ภาพเก่าเล่าตำนาน : อู นุ นายกรัฐมนตรีพม่า… เคยมาอยุธยา โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

วิชาประวัติศาสตร์ของเด็กไทยที่เรียน ต้องท่องจำกันเป็นแม่นมั่นเมื่อราว 50 กว่าปีที่แล้ว กำหนดให้ “พม่า คือ ศัตรูถาวร”

ชื่อ แม่ทัพพม่า ภูมิประเทศ เหตุการณ์ ต้องท่องให้ได้ เพื่อให้สอบผ่าน รวมทั้งเลขปี พ.ศ.2112 และ 2310 ที่กรุงศรีอยุธยาแตก 2 ครั้ง

เยาวชนไทยค่อนข้าง “แม่นยำ” กับศึกสงครามกับพม่า ในช่วงอยุธยา และยุคต้นรัตนโกสินทร์

พ.ศ.2380 อังกฤษรบชนะพม่า…พม่าตกเป็นอาณานิคมโดยสมบูรณ์ (ตรงกับช่วงปลายสมัยในหลวง ร.3)

ADVERTISMENT

หลังจากนั้น ประวัติศาสตร์ของพม่า “ขาดตอน” ไม่มีเรื่องราวของบุคคล เหตุการณ์ในพม่าที่คนไทยได้รับในบทเรียน

เหมือนหนังขาดตอน…

ADVERTISMENT

ผู้เขียนขอมา “เติมคำในช่องว่าง” ช่วงที่ประเทศพม่าหายไปจากจอเรดาร์

เรื่องราวของพม่า…มาปรากฏให้คนไทยได้รับรู้อีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่อังกฤษมอบเอกราชให้พม่า

นายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่าชื่อ อู นุ

อู นุ เป็นใคร ?

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อู นุ เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง นักศึกษาตั้งกลุ่มกันเองเพื่อขอต่อสู้ ขอเป็นเอกราชจากอังกฤษ (มีเพื่อน ชื่อ ออง ซาน และเน วิน)

พ.ศ.2488 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษ หวนกลับเข้ามาปกครองพม่า ชาวพม่าต้องการเอกราช

กรกฎาคม 2490 ออง ซาน ที่เป็นผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่แตกแยกกันมาลงนามใน สัญญาปางโหลง เป็นผลสำเร็จ และดิ้นรนขอปลดปล่อยพม่าจากอังกฤษสำเร็จ

19 กรกฎาคม พ.ศ.2490 ออง ซาน ถูกสังหารโหด บงการโดยเพื่อนในกลุ่ม 30 สหาย ในขณะที่เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

พ.ศ.2490 พม่ามีรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก

4 มกราคม พ.ศ.2491 พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษอย่างเป็นทางการ หลังถูกปกครองอยู่ถึง 63 ปี

มีการเลือกตั้งในพม่า…อู นุ ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

ผ่านไป 10 ปี…กลุ่มชาติพันธุ์ลุกขึ้นทวงสัญญาปางโหลง เพื่อขอแยกเขตการปกครอง ขอปกครองตนเองตามที่สัญญาไว้

พ.ศ.2500 : อู นุ ประกาศปฏิเสธที่จะใช้ชนกลุ่มน้อยแยกตัวเป็นอิสระตามข้อตกลงปางโหลง เกิดกบฏชนกลุ่มน้อย มีสงครามยืดเยื้อยาวนาน

แผ่นดินพม่าที่อุดมสมบูรณ์ เคยเป็นประเทศที่ส่งข้าวออกขายเป็นอันดับต้นของโลก …เคยแข่งขันกับไทยมาตลอด ทรุดหนัก

แผ่นดินพม่าระอุด้วยไฟสงคราม

เช้าวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2505 นายพลเนวินก่อรัฐประหาร เข้าปกครองพม่าแบบเผด็จการสังคมนิยม ขอปิดประเทศ

ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ขอยกเลิกสัญญาปางโหลง และแต่งตั้งสภาปฏิวัติ (Revolutionary Council) อันประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเป็นทหารทั้งหมดขึ้นมาบริหารประเทศโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ

นายพล เน วิน ที่เกลียดชาวต่างชาติ เชื่อมั่นว่าแผ่นดินพม่ามีข้าว มีน้ำ มีทรัพยากรธรรมชาติเหลือเฟือ…ข้าอยู่เองได้

นายพล เน วิน มีอำนาจสูงสุด ครองตำแหน่งยาวนาน พ.ศ.2505-2531 ให้ทหารเข้าดำรงตำแหน่งของพลเรือนเกือบทั้งหมดในทุกกระทรวง การสู้รบมิได้เบาบางลง เศรษฐกิจทรุดหนัก

ไม่มีการลงทุน ทหารเข้าควบคุมกิจกรรมทุกอย่างของประชาชน จากประเทศที่ส่งออกข้าวมากอันดับต้นของโลก กลายเป็นเพียงประเทศที่ผลิตข้าวได้เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น

เวลาที่ผ่านไป…เปลี่ยนแผ่นดินพม่าที่แสนอุดมสมบูรณ์ รุ่งเรือง ให้เป็น “ฤๅษีแห่งเอเชีย”

พม่าภายใต้ นายพล เน วิน แทบจะหายไปจากแผนที่โลก

นายพล เน วิน เป็นใคร ?

ชื่อเดิมคือ ชูหม่อง (Shu Muang) เกิดในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2454 มีเชื้อสาย จีน-พม่า เป็นช่วงที่พม่ากำลังต่อสู้เพื่อปลดแอกตัวเองจากอังกฤษ…

ช่วงเป็นหนุ่มนักศึกษา ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเข้าปกครองพม่า…(เน วิน เข้าร่วมกลุ่มกับ นายออง ซาน นายอู นุ) จัดตั้งกลุ่มลับ ทำงานกับกองทัพญี่ปุ่นขับไล่อังกฤษออกไปจากพม่า

สายลับญี่ปุ่น…ส่งกลุ่มเด็กหนุ่มชาวพม่า 30 คน ไปฝึกการรบในเกาะไหหลำ ฝึกเสร็จกลับมาแวะไทย มากรีดเลือดสาบานในกรุงเทพฯ ตั้งกลุ่ม 30 สหาย (Thirty Comrades) เพื่อขอเป็นเพื่อนตาย ไม่ทรยศต่อกัน ขอกอบกู้แผ่นดินพม่าให้เป็นเอกราช

เปลี่ยนชื่อเป็น เน วิน แปลว่า สดใสเหมือนดวงอาทิตย์

30 สหาย ออกจากกรุงเทพฯ กลับเข้าไปในพม่า จัดตั้งกองทัพ BIA (Burmese Independence Army) ยิ่งทำงานไป เพื่อนรัก 30 สหาย… ยิ่งร้าวฉานกัน

BIA กลับลำ… หักหลังญี่ปุ่น หันไปช่วยอังกฤษ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษชนะ… กลุ่ม 30 สหายได้ดี

ออง ซาน เพื่อนรัก ลาออกมาจากกองทัพ เข้าสู่สนามการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนเน วิน ขอเติบโตในกองทัพ

หลังยึดอำนาจ นายพล เน วิน ก่อตั้งพรรคการเมืองหนึ่งของตัวเองขึ้นมา มีชื่อว่า BSPP หรือ Burma Socialist Programme Party มีเป้าหมายทำให้พม่าเป็นรัฐสังคมนิยมที่มีการปกครองโดยพรรคเดียว

ต้นปี พ.ศ.2531 ประชาชนเริ่มก่อตัว แสดง สะสมพลัง

วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2531 ประชาชนลุกฮือขึ้นทั้งประเทศ ขับไล่นายพล เน วิน (เรียกว่าเหตุการณ์ 8:8:88)

รัฐบาล…มีคำสั่งให้สลายฝูงชน นายพล เน วิน ที่บงการอยู่เบื้องหลังสั่งว่า “ปืนไม่ได้มีไว้ยิงขึ้นฟ้า แต่จะยิงไปข้างหน้าเพื่อฆ่า”

เกิดการสังหารประชาชนอย่างบ้าคลั่ง…หากแต่ประชาชนพม่าสู้ยิบตา โดยการเผาที่ทำการของรัฐบาล ลอบสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐ

