สมาธิ และ เงาดำ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ผู้เขียนมีโอกาสอ่านหนังสือ “ญาณสมาธิ” ความหยั่งรู้จากสมาธิ โดย พระธรรมมงคลญาณ หรือที่พวกเราลูกศิษย์ทั้งหลายเรียก หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ซึ่งอ่านแล้วมีประโยชน์ ควรแก่การเผยแพร่ประดับกายใจของ “เรา” ทุกคน

“มนุษย์ทั้งหลายเมื่อมีใจและกายอยู่ตราบใด? ความเคลื่อนไหวทั้งทางดีและทางไม่ดีย่อมเกิดขึ้นแก่ ‘มนุษย์’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ความสับสนอลหม่าน ทุกข์ทนทรมาน ความสุขสบาย คลายกังวล”

ข้อความกล่าวมานี้จะต้องเกิดแก่มนุษย์ในอดีต อนาคตและปัจจุบัน มันเป็นความจำเป็นใหม่ที่พวกเขาและพวกเราจะนำมาวิจัยแก้ไขให้แก่มวลมนุษยชาติ เพื่อจะได้ทำความเคลื่อนไหวให้เหมาะสมเพื่อ “สันติสุข” ในมวลชน

“สมาธิ” จะเข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างดี เพราะ “สมาธิ” มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว ที่ถูกเรียกว่า “สมาธิธรรมชาติ” แต่มวลมนุษย์ไม่ได้สนใจศึกษาค้นคว้า “ใจ” จริงจัง หรือได้รับการแนะนำในทางที่ถูกต้อง หรือไม่ได้มีการลงทุนให้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สำคัญอย่างเหนียวแน่น

Advertisement

นี่คือเหตุผลที่ชาวเราต้องการ ว่าโดยย่อตรงนี้ “ใจ” ที่เป็นตัวการสำคัญที่สุด ถ้า “พลังใจ” ขาดแคลนไม่เป็นผลดี แต่ถ้าใจมีพลังหนาแน่นจะเป็นผลดี เพราะ “ใจ” นี่เองที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่างๆ ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมาศึกษาคำว่า “ใจ” นี้เสียก่อนว่า “ใจ” คือใคร?

1.“ใจ” มันคือใคร : มันคือตัว “ผู้รู้” (จิตกับใจมีความหมายเดียวกัน)

2.“ใจ” มันอยู่ที่ไหน : อยู่ที่เบื้องหลังของทุกๆ คน

Advertisement

3.“ใจ” มีลักษณะอย่างไร : มีลักษณะเป็นนามธรรมและมันเป็นมหาอำนาจ มีอำนาจสามารถสั่งการให้ “ตาย” ได้

ทุกๆ เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดในเบื้องต้นนี้ ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติ “สัมมาสมาธิ” กำลังจะเห็นตัว “ผู้รู้” ที่เคยได้บอกท่านทั้งหลายบ่อยๆ ว่า ท่านที่มีการทำสมาธิมาอย่างสม่ำเสมอ ที่สามารถผลิตพลังใจได้อย่างชำนาญ และได้มีพลังมากจักเกิดกระแส และเมื่อจิตใจดำเนินมาถึง “ขั้นกระแสจิต” ก็จะเกิด “พลังจิต” ตามมาเป็นคู่กัน เหมือนกับพระอาทิตย์ขึ้นมาสู่โลก แสงสว่างก็จะเกิดตามขึ้นมา เมื่อดำเนินจิตมาถึงขั้นนี้ท่านจะมีความรู้สึกเหมือนมี “เงามืด” ตามหลังเรามาเหมือนกับหน่วยรักษาการ ช่วยระมัดระวังความปลอดภัยในลักษณะนี้ของจิต

เพราะฉะนั้น คำว่า มันคือใคร อยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร? จะต้องมาทำการศึกษาในเงามืดที่ตามหลังเรามา โดยการปฏิบัติ “ทางใจ” ไม่ใช่เพียงมาพูดเอาในเงามืดนั้นได้ปกปิด (มันคือใคร อยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร) มันเป็นแหล่งของ “ญาณ” (การรู้แจ้งเห็นจริง) ต่างๆ ที่จะอำนวยประโยชน์ทั้ง “โลกิยะ” และ “โลกุตระ” อย่างต่ำอย่างสูงให้แก่ผู้ปฏิบัติ “สัมมาสมาธิ” จะสะสมพลังจิตได้มากน้อยเท่าไรก็สุดแล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคล

