เดินหน้าชน : สู้โอมิครอน

เดินหน้าชน : สู้โอมิครอน การออกมาประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO)

การออกมาประกาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กังวลว่าจะเกิดการระบาดคู่ของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และโอมิครอน อาจก่อให้เกิดสึนามิโควิด ที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรง อาจทำให้สาธารณสุขล่มสลาย เป็นการส่งสัญญาณให้ประเทศต่างๆ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทรับมือกับโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดไปทั่วโลก

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงเช้าของวันที่ 31 ธันวาคม ทั่วโลกอยู่ที่ 1,824,713 ราย และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 6,474 ราย

ส่วนตัวเลขของไทย ยอดป่วยโอมิครอนพุ่งเกิน 1,000 รายแล้ว และแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก หลังเทศกาลปีใหม่

หากไม่เลวร้ายสุดสุด ยอดติดเชื้อรายวันหลังจากนี้น่าจะอยู่ในฉากทัศน์ที่ 3 มียอดวันละ 10,000 กว่าราย เสียชีวิตวันละ 60-70 ราย หรือฉากทัศน์ที่ 2 แบบปานกลาง ตัวเลขผู้ป่วยจะอยู่ที่ 1.5-1.6 หมื่นรายต่อวัน และค่อยๆ ทรงตัว และค่อยๆ ลดลงในที่สุด ผู้เสียชีวิตวันละ 80-100 ราย

Advertisement

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตั้งการ์ดของประชาชนว่าปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการระบาดของสาธารณสุขมากน้อยแค่ไหน

สิ่งที่น่าห่วงคือ เริ่มเห็น “คลัสเตอร์โอมิครอน” เกิดขึ้นก่อนปีใหม่ จนเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ ทั้งคลัสเตอร์กาฬสินธุ์ยอดติดเชื้อเกิน 100 กว่าราย และคลัสเตอร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน กทม. มีผู้ติดเชื้อ 52 ราย มีการรับประทานอาหารและดื่มสุราร่วมกันในร้านอาหารกึ่งผับ

ซุปเปอร์สเปรดเดอร์ที่เกิดขึ้น หรืออีกหลายเคสของโอมิครอนในไทย อาจเป็นสิ่งสะท้อนว่า ชุดข้อมูลของโอมิครอนที่ถูกถ่ายทอดถึงความไม่รุนแรง หากเทียบกับสายพันธุ์หลักเดลต้า ใครที่รับวัคซีนแล้วจะสามารถป้องกันได้ ทำให้เกิดความชะล่าใจในกลุ่มผู้ที่รับวัคซีนมาแล้ว 2 เข็มและกลุ่มที่รับบูสเตอร์โดสมาแล้ว

Advertisement

ความหวาดวิตกจึงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการระบาดรอบแรกๆ ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน

หลังเทศกาลปีใหม่จึงต้องติดตามว่าจะเกิดคลัสเตอร์โอมิครอนจนกลายเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์อีกหรือไม่

หากมีการระบาดเพิ่มจำนวนมากระบบสาธารณสุขทั้งเตียงผู้ป่วย ยารักษา ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมายืนยันก่อนหน้านี้ว่ามีความพร้อมรับมือได้จริงหรือไม่

ขอหยิบยกข้อห่วงใยของ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ที่โพสต์ blockdit เกี่ยวกับโอมิครอนว่า

“การแพร่ระบาดของโอมิครอนเป็นไปรวดเร็วมาก แม้จะมีความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีมากมาย สุดท้ายก็จะทำให้มีผู้ที่จำเป็นต้องใช้การดูแลรักษาในระบบสุขภาพเพิ่มมากขึ้น และมากกว่าที่ระบบสุขภาพจะดูแลได้ เราเคยรับมือกับผู้ติดเชื้อได้สูงสุดพร้อมกัน 200,000 ราย หรือติดเชื้อเพิ่มวันละเกือบ 20,000 ราย

วิธีที่จะช่วยทำให้ระบบสุขภาพรับมือไหวคือ ทำให้มีการติดเชื้อต่ำกว่าวันละ 20,000 ราย เพื่อที่จะมีผู้ติดเชื้ออยู่ในจำนวนที่ระบบสุขภาพจะรับมือไหว

สิ่งที่ควรเร่งรัดคือการเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยเร็ว ให้ได้ 50 ล้านคน ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มที่ 1 ก็ให้รณรงค์และดำเนินการให้มาฉีดโดยเร็ว และใครที่ไม่แน่ใจว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่มีความเสี่ยง ให้กักตัวเองที่บ้านหลังปีใหม่ หรือทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮม”

การรับมือการระบาดของโอมิครอนในคราวหนี้ แม้ภาครัฐจะมีมาตรการที่ออกมาได้ทันสถานการณ์ ทั้งการขอความร่วมมือให้หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนจัดเวิร์กฟรอมโฮม 1-14 มกราคม การเน้นย้ำประชาชนไม่ให้การ์ดตก

ต้องอาศัยความร่วมมือที่จะช่วยกันลดการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธ์ุโอมิครอนให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image