ท้องถิ่น, เอกชนและการจัดการขยะ

ท้องถิ่น, เอกชนและการจัดการขยะ

ท้องถิ่น, เอกชนและการจัดการขยะ

เมื่อกล่าวถึงการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในกิจการของท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านการจัดการขยะ คงต้องย้อนความไปถึงปี 2557 ที่รัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดมาตรการที่เรียกว่า “Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย” หนึ่งในมาตรการเหล่านั้นคือการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยระบุว่า “ส่งเสริมภาคเอกชนลงทุน หรือดําเนินงานระบบเก็บรวบรวม ขนส่ง และกําจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย”

ปัจจุบันท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยจัดจ้างเอกชนเพื่อดำเนินการเก็บรวบรวมและขนส่งขยะด้วยสัญญาจ้างรายปี หรือสัญญาที่มีระยะเวลามากกว่าหนึ่งปี ซึ่งขึ้นกับเงื่อนไขและขอบเขตของงานที่เอกชนรับผิดชอบตั้งแต่การจัดหาแรงงานเก็บขนไปจนถึงการลงทุนจัดหารถเก็บขนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง โดยทั่วไปท้องถิ่นจะแบ่งพื้นที่เก็บขนและจัดจ้างเอกชนมากกว่าหนึ่งรายรับผิดชอบแต่ละพื้นที่ โดยท้องถิ่นมักแบ่งพื้นที่ตามการแบ่งเขตเลือกตั้ง แม้จะมีบางท้องถิ่นจัดจ้างเอกชนรายเดียวแต่จะสงวนพื้นที่บางส่วนไว้ดำเนินการเอง เพื่อให้ท้องถิ่นยังคงมีกำลังคนและเครื่องจักรที่พร้อมในการเก็บขนเป็นการลดความเสี่ยงในกรณีที่เอกชนประสบปัญหาติดขัดไม่สามารถดำเนินการตามสัญญา

สำหรับการมีส่วนร่วมของเอกชนในระบบกำจัดขยะที่มีความซับซ้อนมากกว่าการเก็บขนเพราะเกี่ยวข้องทั้งข้อกฎหมาย การบริหารจัดการ เทคโนโลยีและการวิเคราะห์ทางการเงิน ด้วยเหตุนี้ท้องถิ่นจึงต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอย่างละเอียด (พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560 กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการซึ่งในกรณีนี้คือท้องถิ่นต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโดยละเอียด) เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการที่ต้องการพัฒนาจะสามารถตอบสนองความต้องการและเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นได้จริงๆ ท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องมีที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานความเป็นไปได้ของโครงการที่ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ได้แก่ การประเมินสถานการณ์และปัญหาของท้องถิ่น หรือกลุ่มท้องถิ่นในกรณีที่เป็นโครงการของกลุ่มท้องถิ่นที่เรียกว่า Cluster การวิเคราะห์ขนาดของโครงการ หรือปริมาณขยะที่คาดว่าจะเข้าสู่โครงการ เปรียบเทียบวิธีการและเทคโนโลยีที่ใช้ในการกำจัดขยะ การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงิน/เศรษฐศาสตร์ของโครงการ และที่สำคัญคือการพิจารณาความเหมาะสมของสถานที่ตั้งโครงการทั้งด้านกายภาพและการยอมรับของชุมชน สุดท้ายจึงเป็นการพิจารณาทางเลือกในการลงทุนหรือพัฒนาโครงการ ซึ่งท้องถิ่นมีทางเลือกที่จะลงทุนเองด้วยการใช้งบประมาณที่มีอยู่หรือการกู้ยืม หรือของบประมาณสนับสนุนผ่านแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด หรือการให้เอกชนลงทุนและดำเนินการ