กองทัพพม่าทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจาก BSPP โดยทหารอีกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SLORC (State Law and Order Restoration Council) ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เน วิน อยู่เบื้องหลัง และยังมีอำนาจแฝงเร้น

กองทัพหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากันเข้ามาปกครองประเทศอีก

ขอตัดฉาก…ย้อนมาที่ความสัมพันธ์ ไทย-พม่า …ช่วงที่ นายกรัฐมนตรี อู นุ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับไทย ในฐานะเพื่อนบ้าน

บทความ ของ ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ที่ผู้เขียนขอนำมาถ่ายทอด…สะท้อนความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น…

…“ในสมัยนายกรัฐมนตรีอู นุ ซึ่งปกครองพม่าระหว่าง พ.ศ.2491-2501 และ พ.ศ.2503-2505 รัฐบาลพม่าแสดงออกถึงมิตรจิตมิตรใจกับไทยเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะว่าทั้งพม่าและไทยเป็นประเทศพุทธ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำไทยในเวลานั้นก็มี
นโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบชาตินิยมใกล้เคียงกับพม่า เรียกได้ว่าผู้นำทั้งสอง “คลิก” และ “มีเคมีต้องกัน …

…ตลอดทศวรรษ 1950 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่าดำเนินไปด้วยดี อู นุ พร้อมคณะ เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2498 ในฐานะอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

…ในการนี้ อู นุ ร้องขอให้ทางไทยพาคณะจากพม่าไปอยุธยา เข้าสักการะวัดต่างๆ ในอยุธยา รวมทั้งมอบเงินเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระมงคลบพิตรเป็นจำนวนเงิน 2 แสนบาท (ในขณะนั้นวิหารวัดมงคลบพิตรยังไม่มีหลังคาคลุมเหมือนในปัจจุบัน) และได้ทำพิธีเพื่อขอขมาที่กองทัพพม่าเมื่อเกือบ 2 ศตวรรษที่แล้ว ได้ยกทัพเข้าตีและเผากรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ อู นุ ยังได้นำต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่นำมาจากพม่าไปปลูกที่วิหารพระมงคลบพิตรและวัดพระศรีมหาธาตุ
(บางเขน) ด้วย

… ในปลายปีเดียวกันนั้น รัฐบาลอู นุ ทำเรื่องเชิญจอมพล ป. พร้อมท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม และคณะ ให้ไปเยือนพม่า จุดประสงค์หลักนอกจากเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองชาติแล้ว ยังไปเพื่อเป็นประธานเปิดการประชุมพิธีสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 14 ธันวาคม คณะของไทย ซึ่งนำโดยจอมพล ป. ประธานฝั่งฆราวาส และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ประธานฝั่งสงฆ์ เป็นตัวแทนนำมิตรภาพจากไทยไปมอบให้ประชาชน
ชาวพม่า…

ในการนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังได้มอบพระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ ที่มีความสูงถึง 205 ซม. ให้เป็นที่ระลึก และได้มอบเงิน 2 ส่วน ส่วนแรก (12,000 ปอนด์) เพื่อนำไปบำรุงกิจการสาธารณกุศลตามที่รัฐบาลพม่าเห็นสมควร และส่วนที่สอง (20,000 จ๊าด) เพื่อซื้อทองไปปิดพระเจดีย์ชเวดากอง…

นี่คือ ความแนบแน่นที่ 2 ฝ่าย ไทย-พม่า ต่างสร้างและทะนุถนอมกันมา ส่วนหนึ่งด้วยความเป็น “ชาวพุทธ” ด้วยกัน

บทความของ ผศ.ดร.ลลิตา ยังบรรยายต่อว่า…

… นรม. อู นุได้กล่าวในสุนทรพจน์ต้อนรับคณะจากไทยโดยเน้นว่าความสัมพันธ์ทางการทูตสมัยใหม่ระหว่างไทยกับพม่าควรเป็นไปในทิศทางบวก ทั้งๆ ที่เรา (ไทยกับพม่า) เคยมีรอยร้าวซึ่งกันและกันในประวัติศาสตร์-ความสัมพันธ์ในเชิงบวกและมิตรภาพที่ อู นุ มอบให้จอมพล ป. และคณะนั้น มีถึงขนาดที่รัฐบาลพม่าส่งเครื่องบินรบของตนเข้ามาคุ้มกันเครื่องบินของจอมพล ป. จากกรุงเทพฯไปจนถึงสนามบินที่ย่างกุ้ง และต้อนรับคณะจากไทยอย่างเอิกเกริก…

