แก้ปัญหาด้วยการมี‘สติ’ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

หากเราติดตามข่าวสารจากหลากสื่อ หลายสำนักในช่วงที่ผ่าน “วิกฤตโควิด-19” ทำลายล้าง “ชีวิตคน” ผลกระทบยังลุกลาม นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสังคม การเมือง เทคโนโลยี

ปัญหาที่น่าสลดใจ คือ การหาทางออก หรือจบปัญหาด้วยการฆ่าตัวตายในรูปแบบต่างๆ

มีนักวิชาการ จิตแพทย์ เสนอแนวทางแก้ไขตามหลักทางวิชาการและความถนัดที่ได้ร่ำเรียนมา รวมทั้งประสบการณ์

ในทรรศนะของผู้เขียน เห็นว่าการใช้ “พุทธวิธี” น่าจะเป็นอีกเครื่องมือ ที่จะช่วยบรรเทา กล่อมเกลาจิตใจคนได้เป็นอย่างดี ทั้งในยามก่อนเกิดปัญหา กำลังมีปัญหา หลังเกิดปัญหา เพื่อนำไปสู่การควบคุมป้องกัน และแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

Advertisement

การที่คนเราหาทางออกจบปัญหาด้วยการฆ่า “ตัวตาย” เป็นลางร้ายของสังคมอย่างหนึ่ง ประเด็นที่สำคัญ คือ ทำไมชีวิตของผู้คนในสังคมจึงคิดที่จะหนีปัญหาโดยการทำร้ายตัวเอง มันเป็นการบอกถึงเหตุการณ์ดำเนินชีวิต “ของเรา” หรือ “ของผู้คน” ในสังคมต้องมีอะไรผิดปกติ

ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูกล่อมเกลาในครอบครัว

ระบบการศึกษาหรือค่านิยมในการเป็นอยู่ในสังคม

Advertisement

ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เราไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ต่อการกระทำสิ่งที่มันเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนแล้ว วิถีชีวิตแห่งการเป็นอยู่ที่ “ไม่มีหิริโอตัปปะ” ความละอาย ความเกรงกลัวต่อ “บาปกรรม” มันก็จะลามปามถึงขั้นที่เรียกว่า แม้แต่ชีวิตที่พ่อแม่ให้เราได้มาก็ยังทำลายได้ลงคอ เราคิดว่าการตาย ก็คือการจบเรื่องราวทั้งหลายที่เราอยากจะหนีมัน แต่จริงๆ แล้ว มันก็คือ การเปิดประตูไปสู่การเดินทางที่จะทำให้เราเองจะกลับมาแก้ตัวอีกได้ยากมากทีเดียว

การตายไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด

การตายไม่ใช่หนทางแห่งการหลีกหนีที่ดีที่สุด

เราจึงต้องกลับมาทบทวนการใช้ชีวิต “ของเรา” ให้อยู่บนวิถี “แห่งการพัฒนาสติปัญญา” หรือ “วิถีชีวิตแห่งการภาวนา” กันมากขึ้น

ถ้าจะเปรียบเทียบเหมือนกับคนที่กำลังเดินทางบนเส้นทางที่เรากำลังเดินนั้น จะต้องมีอุปสรรค หรือมีสิ่งกีดขวางบ้าง แต่คนที่เดินจะต้องมีความตระหนักรู้ หรือมีความรู้ตัวทั้งพร้อมเท่าทันปัจจุบันทุกขณะ ซึ่งก็จะรู้ว่าเราสามารถเดินผ่านสิ่งกีดขวางในเส้นทางที่กำลังเดินนั้นได้อย่างไร เราจะไม่เดินเหมือน “คนบ้า” ที่จะเก็บทุกอย่างที่อยู่บนเส้นทางนั้น แล้วเอามาแบกใส่หลังไว้จนหนักอึ้ง แต่จะผ่านสิ่งกีดขวางไปอย่างคนที่เรียนรู้กับมัน แล้วก็ระมัดระวังย่างก้าวต่อไป อย่างคนที่จะกระทำเหตุด้วยความไม่ประมาท เราก็จะเดินทางถึงเป้าหมายที่เราต้องการ จะไปถึงได้อย่างคนที่เบาและเป็นอิสระ