นักศึกษาที่กำลังศึกษา สมถะ-วิปัสสนา เมื่อดำเนินจิตมาถึงตอนนี้แล้วท่านจะเห็นอะไรต่างๆ ในเงามืดอีกมากมาย ท่านทั้งหลายท่านจะหมดความสงสัยในตัวของท่านเองเมื่อพลังจิตเจาะลึกเข้าไปในเงามืดนี้ได้มากน้อยเพียงใด เพราะฉะนั้น อาตมาจะขอบอกท่านทั้งหลายเอาไว้เท่านี้ก่อน เพื่อจะได้หันกลับมาปฏิบัติจิตของท่านก่อนที่จะถึงเงามืดนี้ได้ การสะสมพลังจิตถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมาก เพราะว่าเมื่อจิตถดถอยศรัทธาลดลง ทำให้การทำสมาธิน้อยลง พลังจิตที่สำรองก็จะร่อยหรอ ท่านจะไม่สามารถเข้าสู่เงามืดได้เลยนั้น ถือว่าท่านประมาทแล้ว และแล้วท่านจะเสียหายมาก เพราะจะเหลือแต่ความเดาเอา อาตมาขอเตือนนักศึกษาว่าอย่าประมาทเลย เพราะกำหนดเวลาทำความเพียร ไม่ใช่หนักนักเพียงครั้งละ 30 นาที นั่ง 30 นาที แม้ยืน เดิน นั่ง นอน ก็สามารถสร้างพลังจิตได้

การทำสมาธิแต่ละครั้งนั้นมีความหมาย เพราะในแต่ละครั้งจะเป็นการสร้างฐานะให้มั่นคง ที่สามารถต่อกิ่งก้านขยายออกไป ไปอีกอย่างกว้างขวาง เปรียบเหมือนกันกับคนเป็นเศรษฐีเขารวยเงิน ยิ่งมากก็ยิ่งมีกิจกรรมที่มีเงินเข้าเป็นทวีคูณ พลังอำนาจการซื้อก็มาก เพราะฉะนั้น การพากเพียรพยายามทำสมาธิสะสมพลังจิตเป็นประการสำคัญ เปรียบคนมีเงินน้อยมากแค่ห้าร้อยบาท แต่เขาต้องการสร้างอาคารสูงยี่สิบชั้น ต้องใช้เงินถึง 1,000 ล้านบาท ก็ทำสำเร็จไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้น การสะสมพลังจิตก็เช่นเดียวกัน

เงาที่อยู่เบื้องหลังเราอยู่มันไปปกปิดไว้เป็นอันมาก เราต้องอาศัยกระแสจิตที่มีกำลังมาก จึงจะขจัดมันทะลุเงามืดเข้าไปทีละส่วน โดยเฉพาะขณะนี้นักศึกษาครูสมาธิจบแล้ว ต้องการต่อยอด ก็ต้องมาเรียนเพื่อความกระจ่างแจ้งต่อไป เพราะว่าขณะนี้เรากำลังทั้งเรียนทั้งปฏิบัติด้านจิตใจไปพร้อมกัน จึงจำเป็นจะต้องใช้เวลา เนื่องจากระดับจิตเป็นส่วนสำคัญ ผู้ที่ยกระดับจิตเขาต้องเสริมพลังจิตให้พร้อมด้วยคุณธรรม 3 ประการคือ ความรับผิดชอบสูง ความมีเหตุผล และความมีเมตตา

1.ความรับผิดชอบสูง หมายความว่า ไม่สำคัญตนผิด ต้องยอมรับความรู้ความเห็นของจริงจากผู้อื่น โดยทำความเห็นของเราให้ตรงต่อสัจธรรม ต้องลดมานะทิฐิ เมื่อผิดทั้งผิดเห็นอยู่จะจะ ยังใช้มานะทิฐิของตน โดยเอาสีข้างเข้าถู ชักชวนพรรคพวกทำความผิดต่อไปจนเกิดหายนะเพราะความรับผิดชอบต่ำ เมื่อดำเนินจิตมาถึงขั้นนี้แล้ว เขาจะมองรอบทิศตามความเป็นจริงก่อนตัดสินใจไม่โลภโมโทสัน ข้อนี้เป็นคุณสมบัติของผู้บรรลุธรรม

2.ความมีเหตุผล หมายความว่า คำโบราณว่าไว้ว่า อย่าดันทุรัง ตัวอย่าง 2+2 ผลลัพธ์เป็น 3 มันผิด แต่ฉันไม่ยอมรับผิด นี่แหละเขาว่ามันดันทุรัง แต่ถ้ายอมรับว่า 2+2 เป็น 5 มันเป็นความจริงก็หมดปัญหา ไม่เป็นการดันทุรัง หมายความว่า ไม่ยอมรับเหตุผลตามความเป็นจริง เหตุคือทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเกิดมาจากเหตุ เช่น เงินกองนี้มาจากไหน? เงินกองนี้มาจากการขายบ้าน 600,000 ดอลลาร์ เห็นอยู่จะจะ ปฏิเสธไม่ได้ เพราะฉะนั้น เงามืดที่เราเจาะได้จากผู้รู้ก็เช่นเดียวกัน

