เดินหน้าชน : บทเรียนรั่วซ้ำซาก โดย นายด่าน

สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล ตลอดจนผลกระทบทางด้านการท่องเที่ยว กับเหตุท่อน้ำมันดิบรั่วไหลกลางทะเล จ.ระยอง เมื่อวันที่
25 มกราคม แสนกว่าลิตรจากการประเมินตัวเลขในช่วงแรก ก่อนที่บริษัท SPRC จะออกมายืนยันตัวเลขที่ 47,000 ลิตร

ห่างกันเพียง 16 วัน พบน้ำมันดิบค้างท่อ 5,000 ลิตร รั่วในจุดเดิมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เรามีบทเรียนน้ำมันรั่วมานับไม่ถ้วน แต่ยังเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก สร้างความบอบช้ำอย่างมากต่อระบบนิเวศทางทะเล

จากข้อมูลของกรีนพีซประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2517 เกิดน้ำมันรั่วในน่านน้ำทะเลไทยมาแล้ว 240 ครั้ง

Advertisement

เฉพาะในทางภาคตะวันออกเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ย้อนกลับไป 9 ปีก่อน วันที่ 27 กรกฎาคม 2556 น้ำมันดิบ 50,000 ลิตร รั่วไหลจากท่อส่งกลางทะเลอ่าวไทย กระจายครอบคลุมพื้นที่ 9 ตร.กม. เคลื่อนตัวเข้าพื้นอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด สร้างผลกระทบครั้งใหญ่ต่อทะเลไทย หาดอ่าวพร้าวเต็มไปด้วยคราบน้ำมัน ต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นฟูสภาพความเสียหายที่เกิดกับปะการังน้ำตื้นที่เกิดการฟอกขาว

กับเหตุการณ์ล่าสุดนี้ “ธารา บัวคำศรี” ผู้อำนวยการกรีนพีซประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อเขียนทางเว็บไซต์กรีนพีซในประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่า การเกิดน้ำมันรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ โดยเฉพาะแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำต่างๆ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากมีการปนเปื้อนของน้ำมันในน้ำในระดับความเข้มข้น 1-3 มิลลิกรัมต่อลิตรเป็นเวลามากกว่า 4 วัน

รวมถึงพฤติกรรมการกินอาหารและการอยู่รอดของสัตว์น้ำ การปนเปื้อนของคราบน้ำมันในแหล่งน้ำยังบดบังแสงสว่างไม่ให้ส่องผ่านลงไปในน้ำ เกิดผลต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช สาหร่ายและพืชในน้ำต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารขั้นพื้นฐานในห่วงโซ่อาหาร

Advertisement

แม้ขณะนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กองทัพเรือ กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทางจังหวัดระยอง ที่ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการน้ำมันดิบที่รั่วไหลลงทะเลได้แล้ว ทางจังหวัดระยองได้ตั้งศูนย์รับเรื่องเยียวยาผลกระทบกับผู้ประกอบการ ประชาชน ชาวประมง ในส่วนของคดีมีการแจ้งความดำเนินคดีกับทางบริษัท SPRC แล้วหลายข้อหา เช่น ฐานความผิดตามมาตรา 119 ทวิแห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 กรณีก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

แต่ยังต้องเร่งสอบสวนหาสาเหตุของน้ำมันรั่วในครั้งนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางให้มีมาตรการป้องกันปัญหาในระยะยาว

และที่สำคัญควรจะต้องมีการทบทวนมาตรการ กฎหมายข้อบังคับต่างๆ ให้สอดรับกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศทางทะเล จากเหตุน้ำมันรั่วในแต่
ละครั้งหรือไม่

อย่าง 1.การใช้บทลงโทษทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด หากบริษัทฝ่าฝืนคำสั่งหรือทำผิดซ้ำ อาจต้องถึงขั้นถอนใบอนุญาตการใช้ทุ่นเทียบเรือขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลหรือไม่

2.ปรับปรุงข้อกฎหมายทางอาญาและทางแพ่ง เช่น มูลค่าความเสียหายที่บริษัทเอกชนต้องรับผิดชอบ

เฉกเช่นในต่างประเทศที่มีการฟ้องร้องเรียกความเสียหายอย่างมหาศาล เช่นกรณี บริษัท บริติชปิโตรเลียม หรือบีพี ต้องจ่ายเงินรวมมูลค่า 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 135,000 ล้านบาท ให้กับทั้งรัฐและเอกชนในสหรัฐ จากเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลครั้งใหญ่ในอ่าวเม็กซิโกที่อยู่ในดินแดนสหรัฐในปี 2553

และ 3.การจัดตั้งกองทุนเพื่อประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบส่วนนี้ เมื่อเกิดปัญหาน้ำมันรั่วไหลให้นำเงินจากกองทุนมาใช้ในการระงับเหตุ กำจัดมลพิษและจ่ายชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ

รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำแล้วซ้ำอีกในท้องทะเลไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image