‘ค้นหาช้างเผือก’ โรงเรียนท้องถิ่นที่ผลทดสอบคะแนนโอเน็ตดีเด่น

ผลทดสอบทางการศึกษา (โอเน็ต) เป็นดัชนีวัดมาตรฐานการศึกษาซึ่งอยู่ในความสนใจของผู้คนหลายล้านคน คือ เด็กนักเรียน ผู้ปกครอง สถานศึกษาและผู้บริหารระดับจังหวัด ในปี 2562 เด็กนักเรียนเข้ารับการทดสอบ 1.8 ล้านคน ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา (ป.6 ม.3 และ ม.6) คะแนนโอเน็ตเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าเหมาะสมนำไปค้นคว้าวิจัย เช่น การวัดความเหลื่อมล้ำคุณภาพการศึกษาระหว่างสถานศึกษา ในโอกาสนี้ผู้วิจัยขอนำผลสอบโอเน็ต ม.3 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบ พร้อมเสนอข้อสังเกตหรือวิจารณ์ ประการสำคัญคือการเสาะแสวงหา “ช้างเผือก” หมายถึง โรงเรียนที่คะแนนโอเน็ตดีเยี่ยมระดับท็อปของประเทศกระจายในจังหวัดใด และมี ร.ร.สังกัดท้องถิ่นติดอยู่กลุ่มท็อป 3% มากน้อยเพียงใด

ก่อนอื่นขอแสดงความขอบคุณสถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) ที่อนุญาตให้ผู้วิจัยเข้าถึงคะแนนสอบโดยมิได้เปิดเผยข้อมูลรายบุคคล จำนวนนักเรียนที่เข้ารับการทดสอบระดับ ม.3 มากกว่า 7 แสนคน นำมาประมวลเป็นระดับสถานศึกษา จำนวน 12,012 แห่ง สังกัดหลายหน่วยงานของรัฐและเอกชน รูปภาพที่ 1 แสดงการกระจายของคะแนนทุกสถานศึกษา แกนตั้งคือคะแนนเฉลี่ยของสถานศึกษา คะแนนเต็ม 400 แต่ค่าเฉลี่ยเพียง 131 คะแนนเท่านั้น คะแนนระหว่าง 100-120 ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน คะแนน 158 ถือว่าอยู่ในกลุ่มท็อป 5% (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 95) แกนนอนหมายถึงจำนวนนักเรียนที่เข้าทดสอบ (ขนาดโรงเรียน) สรุปได้ชัดเจนว่า ร.ร.ขนาดเล็ก–ผลการเรียนต่ำกว่า ร.ร.ขนาดกลางและขนาดใหญ่ สาเหตุเช่นนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับข้อจำกัดของ ร.ร.ขนาดเล็ก ครูจำนวนน้อย ครูไม่ครบชั้น ไม่ครบสาระวิชา ความขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอนและข้อจำกัดทางด้านการเงิน

ดังกล่าวในตอนต้นว่าเราอยากสืบค้น “ช้างเผือก” หมายถึงสถานศึกษาที่มีผลสอบดี อย่างไรจึงเรียกว่าคะแนนดี? บทความนี้กำหนดนิยามว่า คะแนนเกิน 170 ถือว่าดีมาก (ระดับท็อป 3% หรือเปอร์เซ็นไทล์ที่ 97) นักวิจัยอยากทราบว่าโรงเรียนที่ผ่านคะแนน 170 มีจำนวนเท่าใด? กระจายอยู่ในจังหวัดใด? ผลลัพธ์คือมีจำนวนสถานศึกษา 364 แห่งสอบผ่านเกณฑ์ กระจายในจังหวัดต่างๆ อย่างไร? ตารางที่ 1 เรียงตามลำดับจากมากไปน้อย กทม.มีจำนวนสถานศึกษา 86 แห่งที่ผ่านเกณฑ์ ชลบุรี 21 แห่ง อุดรธานี 19 แห่ง ตามลำดับ ที่น่าสังเกตคือในจำนวน 19 แห่งของอุดรธานี ส่วนหนึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางถึง 16 แห่ง น่าสนใจ

นักวิจัยค้นคว้าต่อไปโดยตั้งคำถามว่า ร.ร.สังกัดท้องถิ่นติดอยู่กลุ่มท็อป 3 กระจายอยู่ที่จังหวัดไหน? ผลลัพธ์แสดงในตารางที่ 2 มีจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ร.ร.ในสังกัดเมืองพัทยา เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครเชียงใหม่ อบจ.กระบี่ และเทศบาลนครนครศรีธรรมราช กรณีบ้านเรียนตามอัธยาศัยเป็นการจัดแบบโฮมสคูล นักวิจัยยังได้รับความรู้ใหม่ว่า มีการจัด ร.ร.สาธิตในองค์กรปกครองท้องถิ่น หรือเนื้อหาการสอนแบบสาธิตแม้ว่ายังไม่ระบุว่าเป็น “ร.ร.สาธิต” (จากการสัมภาษณ์นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นายวันชัย จงสุทธนามณี)

Advertisement

การจัดการศึกษาให้มีคุณภาพดีเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศ รัฐบาลและผู้ปกครองได้ลงทุนสนับสนุนคิดเป็นเงินหลายแสนล้านบาทในแต่ละปี แต่คุณภาพการศึกษาไทยยังคงเหลื่อมล้ำสูง คะแนนโดยเฉลี่ยต่ำ ผลทดสอบทางการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติ (คะแนน PISA) ระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ ข้อเสนอและข้อวิจารณ์ทำนองนี้มีจำนวนมากอยู่แล้ว จึงขอไม่วิจารณ์ซ้ำ ในทางตรงกันข้ามเราต้องการเสนอข้อมูล “ช้างเผือก” หมายถึงสถานศึกษาชั้นนำที่จัดการศึกษาได้ดีเยี่ยม เพื่อสื่อสารสาธารณะ ให้กำลังใจและมีความตั้งใจจะหาโอกาสไปศึกษาดูงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนที่จัดการดีแม้ว่าขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ที่เหนือความคาดหมายของผู้วิจัยคือ พบว่ามีการจัดการแบบ ร.ร.สาธิตของท้องถิ่น (หรือจัดเรียนแบบสาธิต เพียงไม่ระบุว่าเป็น ร.ร.สาธิต)

ทีมวิจัยได้รับโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้บริหารท้องถิ่นหลายแห่งผ่านการประชุมออนไลน์ ด้วยความอยากรู้ว่ามีแรงบันดาลใจอย่างไร และยกระดับคุณภาพได้อย่างไร? นักวิจัยมีความตั้งใจว่าหากสถานการณ์โรคไวรัสระบาดบรรเทาลง จะหาโอกาสไปเยี่ยมชมสถานศึกษาท้องถิ่นชั้นนำจนติดกลุ่มท็อป 3% ของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image