3.ความมีเมตตา หมายความว่า เราช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ด้วยใจจริง การให้อภัยแก่กันและกัน หาหนทางให้แก่ตนและผู้อื่นพ้นจากทุกข์ ไม่อิจฉาริษยาเห็นแก่ตัว มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจแก่เพื่อนมนุษย์และสัตว์ ไม่ก่อความวุ่นวายให้แก่เพื่อนและสังคมมนุษย์ จึงชื่อว่า เมตตาธรรม

คุณธรรม 3 ประการนี้จะเกิดขึ้นพร้อมกับวาระจิตที่เรากำลังปฏิบัติสมาธิ ดำเนินไปอย่างไม่ลดละ พลังจิตก็จะแกร่งขึ้น คุณธรรม 3 ประการในตัวของท่านที่ปฏิบัติสมาธิ พลังจิตจะเพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ พร้อมกระแสจิตที่แกร่งกล้าสามารถเกิดขึ้นได้ตามที่ได้กล่าวมา

ดังนั้น เมื่อเราทำสมาธิขณะที่เพ่งจิตจะรู้จิตที่เกิดขึ้นเป็นมากขึ้น มีญาณรู้เองเห็นเองด้วยตนเอง is yourself ความรู้เองตรงนี้ เปรียบเหมือนการรับประทานอาหาร เวลาอิ่มไม่มีใครรู้นอกจากตัวเราเท่านั้น การต่อยอดสมาธิมาถึงตรงนี้ คือกำลังจะเกิดดวงตาเห็นธรรม จะมีความสว่างที่มีขั้นตอนให้เราได้วัดและคำนวณระยะวาระจิต ว่าขนาดแห่งแสงสว่างด้วยตนเอง is yourself

อย่างไรก็ตาม ผู้ปฏิบัติต้องใช้เวลาให้ได้พบของจริงด้วยตนเอง เหมือนบุคคลรู้สึกถึงความอิ่มอาหารของตนเอง ฉะนั้น เหนือสิ่งอื่นใด มนุษย์จำเป็นต้องพบกับความอิ่มนับครั้งไม่ถ้วนมิใช่หรือ? ถึงจะรู้ตัวว่าตัวเราใหญ่แล้ว การดำเนินจิตเมื่อไม่ย่นย่อท้อถอยแล้วมาพบกับความสำเร็จอันน่าอัศจรรย์ในธรรมจักษุแล้วเขาจะ “มีสติ” อย่างล้นเหลือ ระลึกได้ในสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา สามารถนำตนและพรรคพวกสู่ความเจริญในสิ่งอันควร ฉะนั้นท่านทั้งหลาย นักปฏิบัติสมาธิ ควรต่อยอดให้พบกับของจริง “แห่งธรรมจักษุ” เถิดในการที่จะอธิบายขยายเนื้อความแสงสว่างแห่งธรรมจักษุ

ในที่นี้จะอธิบายแบบเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจง่ายว่า แสงสว่างแห่งปัญญานี้มีลักษณะยังไง มันมีลักษณะอย่างนี้ คือ “กำจัดความมืด ส่งเสริมความสว่าง” เช่น อ่านหนังสือภาษาอังกฤษไม่ออกไม่รู้เรื่องแปลว่าคนนั้นโง่ ปัญญาไม่มีเลยไม่รู้ แต่ในขณะเดียวกัน คนนั้นเขามาเรียนภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว เป็นคนไม่โง่ เป็นคนฉลาด และมีปัญญาสว่างไสว เปรียบด้วยคนมาเรียนสมาธิครั้งแรก ไม่รู้อะไรคือคนโง่ ต่อมาเมื่อเขามาเรียนสมาธิในทางที่ถูก ตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันเขาก็ได้รู้เรื่องสมาธิอย่างแจ่มแจ้ง ความโง่ของเขาก็หายไปกลายเป็นผู้ฉลาดมีปัญญา ธรรมจักษุได้เกิดขึ้นแก่เขาแล้ว

ท้ายสุด สรุปได้เบื้องต้นว่า คำว่า “เงาดำ” ที่อยู่เบื้องหลังของทุกๆ คนที่มีอยู่ได้กล่าวไว้แล้วเบื้องต้น มันคือ “ตัวผู้รู้” แต่เงาดำนี่มันได้ปิดตัวผู้รู้ให้อยู่ใต้อำนาจ ที่เราทำ “สมาธิ” ในที่นี้ก็เพื่อต้องการที่จะเปิด “เงาดำ” ให้ได้ แต่ถ้าเราเปิดไม่ได้ เราก็ต้องอยู่ใต้อำนาจมันตลอดไป ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image