บทเรียนรู้จากเมือง‘Almere’ ถึง‘จะนะ’สงขลา

บทเรียนรู้จากเมือง‘Almere’ ถึง‘จะนะ’สงขลา

บทเรียนรู้จากเมือง‘Almere’
ถึง‘จะนะ’สงขลา

สังคมไทยยังคงมีปัญหาการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในส่วนที่เกี่ยวกับการออกแบบการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และการกำหนดลักษณะชุมชน หรือเมือง ทั้งในเรื่องของพื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และฐานทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่การออกแบบการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้ผูกขาดไว้ที่ศูนย์อำนาจจากส่วนกลางอันเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาสิทธิชุมชน สิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัยจึงทำให้เห็นว่า การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง จึงกลายเป็นปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนกับรัฐบาลส่วนราชการ

อย่างกรณีล่าสุด การประท้วงของชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ต่อกรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่จะพัฒนาเป็นโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต จนเป็นตัวอย่างหนึ่งของรัฐบาลไทยที่ดำเนินการโดยวิธีรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ฝ่ายรัฐและส่วนราชการหรือไม่ ที่นำมาสู่การที่ชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเดินทางมาประท้วงที่หน้าทำเนียบ เพื่อทวงสิทธิชุมชนคืนจากรัฐบาล จนนำมาสู่การชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยมติคณะรัฐมนตรีให้รับข้อเสนอของชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดชะลอแผนดำเนินการโครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะไว้ก่อน เพื่อรอกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โดยให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการและให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเสนอมีส่วนร่วมด้วย

ผมมีกรณีเมืองตัวอย่างชื่อเมืองแอลเมีย “Almere” ซึ่งเป็นชุมชนเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง Almere อยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งผมได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน ซึ่งทำให้ได้บทเรียนรู้ว่า การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและการออกแบบเมือง หรือคุณลักษณะของเมืองจะเป็นอย่างไรนั้นจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและกำหนดชะตากรรมเมืองร่วมกับนโยบายของรัฐบาล ถือเป็นการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการเมืองของตนเองได้อย่างน่าสนใจของเมือง Almere

Advertisement

ความน่าสนใจในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของเมือง Almere เกิดจากเมื่อ 120 ปีที่ผ่านมา เมืองนี้เป็นพื้นที่ต่ำกว่าน้ำทะเล 2 เมตร กล่าวคือ เป็นพื้นที่น้ำเกือบทั้งหมด (Low land) และได้ถูกพัฒนาให้เป็นเมืองพื้นที่สีเขียว (Garden City) ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีการถมทะเลและปรับพื้นที่ โดยการบริหารจัดการพื้นที่และดำเนินงานเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น กล่าวคือ เทศบาล Almere และประชาชนได้มีส่วนร่วม ทั้งในส่วนของการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ซึ่งผมเห็นว่าการออกแบบเมือง Almere เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบเมืองของตนเอง โดยเฉพาะการวางผังเมืองในขณะที่เมือง Almere จะขยายตัวและเติบโตของผู้อยู่อาศัยมากขึ้น และจะมีกลุ่มทุนนักธุรกิจจะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ ซึ่งแม้ว่าจะมีความขัดแย้งกันบ้างกับนักธุรกิจที่ต้องการพัฒนาเมืองบางโซนให้เป็นเขตเศรษฐกิจ แต่ก็จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมเมือง Almere ด้วยดีและมีข้อตกลงกันได้

โดยระบุว่าการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจะต้องคำนึงถึงระบบนิเวศและพื้นที่สีเขียวเพื่อรักษาความเป็นธรรมชาติ

นอกจากนี้ เมือง Almere โดยเทศบาล Almere จะให้ความสำคัญกับการออกแบบเมือง หรือการออกแบบลักษณะของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะความสนใจและการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเมืองเพื่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนเมือง รวมทั้งได้ร่วมกันวางหลักการพัฒนาเมืองที่มีการออกแบบเมืองร่วมกันไว้อย่างน่าสนใจหลายประการ เช่น (1) การทำให้ทุกคน (ประชาชน) ร่วมกันสร้างเมือง (People make the city) โดยเฉพาะการให้บุคคลที่มีชื่อเสียงในเมือง Almere เข้ามามีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นเยาวชนตัวอย่าง นักร้องที่มีชื่อเสียง นักกีฬาผู้สูงอายุ และนักแสดงให้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม เป็นต้น (2) การออกแบบเมืองออกแบบและวางแผน Almere ให้เข้ากับธรรมชาติ โดยให้มีจุดโดดเด่นที่สำคัญนั่นก็คือ การพัฒนาพื้นที่สีเขียว (3) การออกแบบเมืองให้เป็นเมืองที่มีสุขภาพที่ดี และการเน้นการประหยัดพลังงานในอาคารบ้านเรือน การประหยัดพลังงานจากการคมนาคมทางรถยนต์ รถไฟ เป็นต้น (4) การพัฒนาเมืองให้เกิดความคิดใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เด็กเยาวชนมีความคิดในการสร้างเมืองของตนเอง เป็นต้น

Advertisement

จากบทเรียนรู้ของเมือง Almere สู่ “จะนะ สงขลา” สอนให้รู้ว่าการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจะต้องผสมผสานระหว่างรัฐส่วนกลางกับชุมชนท้องถิ่นจะต้องร่วมกันวางแผนออกแบบเมือง หรือชุมชนท้องถิ่นและที่สำคัญจะต้องกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีโอกาสมีส่วนร่วมคิด ร่วมออกแบบเมือง หรือชุมชนของตนเองอย่างแข็งขัน และจะต้องจูงใจให้เขารู้สึกหวงแหนทรัพยากร หวงแหนความเป็นธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมวางหลักการพัฒนาเมือง หรือชุมชนท้องถิ่น อย่างกรณีการวางหลักพัฒนาเมืองของ Almere ซึ่งชุมชนท้องถิ่นสามารถกำหนดแนวทางร่วมกับรัฐให้ได้อย่างลงตัว ไม่ว่าการกำหนดผังเมืองและกำหนดโซน เป็นต้น

ซึ่งข้อคิดสำคัญสอนให้รู้ว่า การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางและส่วนราชการย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่างตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิชุมชน สิทธิในที่ดิน และวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างกรณีของชุมชนท้องถิ่นจะนะ ทั้ง 3 ด้านในเขตแนวทางการตั้งนิคมอุตสาหกรรมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่และในที่สุดจะนำมาสู่การทวงสิทธิของกลุ่มชาวบ้าน หรือเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งเป็นผลให้มติคณะรัฐมนตรีต้องชะลอโครงการ และต้องจัดให้มีกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (SEA) ในที่สุด

นี่คืออุทาหรณ์ของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่เป็นอยู่ในพื้นที่ชุมชนอื่นๆ ในประเทศไทยอีกหลายๆ แห่งไหม ?

ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
พรรคพลังท้องถิ่นไท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image