เดินหน้าชน : แก้ทั้งระบบ โดย นายด่าน

“แพงทั้งแผ่นดิน” เป็นแฮชแท็กร้อนแรงในโลกโซเชียล ที่ประชาชนส่งเสียงดังๆ ไปยังรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากปัญหา

ค่าครองชีพที่สูงขึ้นแต่รายได้เท่าเดิมจากการปรับราคาของสินค้าอุปโภคบริโภค

โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการประกอบอาหารอย่างไข่ไก่ ที่มีการปรับราคาหน้าฟาร์มอีกฟองละ 20 สตางค์ ส่งผลให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเป็นฟองละ
3.00 บาท หรือราคาปรับเพิ่มขึ้นแผงละ 6 บาท

ส่วนเนื้อหมูราคาสูง กิโลกรัมละ 200 บาท เป็นผลมาจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF

Advertisement

สร้างผลกระทบทุกหย่อมหญ้า ทั้งภาคครัวเรือน ธุรกิจร้านอาหารที่ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น

หลายร้านต้องขอปรับเพิ่มราคาค่าอาหารเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้กระทบลูกค้ามากนัก

จริงๆ แล้วปัญหาเนื้อหมูราคาแพงเริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยราคาขายปลีกอยู่ระหว่าง 135-150 บาทต่อ กก.

Advertisement

แต่การประเมินสถานการณ์ของ วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในตอนนั้น ยืนยันว่าควบคุมราคาได้

หากพบว่าตลาดใดมีปริมาณเข้าสู่ตลาดไม่เพียงพอหรือราคาสูงกว่าปกติ จะประสานสมาคมผู้เลี้ยงสุกรนำเนื้อหมูชำแหละเข้าไปเสริมในตลาด หรือจัดจำหน่ายหมูธงฟ้า

บวกกับข้อมูลของกรมปศุสัตว์ที่ระบุว่า ปีนี้ปริมาณหมูอยู่ที่ 15.86 ล้านตัว ลดลง 30% จากปี 2563 แต่ยังไม่ขาดแคลน เพราะจีนนำเข้าจากไทยลดลง และความต้องการบริโภคของคนไทยลดลงเหลือปีละ 16 กก.ต่อคน จากเดิมปีละ 22 กก.ต่อคน หรือลดลง 38% ยิ่งทำให้เชื่อว่าปริมาณหมูเพียงพอ

หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประเมินสถานการณ์ จัดแผนรับมืออย่างดี โดยเฉพาะปัญหาการเกิดโรคระบาด ราคาหมูคงไม่ปรับตัวสูงลิ่วเช่นนี้

การที่กรมปศุสัตว์เองออกมาปฏิเสธพบการระบาดของโรค ASF

แม้จะมีหนังสือของภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย 14 สถาบัน แจ้งเตือนการระบาดเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.64 ก่อนจะออกมาแถลงพบการระบาด ยิ่งตอกย้ำกระแสวิพากษ์วิจารณ์การปกปิดข้อมูล

แม้ตอนนี้รัฐบาลจะมีมาตรการออกมาเพื่อลดผลกระทบแก่ประชาชน ทั้งการตั้งจุดขายในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

ส่วนมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ที่ห้ามไม่ให้มีการส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกประเทศเป็นเวลา 3 เดือน ตามมติของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) จะทำให้มีหมูเป็นกลับสู่ระบบประมาณ 1 ล้านตัว เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่ส่งผลให้ราคาหมูลดลงกว่าเดิม

ปัญหาหมูราคาแพงเกิดขึ้นอยู่หลายต่อหลายครั้งในหลายรัฐบาล

ทางออกในเรื่องนี้ควรมีการระดมหน่วยงานต่างๆ เพื่อกำหนดแผนและยุทธศาสตร์แก้ปัญหาทั้งระบบอย่างจริงจัง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

เพราะแค่มาตรการลูบหน้าปะจมูกคงไม่พอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image