จีน-รัสเซีย เสมือนพันธมิตร

จีน-รัสเซีย เสมือนพันธมิตร ท่ามกลางภาวะวิกฤตโควิดระบาดทั่วโลก

ท่ามกลางภาวะวิกฤตโควิดระบาดทั่วโลก แม้จะเกิดปัญหาระหว่างประเทศ แต่สังคมโลกก็มิได้เพิกเฉย กลับให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน เช่น ปัญหายูเครน สหรัฐและพันธมิตรยุโรปร่วมทำการปกป้องยูเครน ในขณะที่รัสเซียส่งทหารเข้ายูเครน

ท่ามกลางบรรยากาศขมุกขมัวที่แนวชายแดนยูเครน ประธานาธิบดีปูติน ได้เข้าพบ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ณ กรุงปักกิ่ง ผู้นำสูงสุดของทั้งสองมหาอำนาจได้ประชุมกันแบบทวิภาคี จากแถลงการณ์ร่วม เป็นที่ประจักษ์ว่า จีนและรัสเซียได้มีการร่วมมือกันในเชิง “เสมือนพันธมิตร” (Quasi-alliance) เพื่อต่อต้านสหรัฐ

หากย้อนมองอดีต 40 ปีก่อน สหรัฐชักชวนจีนร่วมกันต่อต้านสหภาพโซเวียต

ทว่าปัจจุบัน รัสเซียชักชวนจีนร่วมกันต่อต้านสหรัฐ

Advertisement

กรณีเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า จีน-รัสเซียยากที่จะเป็นพันธมิตร

กรณีเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์บังคับให้จีน-สหรัฐจำต้องพักการเป็นศัตรูชั่วคราว

อันแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีนกับรัสเซียนั้น สังคมโลกได้โฟกัสไปในประเด็นที่จีนสนับสนุนรัสเซีย อันเกี่ยวกับการคัดค้านต่อต้านการขยายอาณาจักรขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนด์ติกเหนือ (NATO) และในทำนองเดียวกัน รัสเซียได้ตอบแทนจีนด้วยการร่วมมือคัดค้านสัญญาความมั่นคงไตรภาคีระหว่างประเทศออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ (AUKUS)

Advertisement

ท่ามกลางบรรยากาศสงครามเย็นที่กำลังปรากฏรางๆ รัสเซียและจีนต่างให้การสนับสนุนในด้านการทหารซึ่งกัน ทั้งนี้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์หลักของทั้งสองประเทศ

จึงเป็นเหตุให้สังคมพรรณนาว่า จีน-รัสเซียถือว่า “เสมือนพันธมิตร”

แม้ว่าแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีน-รัสเซียระบุว่า ความเป็นมิตรของสองประเทศไม่มีพรมแดน

ความร่วมมือของสองประเทศไม่มีขอบเขตก็ตาม แต่สังคมก็มิได้มองเป็นอื่น

แม้รูปแบบความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นทางการทหาร ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ล้วนได้ล้ำหน้ากว่าสมัยสงครามเย็นไปมากแล้ว

แม้ความสัมพันธ์จีน-รัสเซียจะถูกโลกมองว่าเข้าทำนอง “เสมือนพันธมิตร”

แต่ต้องไม่ลืมว่า ประเทศจีนธำรงไว้ซึ่งนโยบายต่างประเทศในรูปแบบไม่เป็นพันธมิตรมาตลอด

ฉะนั้น คำกล่าวที่ว่า ความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย “เสมือนพันธมิตร” นั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ร่วมยังได้ระบุชัดเจนว่า การร่วมมือทางยุทธศาสตร์มิใช่เพื่อวัตถุประสงค์ในการต่อต้านประเทศที่ 3 แต่ในเวลาเดียวกันก็ได้คัดค้านลัทธิฝ่ายเดียวของสหรัฐ และเตือนว่า วินัยทางการเมืองระหว่างประเทศควรต้องอยู่ในกรอบที่สหประชาชาติกำหนดไว้

ฉะนั้น จึงควรตัดประเด็นพันธมิตรจีน-รัสเซีย อันอาจเป็นเหตุให้เกิดการแบ่งค่ายแยกขั้ว เพราะจีนต้องใช้เวลาอีกนานในการรังสรรค์สันติสุขให้เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธมิได้ว่าความสัมพันธ์จีน-รัสเซียพัฒนาถึงจุดสูงสุดของประวัติศาสตร์

