เดินหน้าชน : ‘พรรคไหน’กล้าชน โดย โกนจา

นั่งอ่านเนื้อหาวงเสวนาเรื่อง ‘From Strategy to Execution’ ภายในงาน ‘NDC Leadership Talk Series’
ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) โดยเฉพาะเนื้อหาบางตอนของ วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่สะท้อนภาพระบบราชการที่กำลังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการพัฒนาประเทศในขณะนี้

วิรไทระบุว่า ที่ผ่านมาอาจไม่มีใครมองว่าระบบราชการจะใหญ่ขึ้น จนทำให้เกิดภาระฐานการคลังของประเทศ และยิ่งระบบราชการใหญ่ขึ้นเท่าใด ทุกคนจะต้องมีหน่วยงาน มีกรอบกฎหมายมาสนับสนุนการทำงานของตัวเอง และกรอบกฎหมายดังกล่าว ก็เป็นข้อจำกัดของภาคเอกชน สังคม และการพัฒนานวัตกรรม

สิ่งที่ขาดมาก เราขาดคนหรือขาดหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่ดูข้อจำกัดของประเทศอย่างจริงจัง เพราะเวลาที่มีแผนมา มักจะมีการขออัตรากำลังเพิ่ม ขอหน่วยงานเพิ่ม คิดเหมือนกันว่าแต่ละหน่วยงานไม่มีข้อจำกัด และไม่มองภาพใหญ่ของประเทศ ที่สำคัญพอไม่มองว่ามีข้อจำกัดเป็นตัวตั้งต้น ก็ไม่มีใครคิดถึงเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่อีกอันหนึ่งของประเทศไทย

เรามักทำแผน เพราะกฎหมายบอกให้ทำแผน รัฐธรรมนูญบอกให้ทำแผน หรือเป็นนโยบายของผู้ใหญ่ที่ย้ายเข้ามาใหม่ ก็ต้องทำแผนหรือมีอะไรที่ต่างไปจากเดิม ส่วนข้อจำกัดต่างๆ ก็คิดว่าจะไปหาทางที่จะได้งบหรืออะไรเพิ่มเติม และพอไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ ก็เป็นแผนที่เป็นเบี้ยหัวแตก และเป็นปัญหาว่า เรามีแผนเยอะแยะไปหมดเลย แต่ไม่รู้สึกว่ามีผลในทางปฏิบัติจริง

Advertisement

หากรัฐบาลกลางมีขนาดเล็ก จะไม่เสียเวลาไปทำเรื่องที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ แต่จะไปโฟกัสในเรื่องที่สำคัญ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระบบราชการของไทยใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดภาระงบประมาณเป็นจำนวนมาก ในขณะที่รัฐบาลเองมีการรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น

ถ้าเราปล่อยให้รัฐบาลใหญ่ ซึ่งรัฐบาลของไทยใหญ่มาก และเป็นรัฐบาลที่รวมศูนย์มากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เช่น ส่วนราชการ เมื่อก่อนมีอธิบดี และมีรองอธิบดี 2-3 ท่าน แต่วันนี้มีอธิบดี อาจมีที่ปรึกษาระดับ 10 อีก 2-3 ท่าน และมีรองอธิบดีอีก 2-3 ท่าน มันเป็นส่วนราชการหัวโต และทุกคนก็ต้องพยายามทำให้ตัวเองมีงาน จึงทำให้มีงานที่ไม่จำเป็นอยู่เยอะ ดังนั้น การสร้างวินัยให้มีข้อจำกัดที่ชัดเจนของภาครัฐ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

เพราะถ้าเราปล่อยให้ระบบราชการโตแบบนี้ไปเรื่อยๆ ภาระการคลังของประเทศจะมีปัญหาแน่นอนในอนาคต วันนี้ฐานะการคลังเรายังดีอยู่ แต่ถ้าปล่อยให้ทิศทางไปในลักษณะแบบนี้ ภาคการคลังจะมีรายจ่ายอีกเยอะมาก ที่สำคัญจะมีผลข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายที่เกินพอดี หรือมีกฎเกณฑ์กติกาการขออำนาจ ขอใบอนุญาตที่เกินพอดี ซึ่งจะทำให้ภาคเศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้ดีเท่าที่ควร

Advertisement

เวลาที่ภาครัฐมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จะพบว่าระบบการทำงานมีความเป็น Silo มากขึ้น มีความเป็นกล่องมากขึ้น ในขณะที่ปัญหาที่ต้องเผชิญข้างหน้า เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน มีหลายมิติ เราจะเสียเวลากันเยอะมาก ที่จะประชุมเพื่อบอกว่าอันนี้อยู่ภายใต้อำนาจหน่วยงานไหน กฎหมายของใคร ใครรักษากฎหมายและทุกคนจะเกาะแต่กฎหมายของตัวเอง ที่สำคัญกฎหมายที่ออกมาแต่เดิม เป็นกฎหมายที่ตอบโจทย์โลกเก่า ปัญหาหลายเรื่องเราจึงแก้ไขไม่ได้

การทำให้รัฐบาลกลางเล็กลงนั้น ต้องทำให้ชัดว่า เราต้องการความคาดหวังอะไรจากการที่รัฐบาลกลางเล็กลง และต้องตกผลึกก่อนว่ารัฐบาลเล็กลงเพื่ออะไร เช่น เพื่อให้มีการใช้อำนาจน้อยลง เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และลดภาระการคลังของประเทศในระยะยาว

ที่สำคัญเรื่องนี้จะต้องทำให้เป็นวาระของการเลือกตั้งคราวหน้า พรรคไหนบ้างที่มีนโยบายเรื่องนี้ที่ชัดเจนว่าจะลด ไม่ใช่แค่ลดเฉพาะรัฐบาลกลาง แต่ลดอำนาจรัฐด้วย หรือแม้แต่รัฐวิสาหกิจเอง วันนี้รัฐวิสาหกิจของเราก็มีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ และมีบทบาทที่เข้าไปมีบทบาทต่อการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ

วันนี้ทุกคนต่างรับรู้ว่านับตั้งแต่รัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครองอำนาจมา 7-8 ปี ได้บูรณาการสร้างระบบราชการจนใหญ่โตและรวมศูนย์อำนาจเพื่อเป็นไม้เป็นมือในการบริหาร

ข้อเสนอของ “วิรไท” นับเป็นการท้าทายว่า “พรรคไหน” จะกล้าชน “พรรคราชการ” ที่กำลังกลืนกินประเทศนี้บ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image