สะพานแห่งกาลเวลา : ‘พิลล์แคม’ กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-medtronic)

สะพานแห่งกาลเวลา : ‘พิลล์แคม’ กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีข่าวคราวเกี่ยวกับกรรมวิธีใหม่ล่าสุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการตรวจสอบเพื่อวินิจฉัยมะเร็งในลำไส้ ภายใต้โครงการที่เรียกว่า “สก๊อตแคป” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสก๊อตแลนด์

ตามรายงานข่าวบอกว่า มีชาวสก๊อตมากกว่า 2,000 ราย ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ โดยใช้เทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัยล่าสุดที่เรียกว่า “โคลอน แคปซูล เอ็นโดสโคปี” (colon capsule endoscopy-CCE) ด้วยอุปกรณ์สำคัญที่เรียกว่า “พิลล์แคม” (PillCam)

พิลล์แคม มีขนาดเท่ากับเม็ดยารูปแคปซูล ภายในบรรจุกล้องถ่ายวิดีโอขนาดเล็กเอาไว้ เมื่อต้องการตรวจวินิจฉัย ผู้ใช้ก็กลืนแคปซูลที่ว่านี้เข้าไปสู่ระบบทางเดินอาหาร กล้องในแคปซูลก็จะทำหน้าที่ถ่ายภาพวิดีโอภายในช่องท้องของเรา 50,000 ภาพ ในอัตรา 2-6 เฟรมต่อวินาที ภาพที่ได้จะถูกส่งผ่านแบบไร้สายมายังอุปกรณ์ภายนอกที่ผู้ป่วยจะคาดไว้บริเวณเอว ซึ่งสามารถจัดเก็บข้อมูลภาพดังกล่าวเอาไว้สำหรับนำไปให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยต่อไป

เมื่อกระบวนการถ่ายภาพในช่องท้องและลำไส้แล้วเสร็จ พิลล์แคม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ใช้ครั้งเดียว ก็จะถูกขับถ่ายออกมาพร้อมกับของเสีย และทิ้งไปในระบบบำบัดนั่นเอง

Advertisement

กระบวนการดังกล่าวแล้วเสร็จภายในวันเดียว และไม่มีการล่วงล้ำเข้าไปภายในร่างกายของผู้ป่วย ไม่เจ็บปวด ไม่ต้องวางยา ซึ่งต่างกันอย่างมากกับการตรวจวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องแต่เดิมที่ใช้กันอยู่ก่อนหน้านี้ ที่จำเป็นต้องมีการวางยาเพื่อป้องกันการเจ็บปวดในขณะที่สอดกล้องเข้าไปในร่างกาย แม้ว่าทั้งการใช้การส่องกล้องและพิลล์แคม ผู้ป่วยจำเป็นต้องทานยาระบายเพื่อเตรียมลำไส้เหมือนกันก็ตามที

พิลล์แคม คิดค้นและพัฒนาโดย ดร.กาบี อิดแดน วิศวกรไฟฟ้าเชิงแสง ในสังกัด สำนักงานอุตสาหกรรมทหารแห่งอิสราเอล (ไอเอ็มไอ) ที่ได้แนวความคิดเริ่มต้นจากการสนทนากับ ไอแทน คาร์ปา อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน ผสมผสานกับแนวคิดด้านการทหาร ว่าด้วยการมุ่งพัฒนาขีปนาวุธให้มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ในขณะที่ยังคงประสิทธิภาพเท่าเดิม หรือดีขึ้นกว่าเดิม

ดร.อิดแดน เริ่มพัฒนาพิลล์แคมเป็นโครงการคู่ขนานกับภารกิจในขณะที่ประจำอยู่กับไอเอ็มไอ ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะออกมาก่อตั้งบริษัทชื่อ กีฟเฟน อิเมจจิง เพื่อพัฒนาอุปกรณ์นี้โดยเฉพาะ

Advertisement

ดร.อิดแดน เริ่มคิดค้นพิลล์แคมมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 แต่กว่าเทคโนโลยีจะเอื้อให้แนวคิดนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจริงๆ ก็ต้องรอจนถึงปลายทศวรรษ 1990 เมื่อกล้องวิดีโอมีขนาดเล็กลงจนสามารถบรรจุไว้ในแคปซูลได้ และสามารถส่งผ่านข้อมูลแบบไร้สาย รวมทั้งราคาถูกลงจนมีความเป็นไปได้นั่นเอง

พิลล์แคมรุ่นแรกสุดที่ ดร.อิดแดนพัฒนาขึ้นนั้น แล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2000 พอถึงปี 2001 ก็ได้รับอนุญาตจากสำนักงานอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของอิสราเอล ให้ใช้กับผู้ป่วยได้

หนังสือพิมพ์ เดอะ ไทม์ส ออฟ อิสราเอล ระบุว่า ในตอนนั้น มีผู้ป่วยไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนได้รับการตรวจวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ ด้วยพิลล์แคมนี้

บริษัทโควิเดียนซึ่งเป็นบริษัทผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพระดับโลกที่มีสำนักงานใหญ่ในไอร์แลนด์ซื้อกิจการของบริษัท กีฟเฟน อิเมจจิง ไปเมื่อปี 2013 ด้วยมูลค่า 860 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่ เมดโทรนิค บริษัทด้านการแพทย์จากมินนีอาโพลิส สหรัฐอเมริกาจะซื้อกิจการของโควิเดียนทั้งหมดไปในอีก 2 ปีต่อมา เมดโทรนิคจึงเป็นเจ้าของและผู้ผลิต พัฒนา และจำหน่ายพิลล์แคมในเวลานี้

แม้จะไม่ใช่เจ้าของพิลล์แคมอีกต่อไป แต่ ดร.กาบี อิดแดน ยังคงภาคภูมิใจในการคิดค้นและพัฒนาของตนเอง ที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จทางเทคโนโลยีของอิสราเอล และเป็นแบบอย่างให้สตาร์ตอัพอื่นๆ เจริญรอยตามต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image