นอกจากประจักษ์ในแถลงการณ์ร่วม การเยือนจีนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีปูตินครั้งนี้ ยังได้ลงนามในสัญญาข้อตกลงรวม 20 รายการ ทั้งนี้ หมายความรวมถึงเพิ่มปริมาณส่งออกมาจีนซึ่งได้แก่ทรัพยากรธรรมชาติและน้ำมันดิบ พร้อมกับให้คำมั่นจะต้องเพิ่มดุลการค้าของสองประเทศจาก 1.4 แสนล้านดอลลาร์ ให้เป็น 2 แสนล้านดอลลาร์ภายในเวลา 2 ปี

กรณีนี้ย่อมเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การส่งออกซึ่งทรัพยากรธรรมชาติเป็นรายได้หลักทางเศรษฐกิจของรัสเซีย ซึ่งเป็นการให้จีนช่วยเหลือมากขึ้น อีกประการหนึ่งจีนนำเข้าซึ่งน้ำมันดิบจากรัสเซียก็ได้เพิ่มขึ้น 10% จากจำนวนการนำเข้าทั้งหมด สรุปโดยรวม ทั้งสองประเทศต่างพึ่งพาอาศัยกัน ในทำนองน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ซึ่งเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ไปโดยปริยาย

การที่จีนยกระดับความสัมพันธ์กับรัสเซีย มิใช่หมายความว่าจะตีจากสหรัฐและสหภาพยุโรป

เพราะว่าสหภาพยุโรปและสหรัฐคือคู่ค้าของจีนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ มูลค่าทางการค้ากับสหภาพยุโรปคือ 8.5 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่สหรัฐ 5.945 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับรัสเซียซึ่งได้เพียง 2 แสนล้านดอลลาร์ ทิ้งกันมองไม่เห็นฝุ่น

ดังนั้น จีนย่อมไม่ทิ้งผลประโยชน์ก้อนโตจากสหภาพยุโรป และสหรัฐอย่างแน่นอน

อันแถลงการณ์ร่วมจีน-รัสเซียมีนัยครอบคลุมถึงการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม ตลอดจนอวกาศ เป็นต้น ซึ่งมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ โดยยึดหลักประชาธิปไตย การพัฒนา ความมั่นคง และวินัยสากล โดยให้ถือเป็นจุดยืนร่วมกัน

หากพิเคราะห์จากมูลเหตุทางการเมืองจนถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเจือสมกัน สามารถประจักษ์ถึงเค้าโครงของพิมพ์เขียวแห่งความร่วมมือชนิดครอบคลุมระหว่างจีนและรัสเซีย แต่จะบรรลุวัตถุประสงค์ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

แต่ประเด็นที่ชวนให้น่าวินิจฉัยก็คือ หากมองในแง่การทูต สัญลักษณ์ของรัสเซียคือ “นกอินทรีย์สองหัว”ว่ากันว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายต่างประเทศ เมื่อประสบพบพานปัญหากับประเทศตะวันตก รัสเซียก็หันมาคบกับประเทศตะวันออก หากมองในแง่วัฒนธรรม รัสเซียคือประเทศตะวันตก อย่างไรก็ตาม เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ ฉะนั้น การที่รัสเซียจะคบกับตะวันออกและทอดทิ้งตะวันตกอย่างเป็นนิรันดร์ จึงไม่อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมเหตุการณ์สหภาพโซเวียตล่มสลาย ก็เพราะน้ำมือสหรัฐร่วมกับจีน

ณ วันนี้ สหรัฐจะเลือกเดินทางใด ยังยากแก่การหยั่งทราบ แต่จากเหตุการณ์ปัจจุบันพอจะอนุมานได้ว่า สหรัฐคงต้องชะลอฝีก้าวการสกัดจีน คือพักการเป็นศัตรูชั่วคราว เพราะจะต้องกำจัดฝ่ายที่คุกคามก่อนคือรัสเซีย เพราะรัสเซียวันนี้ถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีอิทธิพลมากล้น และสามารถทำลายยุโรปได้อย่างฉับพลันทันใด หากมองในระยะยาว ประเทศที่ถูกมองว่าคุกคามสหรัฐอย่างแท้จริงก็คือจีน และน่าเชื่อว่า ความขัดแย้งคงจะต้องดำรงอยู่ตราบนานเท่านาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image