มรดก‘คสช.’…ว่าด้วยการศึกษา

มรดก‘คสช.’...ว่าด้วยการศึกษา

มรดก‘คสช.’…ว่าด้วยการศึกษา

สภาผู้แทนราษฎรประชุมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ลงมติไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. … ที่เสนอโดย นายจอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 12,609 คน และร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. … ที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล กับคณะ เป็นผู้เสนอ

เป็นอันว่าร่างกฎหมายที่มีเจตนารมณ์สะสางมรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเกิดปัญหาทางปฏิบัติหลายต่อหลายฉบับต้องตกไป ประกาศและคำสั่งยังมีผลทางกฎหมายต่อไป

แต่ที่น่าสนใจ กฎหมายอีกฉบับหนึ่งซึ่งเป็นมรดก คสช.เช่นกันเข้าพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเดียวกัน คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ยังไม่ตกและเดินหน้าไปต่อได้

Advertisement

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้สาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างการบริหารการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ซึ่งคณะผู้ยกร่างและผู้ประกาศคำสั่ง คิดว่าเป็นผลงานการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญ ด้วยการยกเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และให้มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ศึกษาธิการภาค 18 ภาค และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.ทุกจังหวัด)

ผลในทางปฏิบัติก่อให้เกิดปัญหาเรื่อยมา เกิดการปีนเกลียว ไม่ลงรอย ขัดแย้งกันระหว่างศึกษาธิการจังหวัดกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาหลายต่อหลายพื้นที่ ขณะที่การดำเนินงานด้านการวางแผนและพัฒนาการศึกษาไม่คืบหน้าชัดเจนเป็นรูปธรรม แม้เวลาผ่านไปเป็นปีที่ 4 แล้วก็ตาม

สาเหตุหลักนอกจากความขัดแย้งที่ว่าแล้ว กลไกที่รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่คือคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ศึกษาธิการภาค 18 ภาค และศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัด ติดหล่ม จมปลักอยู่กับงานการบริหารงานบุคคล แต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการครูเป็นส่วนใหญ่

Advertisement

ด้วยเหตุนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงพากันเสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 ขณะเดียวกันรัฐบาลเสนอร่างกฎหมายเข้าไปประกบ แต่มีสาระสำคัญต่างกัน ของรัฐบาลเป็นแค่เพียงแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งเท่านั้น

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระแรกเป็นไปตามคาดหมาย เสียงฝ่ายรัฐบาลชนะ ร่างฉบับแก้ไขเพิ่มเติมจึงเป็นร่างหลัก และตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปรับปรุง นำเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2

ปรากฏว่าที่ประชุมอภิปรายกันกว้างขวาง ความเห็นแตกเป็นหลายฝ่าย ทำให้ประธานต้องสั่งพักประชุมให้ไปหารือว่าจะลงมติแบบใด เมื่อกลับมาประชุมยังตกลงกันไม่ได้อีก ประธานกรรมาธิการจึงขอถอนร่างออกไปทบทวนใหม่

ครับ สาระคำอภิปรายที่ถกเถียงกันดุเดือดก็คือ ฝ่ายหนึ่งต้องการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ไปเลย เลิกกรรมการศึกษาธิการจังหวัดและเลิกศึกษาธิการจังหวัดกลับไปสู่โครงสร้างเดิม มีคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่คืนมา

อีกฝ่ายหนึ่งยืนยันตามหลักการที่ผ่านวาระแรก เพียงแค่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่ถึงขั้นยกเลิก โดยเพิ่มเติมให้มีกลไกด้านการบริหารบุคคลภายใต้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ขึ้นมา เรียกว่า คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสามัญประจำจังหวัด (อ.ก.ค.ศ.จังหวัด)

มี ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทุกเขต ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่น มีส่วนร่วมเป็น อ.ค.ก.ศ.จังหวัดด้วย และให้อำนาจการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

ถึงวันนี้ยังไม่แน่ว่าจะกลับเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนอีกเมื่อไหร่ ความไม่ลงรอยระหว่างกันและการพัฒนาการศึกษาตามแนวทางปฏิรูปโครงสร้างในภูมิภาคที่วาดหวังไว้ คงคาราคาซังต่อไป

ที่น่าเป็นห่วงกังวลเพราะส่งผลกระทบถึงความล่าช้า ล้มเหลวของการแก้ปัญหา คืองานด้านยุทธศาสตร์และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

เมื่อรัฐบาลยืนกรานที่จะคงกลไกคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัดอยู่ต่อไป แต่เมื่อผลการดำเนินยังไม่สามารถเป็นตัวหลักหรือตัวช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับพื้นที่ได้จริง ก็ควรทุ่มเทกำลังลงไปให้ถูกจุด

สาเหตุหนึ่งของการไม่บรรลุผลมาจากปัญหาการขาดแคลนงบประมาณดำเนินงานในเรื่องที่ควรจะเป็น

เพียงแค่งบประมาณเพื่อการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัด จัดประชุมระดมทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเพื่อให้เกิดบทสรุปทิศทางและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนก็ยังขัดสน ขาดแคลน จำกัดจำเขี่ย จนมองไม่เห็นฝั่ง จะจบสิ้นเมื่อไหร่และต้องปรับอย่างไรเมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด-19 เข้าอีก

แต่แทนที่จะเน้นเรื่องซึ่งเป็นสาระสำคัญนี้ ราชการไทยยังคงเป็นเหมือนเดิม ของบประมาณเพื่อจัดหาสถานที่ทำงาน ก่อสร้างสำนักงานใหม่ให้สมเกียรติ สมฐานะ สมกับอำนาจบารมีที่มีมาก่อน

ด้วยเหตุนี้ทำให้ฝ่ายที่เสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 จึงไม่หยุดเรียกร้องต่อไป เพราะกลไกที่สร้างขึ้นมาไม่บรรลุเป้าหมายจริง แทนที่จะเป็นตัวช่วยพัฒนากลับกลายเป็นตัวฉุดมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image