบาลอย่างที่รู้ๆ กันอยู่

Advertisement

นอกจากนี้ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งยังสามารถ Vote สนับสนุนการสรรหาเลือกตั้ง “นายกรัฐมนตรี” ได้อีกด้วย ซึ่งถูกตั้งข้อครหาในเรื่อง “ศรัทธา” และ “อำนาจและการตัดสินใจของประชาชนถูกด้อยค่า” นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง และใช้การตีความกฎหมายอย่างบิดเบี้ยวส่ง “สมาชิกบริวาร” เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชน

3.ยังมีกระบวนการซื้อตัว ส.ส.อันอธิบายไม่ได้ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์เคารพการตัดสินใจของประชาชน

4.การเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น การยุบพรรคการเมืองในช่วงมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งด้วยซ้ำก็ยังเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ปัญหาสำคัญคือ องค์ประกอบหลักของการเป็นพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีทั้ง “กระแส กระสุน และบารมี”

5.ที่สำคัญมากคือ “กติกาไม่ใช่เรื่องใหญ่” (Rule of Law) พรรคเสียงข้างมากไม่ใช่พรรคแกนนำในการตั้งรัฐบาลอีกต่อไป ใครที่รวมเสียงข้างมากได้ก่อนก็ตั้งรัฐบาลได้ การซื้อเสียงในสภาเป็นเรื่องที่ถูกต้องเสียแล้ว (จะไปกลัวอะไรกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ)

ณ วันนี้เป็นที่ทราบกันดีเสียดุลภาพของ “นายกรัฐมนตรี” ประเด็นการทรงตัว การเดินสะดุดนั่นสะดุดนี่ หวิดล้มคะมำ การสะดุดขั้นบันไดต่อหน้านักข่าว หลังเป็นประเด็นประชุมสภากลาโหม จนท่านนายกฯได้รีบออกตัวว่า ใจไปก่อนเท้า ใจร้อนเดินเร็วไป เพราะสมองคิดหลายเรื่อง และยังมีระหว่างก้มตัวเข้าไปนั่งในรถเพื่อเดินทางกลับ ศีรษะก็ไปโขกขอบประตูเข้าอีก ซึ่งสะท้อนจับโยงเข้ากับสถานการณ์การเมืองของ “รัฐบาล” ในฐานะที่ท่านเป็น “หัวเรือ” ใหญ่ กำลังมีปัญหารุมเร้าทำให้ “เรือเหล็กโคลงเคลง” อย่างน้อย 5-6 เรื่อง กล่าวคือ

1) ปัญหาโควิด-19 ระบาดต่อเนื่องข้ามปีจนเกือบครบ 2 ปี

2) ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ น้ำมันแพง สินค้าขึ้นราคา ราคาข้าวตกต่ำ กระทบปากท้องประชาชน

3) ปัญหาการเมืองทับถมกัน โดยเฉพาะความไม่เป็นเอกภาพภายใน “พรรคประชารัฐ” ที่แกนนำพรรคบางคนมีการขบเหลี่ยมกับผู้นำรัฐบาล ไม่แนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน

4) พรรคร่วมรัฐบาลยังมีการหักเหลี่ยมเฉือนคมช่วงชิงผลประโยชน์ ช่วงชิงผลงาน ช่วงชิงกระแส ให้เห็นเป็นระยะ

5) ยิ่งมาถึงช่วงนี้ และช่วงหน้าอีก 4-5 เดือน เมื่อ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม แก้ระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกพรรค 1 ใบ เลือกคน 1 ใบ มีผลบังคับใช้อยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง “พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.” และ “พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง” ที่ท่านรองนายกฯ ดร.วิษณุ เครืองาม คาดการณ์ว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนกรกฎาคม 2565 พร้อมส่งสัญญาณเตือนว่าจะมีช่วงการเคลื่อนไหวรุกไล่ให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ประเด็นสำคัญคือ อยู่ที่การแก้กฎหมายลูกตามร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต) รวมถึงพรรคขนาดใหญ่ที่จะเสนอร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. จะใช้ระบบเอาคะแนนที่เลือกพรรคทั่วประเทศมารวมกัน แล้วหารด้วย 100 จะส่งผลให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อ 1 คน ต้องได้คะแนน 3.5-3.8 ลงคะแนน แต่ในความเห็นของกลุ่มพรรคเล็กจะต้องคงหลักการคือ ส.ส.พึงมี และการใช้ระบบ mmp คือการนำ 500 ไปหารจำนวนคะแนนที่ได้จากการเลือกตั้งทั้งหมด

