เตาเผาขยะ (ตอน 2)

เตาเผาขยะ (ตอน 2)

เตาเผาขยะ (ตอน 2)

ตอนที่แล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการของการกำจัดขยะ จากการขนขยะออกไปเทกองนอกเขตเมืองไปสู่การจัดหาพื้นที่แล้วก่อสร้างระบบฝังกลบที่ถูกหลักสุขาภิบาล จากนั้นจึงมีพัฒนาการเพื่อลดปริมาณขยะและลดภาระที่ต้องจัดหาพื้นที่ฝังกลบด้วยการเผาในระบบปิดหรือที่เราเรียกว่า “เตาเผาขยะ” ต่อมาเตาเผาขยะได้รับการพัฒนาให้สามารถนำเอาความร้อนจากการเผามาใช้ประโยชน์ทั้งในรูปของความร้อนหรือไอน้ำและพลังงานไฟฟ้า อย่างไรก็ตามสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ประสิทธิภาพในการกำจัดขยะยังคงเป็นวัตถุประสงค์หลัก แม้ว่ารัฐจะส่งเสริมการกำจัดขยะที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าในอัตราพิเศษจนกระทั่งรายได้จากการขายพลังงานไฟฟ้ามากเป็น 80% ของรายได้ของโครงการแต่นโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นก็เพื่อส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีการกำจัดขยะอย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ปี 2542 เป็นปีที่ประเทศไทยเริ่มเดินระบบกำจัดขยะแบบเตาเผาถึง 2 ชุด 2 จังหวัด 2 เกาะ คือเตาเผาขยะขนาด 250 ตันต่อวัน ของจังหวัดภูเก็ตและเตาเผาขยะขนาด 140 ตันต่อวัน ของเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เตาเผาขยะทั้งสองเป็นเตาระบบตะกรับ (Stoker) เหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่ เตาเผาขนาด 250 ตันต่อวัน ของจังหวัดภูเก็ตติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าและสามารถผลิตได้ 2.5 MW ขณะที่เตาเผาของเกาะสมุยทำหน้าที่เผาเพื่อกำจัดขยะอย่างเดียว การเดินระบบของเตาเผาขยะทั้งสองดำเนินการโดยเอกชนซึ่งจัดจ้างโดยท้องถิ่น กรณีของเทศบาลนครภูเก็ต (จังหวัดภูเก็ตได้มอบให้เทศบาลนครภูเก็ตรับผิดชอบดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2542) มีขอบเขตการให้บริการกำจัดขยะครอบคลุมทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดและเรียกเก็บค่ากำจัดขยะในอัตรา 300 บาทต่อตัน ขณะที่เทศบาลเมืองเกาะสมุยในเวลานั้นกำจัดเฉพาะขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเทศบาลซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกาะทั้งหมด

แม้ว่าเตาเผาขยะของจังหวัดภูเก็ตจะสามารถผลิตและขายพลังงานไฟฟ้าซึ่งในเวลานั้นอัตราการขายยังไม่ได้รับการอุดหนุนด้วยอัตราพิเศษที่เรียกว่า Adders รายได้จึงไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการเดินระบบจนต้องขอรับเงินอุดหนุนรายปีจากกระทรวงมหาดไทยเช่นเดียวกับเตาเผาของเกาะสมุย ในปี 2547 ห้าปีหลังจากเริ่มเดินระบบของเทศบาลนครภูเก็ต พบว่ามีค่าใช้จ่ายในการเดินระบบประมาณ 75 ล้านบาท โดยเป็นค่าจ้างเอกชน (เป็นการจ้างเพื่อจัดหาบุคลากรและการซ่อมบำรุงเล็กน้อย) ประมาณ 38.5 ล้านบาท แต่มีรายได้จากค่าบริการกำจัดขยะประมาณ 19 ล้านบาท และรายได้จากการขายพลังงานไฟฟ้าเพียง 6 ล้านบาท เทศบาลนครภูเก็ตจึงต้องของบประมาณอุดหนุนเพื่อเดินระบบจำนวน 53 ล้านบาท เท่ากับงบอุดหนุนที่เทศบาลเมืองเกาะสมุยได้รับเช่นเดียวกัน

Advertisement

จากข้อมูลค่าใช้จ่ายในการเดินระบบของเทศบาลนครภูเก็ตแสดงให้เห็นว่า หากต้องการให้รายได้จากค่าบริการกำจัดขยะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการเดินระบบเตาเผาขยะในเวลานั้น เทศบาลนครภูเก็ตต้องเรียกเก็บค่ากำจัดในอัตรา 820 บาทต่อตัน ขณะที่เรียกเก็บได้จริงเพียง 300 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นอัตราที่ท้องถิ่นสามารถจ่ายให้ได้ และนี่คือโจทย์สำคัญที่ทำให้รัฐต้องหาคำตอบเพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งงบประมาณอุดหนุนการเดินระบบรายปี จนกระทั่งปี 2550 รัฐโดยกระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบายสนับสนุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกระบวนการกำจัดขยะที่เรียกว่า Adders เพื่อให้โครงการมีรายได้จากการขายพลังงานไฟฟ้าและค่ากำจัดเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินระบบและรวมถึงงบประมาณลงทุน เพื่อเปิดทางให้เอกชนที่สนใจสามารถเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการในภารกิจของท้องถิ่น