แต่ถ้าหากเราเป็นคนที่เก็บทุกสิ่งทุกอย่างบนหนทางนั้น ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น เรายึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นของของเรา แล้วเราก็เก็บใส่ถุงที่เราแบกไว้ไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่ง ชิ้นสุดท้ายที่เรารู้สึกว่ามันหนักมากจนเราแบกไม่ไหวแล้ว เราก็จะตัดสินใจที่จะทิ้งชีวิตของเราไป แต่ในทุกๆ ชิ้นที่ผ่านมาที่เราเก็บสะสมมันมีน้ำหนักของมัน มันสำคัญทุกชิ้น ถ้าเผื่อเราระมัดระวังการใช้ชีวิตของเราอย่างคนที่ไม่เก็บมัน “เรียนรู้ว่ามันมีอะไรขวางอยู่ เราจะผ่านมันได้อย่างไร? แล้วเราไม่สะสมมัน ไม่แบกมันใส่หลังของเราไว้” เราก็จะสามารถเดินต่อไปอย่างคนที่ไม่หนัก อย่างคนที่มีชีวิตเป็นอิสระจากสิ่งกีดขวางนั้น ถ้าเราอยากคิดจะควบคุมป้องกันปัญหา แรกสุด คือ เราต้องป้องกัน “ตัวเรา” ไม่ให้เป็นบุคคลที่จะเก็บอารมณ์ข้างนอกมาเป็นจริงเป็นจัง เราต้องพัฒนาความ “ตระหนักรู้” หรือ “ความรู้เท่าทัน” (สติ) ปัจจุบันขณะว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นสิ่งที่เราสามารถจะมองเห็นตัวมันตามความเป็นจริงของธรรมชาติที่มันเป็นเพียงสภาวะ “แห่งการเกิด ดับ เท่านั้น” เรื่องนี้ต้องหมั่นฝึกฝนให้ดี

ฉะนั้น “พุทธวิธี” การใช้ชีวิตที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาก็คือ การทำใจที่จะดำรงชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ คือ เราต้องรู้เท่าทันสิ่งที่กำลังเห็น รู้เท่าทันสิ่งที่เราได้ยิน รู้เท่าทันสิ่งที่เรากำลังลิ้มรส รู้เท่าทันสิ่งที่เรากำลังได้กลิ่น รู้เท่าทันสิ่งที่เรากำลังสัมผัสนั้น รู้เท่าทันอารมณ์ภายนอกที่มากระทบ “ใจ” ของเรา จนเราเห็นเสียแล้วว่ามันเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็เปลี่ยนแปลง เราจะไม่ยึดถือว่าสิ่งนั้นไม่เปลี่ยนแปลง แต่เราจะรู้ว่าทุกสิ่งที่เรากำลังกระทบอยู่นั้นก็มีความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ มันมีความรู้สึก สุข ทุกข์ แต่ทั้งสุขและทุกข์นั้นก็เปลี่ยนแปลง “หลวงปู่ชา” ท่านพูดว่า “ทุกข์ สุข มีค่าเท่ากัน” เพราะมันเปลี่ยนแปลงทั้งคู่ เรารู้ว่าการที่จะเข้าไปยึดถือ “ความสุข ความทุกข์” มันจะนำมาซึ่ง “ความหนัก” อันนี้ก็จะทำให้เรามีชีวิตที่รอดพ้นจากปัญหาได้ การดำเนินชีวิตอยู่อย่างนี้ คือ รู้เท่าทันปัจจุบันขณะ รู้เท่าทันการกระทบทุกครั้งว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันจะรู้สึกชอบไม่ชอบ รู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกอะไรก็ตาม แต่ในความรู้สึกนั้นมันเป็นสิ่งที่จะไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นเป็นจริงเป็นจัง ถ้าอย่างนี้ ชีวิตของเราก็ผ่านอุปสรรคต่างๆ ที่อยู่บนหนทางแห่งการเดินทางที่เราเลือกนั้น อย่างคนที่ไม่แบกเอาไว้ไม่หนักอึ้ง ชีวิตของเราก็ไม่ไร้แก่นสาร แต่ชีวิตของเราจะเข้มแข็ง แข็งแรงขึ้น และดำเนินต่อไปอย่างคล่องแคล่วว่องไว ไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างงดงาม เพราะขยันขันแข็ง รู้จักทำหน้าที่ และเป็นจริงจากความยึดมั่นถือมั่น ระหว่างการเดินทางก็ “ไม่ตายทั้งเป็น” ด้วย

