หลักสูตรฐานสมรรถนะ…ความจำเป็นแห่งยุคสมัย (2) โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

สนทนาสาธารณะว่าด้วยปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปหลักสูตรกันต่อจากพฤหัสฯที่แล้ว

ก่อนอื่นต้องย้ำก่อนนะครับ ว่าแม้การปฏิรูปหลักสูตรแกนกลางการศึกษาพื้นฐาน พ.ศ.2551 มาสู่หลักสูตรใหม่ที่เรียกว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะเป็นช่วงของการเริ่มต้นทดลองนำร่อง แต่ถึงวันนี้ ความเป็นทางการมีผลทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์แล้ว

เมื่อคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาร่างหลักสูตรที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการที่ปรึกษา นางสิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการอำนวยการ นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ความเห็นชอบเมื่อ
วันที่ 13 สิงหาคม 2564

“มติที่ประชุมเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช… โดยให้รับข้อสังเกตจากที่ประชุมและให้ดำเนินการต่อไป” บันทึกรายงานการประชุมเขียนชัด

Advertisement

ฉะนั้น ไม่ว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาจะมีผลออกมาอย่างไร ผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสียก่อน หลักสูตรฐานสมรรถนะต้องเดินหน้าต่ออย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

เว้นแต่รัฐบาลประกาศล้มกระดาน เลิกกลางคันเสียเอง เพราะมีใครไปยุแยงตะแคงรั่ว เป่าหู ปั่นหัวนายกรัฐมนตรีจนเกิดความลังเล

ถ้าเป็นไปเช่นนี้รัฐบาลนั่นแหละต้องรับผิดชอบที่ทำให้การปฏิรูปหลักสูตรขาหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาต้องล้มเหลวลงอีกครั้ง

Advertisement

การเริ่มทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะก็มีประกาศโครงการนำร่องชัดเจนตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2564 ใช้กับนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 ป.1-3 ก่อน ส่วนช่วงชั้นถัดไปจะดำเนินต่อกันไปตามลำดับ

ย้อนกลับมาถึงที่มาและความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปหลักสูตรมาจากความเชื่อพื้นฐานที่ว่า หลักสูตรการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาบรรลุเป้าหมาย จึงต้องปรับให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันและอนาคต

เนื่องจากหลักสูตรเดิมใช้มาเป็นเวลานานกว่า 13 ปี สาระหลักแบ่งเป็น 8 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม, สุขศึกษาและพลศึกษา, ศิลปะ, การงานอาชีพและเทคโนโลยี, ภาษาต่างประเทศ

เน้นเนื้อหาความรู้ภาคทฤษฎีวิชาการ นักเรียนต้องใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี เวลาลงมือปฏิบัติมีน้อยหรือไม่มีเลย การสอนเน้นท่องจำตามตำรา ตามครูบอกมากกว่าสอนให้คิด

มุ่งที่ตัวความรู้เป็นหลัก ยิ่งกว่าความสามารถในการนำความรู้ไปใช้ เลยทำอะไรไม่เป็น

ด้วยเหตุที่ว่าทำให้เมื่อครั้งปฏิรูปหลักสูตรปี 2556 จึงปรับลดกลุ่มสาระลงเหลือ 6 กลุ่ม ได้แก่ ภาษาและวรรณกรรม, วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์, การดำรงชีวิตและโลกของงาน, ทักษะสื่อและการสื่อสาร, สังคมและความเป็นมนุษย์, อาเซียน ภูมิภาคและโลก พร้อมกับลดเวลาเรียนในห้องเรียนลงไม่เกิน 600 ชั่วโมง กระบวนการเรียนการสอนเน้นการคิด สอนน้อย ให้เรียนมาก

ยกร่างเป็นหลักสูตรใหม่ พ.ศ.2557 วางแผนนำไปปฏิบัติ ระดมมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นแกนนำเครือข่ายละ 50-100 โรงเรียน รวม 3 รุ่น จนถึงปี 2560 ใช้หลักสูตรใหม่ครบทั้งระบบ แต่แผนการดังกล่าวมีอันเป็นไปเสียก่อน

เวลาผ่านมาจนเข้าสู่โหมดหลักสูตรฐานสมรรถนะ คำอธิบายเหตุผลความจำเป็นที่ต้องปรับจากฐานความรู้เป็นฐานสมรรถนะ คือหลักสูตรเดิมไม่เอื้อให้สังคมไทยเกิดการพัฒนาและปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการและเทคโนโลยี เน้นนำเนื้อหาวิชาไปใช้เพื่อการสอบมากกว่าสร้างทักษะ ความสามารถในการนำความรู้ไปใช้จริงได้ไม่ช่วยให้ผู้เรียนมีสมรรถนะที่เพียงพอในการเผชิญปัญหาสังคมเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลักสูตรฐานสมรรถนะจึงเน้นการสร้างทักษะและเจตคติให้ผู้เรียนมีความสามารถปฏิบัติได้จริง แต่ก็ไม่ปฏิเสธความรู้ซึ่งยังมีอยู่ครบถ้วนที่ควรจะมีตามยุคสมัย ประกอบด้วยกันทั้ง 3 ส่วน ความรู้ ทักษะในการนำความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง และเจตคติ (Knowledge Skills Attitude)

เพื่อให้เกิดสมรรถนะ 6 ด้าน ได้แก่ การจัดการตนเอง การคิดชั้นสูง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน

พัฒนาผู้เรียนตามช่วงวัยเป็นรายบุคคล และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีความหลากหลาย ยืดหยุ่น ตามความสนใจและความถนัด

ลดชั่วโมงเรียนในห้องลงรวมไม่เกิน 800 ชั่วโมงต่อปี ให้เวลากับการปฏิบัติจริงผ่านกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น

สาระความรู้เดิมไม่ได้ขาดหายไปแต่จัดใหม่ให้เหมาะสม ตั้งแต่ช่วงชั้นที่ 1 ความรู้วิชาการสอดแทรกอยู่ในกระบวนการเรียนการสอนใหม่ มุ่งให้คิด ให้ปฏิบัติ ให้ตั้งคำถาม ให้แก้ปัญหา ผิดเป็นครู ถูกเป็นครู เอาไปใช้ได้จริง

ทำให้ครูต้องปรับความคิด พฤติกรรม จากสอนหนังสือ สอนวิชา เป็นสอนคน สอนความเป็นคนที่สมบูรณ์นั่นเอง

นอกจากตัวหลักสูตรแล้วยังมีปัจจัยอื่นจะต้องเร่งเครื่องไปพร้อมกันอย่างน้อยอีก 2 เรื่อง แต่ระหว่างนำร่องเกิดเหตุเสี้ยนตำเท้าอาจทำให้รวนเรได้ เลยต้องเสวนากันต่อสัปดาห์หน้า อีกแล้วครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image