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายส่งเสริมในรูปแบบของ Adders ในอดีต หรือ Feed in Tariff วัตถุประสงค์สำคัญของรัฐคือการส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีระบบกำจัดขยะที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ไม่ใช่การกระตุ้นให้เกิดขยะเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า

การเดินระบบเพื่อให้บริการกำจัดขยะของเตาเผาทั้งสองประสบกับปัญหาที่แตกต่างกัน เตาเผาของเกาะสมุยไม่สามารถเดินระบบได้สม่ำเสมอ เนื่องจากปริมาณขยะรายวันในช่วง 2-3 ปีแรก มีเพียง 40-70 ตัน ขณะที่เตาเผาของจังหวัดภูเก็ตประสบปัญหาขยะล้นเตาตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเดินระบบ เทศบาลนครภูเก็ตจึงหาทางแบ่งเบาภาระของเตาเผาด้วยการให้เอกชนลงทุนระบบคัดแยกขยะในปี 2543 โดยหวังว่าระบบคัดแยกจะสามารถลดปริมาณขยะก่อนเข้าสู่เตาเผาได้ประมาณ 100 ตันต่อวัน แต่แล้วระบบคัดแยกก็ประสบปัญหาไม่สามารถคัดแยกขยะตามที่ออกแบบ ปริมาณขยะยังคงเกินขีดความสามารถของเตาเผา และในที่สุดในเดือนสิงหาคม 2549 เอกชนต้องหยุดเดินระบบจากสาเหตุการสึกหรอของเครื่องจักรและต้นทุนดำเนินการมากกว่ารายได้จากการขายวัสดุรีไซเคิล ปริมาณขยะที่เกินขีดความสามารถของเตาเผาถูกนำกลับไปทิ้งในพื้นที่ฝังกลบเดิมส่งกลิ่นเหม็นกระทบต่อชุมชน น้ำชะขยะจากพื้นที่ฝังกลบไหลลงทะเลทำให้ปลาเลี้ยงในกระชังของชุมชนเสียหาย สถานการณ์บีบให้เทศบาลนครภูเก็ตต้องตัดสินใจเชิญชวนเอกชนลงทุนและเดินระบบเตาเผาขยะชุดใหม่

Advertisement

แหละแล้ว เตาเผาขยะทั้งสองก็กลับมามีชะตากรรมเดียวกัน คือหยุดการเดินระบบในปี 2552 เป็นปีที่เตาเผาขยะชุดใหม่ขนาด 700 ตันต่อวัน ลงทุนโดยบริษัทเอกชนเริ่มเดินระบบและเตาเผาขยะ 250 ตันต่อวัน ต้องหยุดการทำงานหลังจากการใช้งานเต็มกำลังตลอดระยะเวลา 10 ปี และจำเป็นต้องซ่อมแซมเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ครั้งใหญ่ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ส่วนเตาเผาขยะของเกาะสมุย หลังจากปี 2547 ปริมาณขยะที่เข้าสู่เตาเผาเพิ่มขึ้นจนเต็มขีดความสามารถ เทศบาลเมืองเกาะสมุยต้องรณรงค์ให้สถานประกอบการช่วยกันลดและคัดแยกขยะโดยเฉพาะขยะอินทรีย์ การเดินระบบประสบปัญหาการสึกหรอ เสียหายของเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวดเร็วและรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ ทำให้เทศบาลเมืองเกาะสมุยไม่สามารถแบกรับภาระต่อไปได้แม้ว่าจะได้รับงบประมาณอุดหนุนในการเดินระบบจำเป็นต้องหยุดเดินระบบในปี 2552 ทำให้ปริมาณขยะวันละ 140 ตัน ต้องย้อนกลับไปยังพื้นที่ฝังกลบ กลายเป็นขยะตกค้างที่จะคุกคามสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของชุมชนและบรรยากาศการท่องเที่ยวต่อไป

10 ปี เป็นช่วงอายุการใช้งานเตาเผาขยะแบบตะกรับที่สั้นมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานการใช้งานเตาเผาขยะแบบตะกรับในต่างประเทศที่มีอายุการใช้งานเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20 ปี หากไม่รวมปัญหาเรื่องขีดความสามารถของเอกชนที่รับจ้างเดินระบบ ปัญหาความชื้นของขยะและปริมาณเกลือโซเดียมคลอไรด์ในขยะเศษอาหารมีส่วนสำคัญต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเตาเผา ไอของกรดเกลือกัดกร่อนสร้างความเสียหายต่อห้องเผา ปล่องระบายความร้อน และอุปกรณ์อื่นๆ

เวลานี้ เตาเผาขยะสองแห่งแรกของประเทศได้ถูกปลดออกจากการใช้งานแล้วด้วยช่วงชีวิตที่สั้นเกินคาด แต่ที่น่าเสียดายอย่างยิ่งคือการปล่อยให้ประสบการณ์ของเตาเผาขยะทั้งสองผ่านพ้นไปโดยไม่มีหน่วยงานใดศึกษาหรือถอดบทเรียนการทำงานของเตาเผาทั้งสอง ตรงกันข้าม ยังคงปล่อยให้มีโครงการจำนวนไม่น้อยเดินซ้ำรอยของปัญหาเดิมและกระทั่งก่อให้เกิดปัญหาใหม่ที่ซับซ้อนและรุนแรงกว่าเดิม

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image