กรณีตัวอย่าง : เกิดมาแล้วมีความรู้สึกไม่ตรงกับเพศของตัวเอง มีนิสัยพูดตรงไปตรงมา มีกริยากระโดกกระเดก ทุกข์เหลือเกินที่คนชอบตัดสินว่า “หยาบคาย” และถูกมองไม่เป็นธรรม เป็นต้น

กล่าวได้ว่า มนุษย์มีศักยภาพสูงที่เกิดมาแล้วสามารถพัฒนาตัวเองได้ เข้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วยการพึ่งตัวเอง ไม่ว่าจะรู้สึกเป็นเพศไหนก็ตาม การพูดตรงไปตรงมาเป็นสิ่งที่ดี ถ้ามีความจริงใจ ดีกว่าพูดเสแสร้ง กริยากระโดกกระเดกก็ฝึกหัดขัดเกลาได้ อย่าทุกข์ว่าความชอบทำของคนอื่นเลย จงมองกลับเข้าไปในตัวเองของเราที่กำลังทุกข์อยู่ว่ามันไร้สาระอย่างไร ถ้าคุณปล่อยให้มันทุกข์ยาวนานออกไป แม้ขณะจิตเดียวนี้จะเป็นมุมมองที่เป็นธรรมกับตัวคุณเอง อย่าแสวงหาความชอบธรรมจากคนอื่นเลย

การอยู่อย่าง “มีสติ” แต่ละขณะนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคุณ ชีวิตนี้ มีแต่ขณะแห่งความเยือกเย็น

“คุณค่า” ของคนอยู่ที่การ “กระทำ” “กรรม” แปลว่า “การกระทำ” เราต้องเชื่อในกฎแห่งการกระทำซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติ เพราะความเป็นสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น กรรมในอดีตของคุณ คุณอาจจะทำอะไรผิดในศีลข้อ กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี จึงทำให้มีผลกรรมอย่างปัจจุบันนี้ แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากรรมในปัจจุบันว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ ถ้าตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของคุณ กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แล้วใจคุณมี “ตัณหา” เข้าครอบงำคุณก็จะทุกข์ เพราะได้เห็น ได้ยิน ได้ดมกลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสทางกายและใจ จงอยู่กับการกระทำในปัจจุบันอย่างมีสติเถิด แล้วรักษาจิตให้เป็นกุศลไว้ คุณจะมี “กรรมใหม่” ดีกว่ากรรมเก่าได้แน่นอน ไม่ว่าคุณเกิดมาแล้วมีความรู้สึกไม่ตรงกับเพศของคุณก็ตาม ขอให้มีสติ-ปัญญาในการดำรงชีวิต เรื่องของ สติ-ปัญญาไม่มีเพศ ไม่มีชนชั้น ไม่มีวรรณะ ไม่มีรวย ไม่มีจน ของให้มั่นใจ แล้วคุณจะไม่เป็นคนตายทั้งเป็น ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image