ทั้งนี้ พรรคเล็กและพรรคขนาดกลางอาจจะไม่เสนอญัตติ แต่อาจจะใช้วิธีสงวนคำแปรญัตติ หรืออาจจะรวมตัวกันเสนอญัตติขึ้นไปประกบ โดยแยกเป็นหลายญัตติ แยกเป็นประเด็น เพราะหากประเด็นไหนตก บางประเด็นอาจจะผ่านไปได้ในสภาบ้าง หากสรุปง่ายๆ ว่าขอลุ้นจนยกสุดท้าย แต่ดูแล้วริบหรี่ “พรรคใหญ่คงไม่ยอม”

เมื่อบัตรเลือกตั้ง 2 ใบจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ มี ส.ส.เขต 400 คน ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน เหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีอดีต กกต. ท่านสมชัย ศรีสุทธิยากร ได้ทำนาย (โหร) ผลเลือกตั้งครั้งหน้าโดยระบุว่า เอาผลเลือกตั้งปี 2562 เป็นฐานคำนวณ เคาะ 2 พรรคใหญ่ เพื่อไทยจะได้ ส.ส. 168 คน (ส.ส.เขต 136 ส.ส.สัดส่วน 22 คน) พรรคพลังประชารัฐได้ 121 คน (ส.ส.เขต 97 คน ส.ส.สัดส่วน 24 คน) ขณะ ส.ส.สัดส่วนพรรคก้าวไกล จาก 50 คน จะเหลือแค่ 18 คน พรรคประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย ส.ส.สัดส่วนจะอยู่ที่ 10 ขึ้นไป พรรคกลางกับพรรคเล็กจะสูญพันธุ์

สูตรนี้พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากพรรคประชารัฐมีมารยาททางการเมืองพอ แต่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ฉันใดก็ฉันนั้น แต่พรรคเพื่อไทยมั่นใจตัวเองได้ 230 ขึ้น เพราะครั้งนี้ส่ง 400 เขต ครั้งที่แล้ว 350 เขต ส่งแค่ 238 เขต และคนเชื่อพูดแล้วทำได้จริง ขณะ “พปชร.” มั่นใจพลังดูด และเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชนะทุกครั้ง แถมเดินหน้า “นโยบายจากล่วงหน้า” น่าจะได้เกิน 200 อัพ เช่นกัน แลนด์สไลด์เพื่อไทยจึงไม่ง่าย โดยเฉพาะตัวแม่เหล็กที่สำคัญคือ “แคนดิเดตนายกฯ” ถ้าไม่เจ๋งจริง หรืออาจถูกเล่นสกปรก โดนยุบพรรคอีกรอบ อย่าลืมว่าอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ไม่มีอะไรไม่กล้า อันเนื่องด้วย “อำนาจบารมี”

ดูแล้วถ้าจังหวะกติกา (rule of Law) ที่กล่าวแล้วไม่เป็นใจทุกขั้นตอนโดยการแลนด์สไลด์ ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเป็นไปได้ยาก หรือได้คะแนนทิ้งห่าง “พปชร.” ขาดลอยคงเกิดได้ยาก หนีไม่พ้นต้องพึ่งลมหายใจพรรคขนาดกลางเป็นตัวช่วยเข้าทาง “เสี่ยหนู” ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคตัวแปรสำคัญ ได้ยื่นข้อต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองชี้ขาดการจัดตั้งรัฐบาล

โดยสรุปได้ว่า ที่ผ่านมาบทเรียนทางการเมืองไทย เกิดการ “สร้างความไม่ชอบธรรมให้เกิดขึ้นในบทบาทของผู้แทนราษฎร และด้อยค่าของประชาชน” เป็นธรรมอยู่เองที่เมื่อเกิดการปฏิบัติต่อกันด้วยความไม่ชอบธรรม ใช้อำนาจเหนือกว่าเข้าข่มบังคับ การอะลุ่มอล่วยต่อกันก็จบลง ด้วยว่าใครจะไปยอมก้มหัวให้กับพวกที่คิดแต่จะใช้อำนาจเอาเปรียบ จึงเป็นเหตุให้ “สภาล่มแล้ว” ล่มอีก เมื่อ “เรา” แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่าด้วย “การเลือกตั้ง” จาก 1 ใบ เป็น 2 ใบ น่าจะที่เกิดการแก้ไขที่จะนำมาร่วมกัน แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกลับมา เหมือน “สภาในอดีต” จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องตระหนักถึงความเป็นธรรมต่อกันที่หายไป

นั่นคือ เปลี่ยนจาก “ความเป็นธรรม ที่ไม่ธรรมดา” ให้เป็น “ความเป็นธรรมที่ธรรมดา” ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image