เดินหน้าชน : ทางม้าลายต้องปลอดภัย โดย นายด่าน

การเสียชีวิตของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย จากเหตุการณ์ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ขี่บิ๊กไบค์ดวยความเร็ว 108-128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พุ่งชนขณะกำลังเดินข้ามทางม้าลาย

เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น หากผู้ใช้รถรักษาวินัยการจราจร ไม่ขับขี่ด้วยความประมาท

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในแต่ละปี คนไทยเสียชีวิตจากการถูกชนบนทางม้าลาย ทางข้ามกว่า 1,000 คน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก

สอดคล้องกับรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยบนท้องถนนปี 2018 (GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY 2018) ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอยู่ที่ 32.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน รองลงมาคือเวียดนาม 26.4 คน, มาเลเซีย 23.6 คน, เมียนมา 19.9 คน, กัมพูชา 17.8 คน, ลาว 16.6 คน, ปาปัวนิวกินี 14.2 คน, ติมอร์เลสเต 12.7 คน, ฟิลิปปินส์ 12.3 คน, อินโดนีเซีย 12.2 คน และสิงคโปร์ 2.8 คน

Advertisement

ในรายงานได้เสนอแนะว่า “ควรมีการออกกฎหมายจำกัดความเร็วยานพาหนะในเมืองให้ไม่เกิน 50 กม./ชม. จะช่วยลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ มีเพียง 46 ประเทศทั่วโลกที่ออกกฎหมายจำกัดความเร็วไม่ให้เกินตามข้อเสนอแนะแล้ว”

โดยประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดความเร็วรถตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ

กฎกระทรวงที่ประกาศล่าสุดพฤศจิกายน ปี 2564 การขับรถในทางเดินรถที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาลนคร เขตเทศบาลเมือง หรือเขตชุมชน เช่น รถจักรยานยนต์ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. เว้นแต่รถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่สามสิบห้ากิโลวัตต์ขึ้นไป หรือกลุ่มบิ๊กไบค์ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ส่วนรถยนต์ทั่วไป ไม่เกิน 80 กม./ชม.

Advertisement

แม้การสูญเสียหมอกระต่ายจะผ่านมากว่า 10 วัน แต่ยังไม่เห็นความชัดเจนของรัฐบาล ที่จะวางแนวทางแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

เห็นเพียงความเคลื่อนไหวในสัปดาห์ที่ผ่านมา ของ กมธ.คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน กมธ.ได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงและให้ข้อมูลกรณีบิ๊กไบค์ชน “หมอกระต่าย” โดยได้ข้อสรุปที่น่าจะเป็นทางออกได้ครอบคลุม

1.ปัญหาหลักคือจิตสำนึก จึงต้องทำควบคู่กับหลักกฎหมาย จึงเสนอให้เแก้ไขกฎหมายที่ใช้บังคับการใช้รถอย่างเป็นระบบ

2.บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ใช้กฎหมายไปถึงผู้กระทำความผิด จะเชิญตัวแทนศาลมาให้ข้อสังเกตว่าทำไมคดีที่ให้รอลงอาญาหรือมีการชดใช้ให้กับผู้เสียชีวิตแล้ว คดีนั้นจึงหายไป เพราะหากเป็นเช่นนั้นผู้กระทำผิดก็จะไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

3.รมว.คมนาคม ควรสั่งการให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ดำเนินการออกกฎหมายแยกประเภทใบขับขี่เฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ หรือบิ๊กไบค์ออกเป็นอีกประเภทหนึ่ง

4.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องดำเนินคดีนี้ด้วยความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ควรสั่งการให้มีการใช้กฎหมายจราจรทางบกที่เกี่ยวข้องกับทางม้าลายที่มีหลายมาตราอย่างเคร่งครัดและขอให้เพิ่มการตัดแต้มใบขับขี่ที่สร้างความไม่ปลอดภัยกับประชาชนที่ใช้ทางม้าลาย

5.กรุงเทพมหานคร ควรติดตั้งสัญญาณไฟ เส้นจราจร ป้ายจราจรจำกัดความเร็ว เพื่อเพิ่มการเตือนแก่ผู้ใช้รถ และควรแก้ไข พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 43 มาตรา 46 และมาตรา 47 ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีจราจร ที่อยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมายของสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายทั้งระบบ

ส่วนกลุ่มเพื่อนหมอกระต่าย นำโดยหมอเจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์ ร่วมกันทำแคมเปญ #ทางกระต่าย เพื่อเรียกร้องกฎหมายทางม้าลายต้องปลอดภัย โดยจะรวบรวมรายชื่อผ่านทางเว็บไซต์ https://www.change.org/rabbitcrossing นำไปใช้ขับเคลื่อน social movement และสนับสนุนกฎหมายจราจร การปรับปรุงทางม้าลาย และ traffic engineer ในอนาคต

แนวทางทั้งหมดนี้จะต้องอาศัยการเอาจริงเอาจังของรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ต้องมีการสูญเสียเช่นนี้อีก และสิ่งสำคัญคือทางม้าลายต้องปลอดภัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image