Advertisement

รายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการมีความสำคัญ มีสถานะเสมือนขั้นตอนแรกของการพัฒนาโครงการและยังเป็นรายงานที่ต้องใช้อ้างอิงในขั้นตอนอื่นๆ จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้น เพื่อให้การศึกษานี้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น ขอบเขตของการศึกษาจึงไม่ควรจำกัดอยู่เพียงความเป็นไปได้ของระบบกำจัดขยะเท่านั้น แต่ควรครอบคลุมระบบการจัดการขยะของท้องถิ่นหรือของกลุ่มท้องถิ่นด้วย ซึ่งหมายถึงการคาดการณ์ปริมาณขยะและองค์ประกอบของขยะในอนาคต ระบบการเก็บขนในพื้นที่และการบริหารจัดการสถานีขนถ่ายของกลุ่มท้องถิ่น ในกรณีที่ต้องจัดให้มี และอัตราค่ากำจัดขยะที่ท้องถิ่นสามารถจะจ่ายได้ เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มีความสัมพันธ์ต่อระบบกำจัดทั้งสิ้นไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีหรือเทคโนโลยีใด การศึกษาที่ครอบคลุมการจัดการทั้งระบบนี้ก็คือการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการขยะของท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่นนั่นเอง

เมื่อท้องถิ่นเห็นความสำคัญของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการซึ่งอาจรวมประเด็นการจัดการขยะทั้งระบบของท้องถิ่นเองหรือของกลุ่มท้องถิ่น ดังนั้น หากต้องการให้ได้ผลการศึกษาที่สมบูรณ์สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาโครงการได้จริง ผลของการศึกษาไม่เป็นเพียงเอกสารเพื่อของบประมาณหรือขออนุมัติโครงการ ท้องถิ่นควรให้ความสำคัญกับการเลือกที่ปรึกษาโดยพิจารณาจากผลงานของที่ปรึกษาและคุณสมบัติของบุคลากรที่สอดคล้องกับขอบเขตและความต้องการของงาน

การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนจะเป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งที่ปรึกษาจะเสนอเป็นทางเลือกในการลงทุนในกรณีที่ขนาดของโครงการมีความเหมาะสมและให้ผลตอบแทนทางการเงินที่ดี ย้อนไปในปี 2550 รัฐบาลกำหนดนโยบายสนับสนุนให้ท้องถิ่นใช้วิธีการ/เทคโนโลยีกำจัดขยะที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ด้วยการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าในอัตราพิเศษที่เรียกว่า Adders จากข้อมูลต้นทุนในการลงทุนและการเดินระบบในเวลานั้น โครงการกำจัดขยะด้วยการเผาและผลิตพลังงานไฟฟ้าที่จะให้เอกชนมีส่วนร่วมควรมีปริมาณขยะรายวันเข้าสู่โครงการไม่น้อยกว่า 400 ตัน และท้องถิ่นยอมที่จะจ่ายค่ากำจัดขยะตันละ 400 บาท รัฐจะรับซื้อพลังงานไฟฟ้าในอัตราพิเศษเพิ่มจากอัตรารับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ 3.50 บาทต่อหน่วย ทำให้โครงการมีระยะคุ้มทุนประมาณ 7 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาของการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าด้วยอัตราพิเศษ Adders นั่นเอง ปัจจุบันอัตราการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าแบบ Adders ถูกปรับเปลี่ยนเป็นอัตรารับซื้อแบบ Feed in Tariff ที่สนับสนุนตลอดอายุโครงการ ผลตอบแทนที่ได้จากการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าทำให้โครงการมีความคุ้มทุนและสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการกำจัดขยะของท้องถิ่น เป็นการแบ่งเบาภาระในการจัดงบลงทุนของรัฐ แต่สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ในการกำจัดขยะของท้องถิ่น

Advertisement

งานของที่ปรึกษาในการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ กรณีที่โครงการมีความเหมาะสมสำหรับการลงทุนโดยเอกชน นอกจากการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการลงทุนของเอกชนแล้ว ที่ปรึกษาต้องให้ความสำคัญในการศึกษาขอบเขตของงานให้รอบครบ ครบถ้วน พิจารณาเลือกวิธีการและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความมั่นคงและความยั่งยืนของระบบกำจัดขยะที่ท้องถิ่นจะได้รับจากการลงทุนของเอกชน ตลอดจนการให้ข้อเสนอแนะถึงแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างท้องถิ่นและเอกชนภายใต้กติกาหรือสัญญาอย่างน้อย 20 ปี

ผลการศึกษาของที่ปรึกษาที่ทำงานด้วยหลักวิชาการอย่างแม่นยำ โปร่งใส ช่วยให้ท้องถิ่นสามารถพัฒนาการจัดการขยะทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนและดำเนินการเอง หรือการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image