…หลังม่านไม้ไผ่ ผลที่ได้คือ กลยุทธ์ของ นายพล เน วิน มี อยู่ 2 ประการ คือ เพื่อสร้างระบบการปกครองแบบเสาหินของรัฐบาลภายใต้พรรคโครงการสังคมนิยมเมียนมา ในขณะเดียวกันก็เปิดฉากโจมตีอย่างเต็มที่ต่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในชนบท ชาวต่างชาติถูกไล่ออก เศรษฐกิจเป็นของกลาง ผู้นำทางการเมืองหลายร้อยคนถูกจำคุก…

นายพล เน วิน เป็นบุคคลที่เชื่อมั่น ยึดมั่นในไสยศาสตร์โหราศาสตร์

ไม่ว่าจะทำอะไร โดยเฉพาะการบริหารบ้านเมือง เรื่องส่วนตัว นายพลท่านนี้จะใช้ข้อมูลทางโหราศาสตร์เป็น “ตัวกำหนด”

เรื่องของ เวลา นาที ดวงดาว สี เลข คือ เรื่องใหญ่ที่สุด

นายพล เน วิน เคยสั่งจัดพิมพ์ธนบัตรใหม่ในราคา 45 และ 90 จ๊าด เพราะชอบเลข 90 ที่เป็นมงคลกับตัวเอง

เป็นระบบการเงิน เป็นตัวเลขที่แสนประหลาด

“เรื่องการจราจร” ในประเทศพม่าในยุคผู้นำเน วิน ก็เป็นเรื่องที่คุยกันสนุกตลอดกาลจนถึงปัจจุบัน

ประเทศพม่าในฐานะอาณานิคมของอังกฤษ ที่ขับรถเลนซ้าย และรถต้องเป็นพวงมาลัยขวา (แบบไทย)

อยู่มาวันหนึ่ง…รัฐบาลทหารพม่าสมัยนายพล เน วิน เกิดนึกหมั่นไส้อังกฤษ จึงสั่งเปลี่ยนระบบการจราจรให้เปลี่ยนไปวิ่งเลนขวาแบบยุโรป ในขณะที่รถในพม่าล้วนเป็นรถพวงมาลัยขวา

ทั้งประเทศ สับสนอลหม่าน ใช้เวลาหลายปีกว่าจะคุ้นชิน เกิดอุบัติเหตุทั้งประเทศ ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก….

ผู้เขียนขอเพิ่มเติมว่า….กองทัพเมียนมา มีอำนาจในการปกครองประเทศมายาวนาน มีการล้มล้าง มีความขัดแย้งกันเอง แต่ กฎเหล็กข้อ 1 ของเมียมา คือ ไม่ประหารให้ตาย เมื่อแพ้ เมื่อหมดอำนาจ จะถูกคุมตัวไว้ในบ้านตลอดไป (House Arrested)

นางออง ซาน ซูจี และนายพล อดีตผู้มีอำนาจทั้งหลาย เมื่อถูกโค่น หรือถูกเชิญให้ลงจากตำแหน่ง จะได้รับเกียรติให้ไป “กักบริเวณ” อยู่ที่บ้าน ห้ามยุ่งเกี่ยวกับทุกฝ่าย โดยมากจะถือศีล

นายพล เน วิน ก็เช่นกัน ถูกควบคุมตัวในบ้าน ใช้ชีวิตอย่างสงบ บ้านริมทะเลสาบในย่างกุ้ง …แต่ลูกหลานต้องโทษในหลายข้อหา

พ.ศ.2544 เขาปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนครั้งสุดท้าย โดยทำบุญ ถวายอาหารเพลพระภิกษุ 99 รูป ที่โรงแรมเซโดนา ย่างกุ้ง

เสียชีวิตอย่างสงบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2545 เมื่ออายุ 93 ปี

ส่วน อู นุ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538 เมื่ออายุ 87 ปี ในกรุงย่างกุ้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image