บทนำ : ยังเหลือ‘กทม.-พัทยา’

บทนำ : ยังเหลือ‘กทม.-พัทยา’

บทนำ : ยังเหลือ‘กทม.-พัทยา’

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) สมาชิกกรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และนายกเมืองพัทยา เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ยังไม่มีความชัดเจน และมีกระแสข่าวว่า รัฐบาลพยายามดึงออกไป จนเกิดกระแสทวงถามจากประชาชน พรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองต่างๆ รายงานข่าวเปิดเผยว่า ในวันที่ 21 ก.พ.นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีกำหนดนัดหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งและรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งภายหลังจากการหารือร่วมกันแล้ว คาดว่าอาจจะประกาศวันเลือกตั้งให้ทราบอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าจะอยู่ภายในเดือน พ.ค.นี้ ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวว่าจะเลือกตั้งก่อนกลางปี 2565 และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุว่า จะจัดการเลือกตั้งได้ภายในเดือน พ.ค.2565

ในแง่ความพร้อมของผู้สมัคร ต้องถือว่าว่าที่ผู้สมัครแต่ละคนได้หาเสียงไปไกลมากแล้ว โดยเฉพาะสำหรับสนามกรุงเทพมหานคร อันเป็นพื้นที่ซึ่งมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.มาอย่างยาวนาน ว่าที่ผู้สมัครไม่ว่าจะเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ และอีกคนที่คาดว่าจะลงป้องกันตำแหน่ง คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบัน การจัดทำโพลแต่ละครั้ง สะท้อนว่าประชาชน กทม.รับทราบข้อมูลของผู้สมัคร และคาดหมายว่าบางส่วนอาจจะตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกหรือไม่เลือกใคร

กระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรี น่าจะเร่งสร้างความชัดเจน ตัดสินใจว่า จะให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และสภา กทม. รวมถึงนายกเมืองพัทยาและสภาเมืองพัทยาโดยเร็ว เพราะการเลือกตั้งผู้บริหาร หมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของท้องถิ่น จากคนที่ท้องถิ่นเลือกเข้ามาเอง การทำงานของท้องถิ่นซึ่งรู้ปัญหาพื้นที่ จะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลกลางในทุกด้าน ตัวอย่างจากบทบาทของ อบจ.และ อบต.ที่เลือกตั้งไปก่อนหน้านี้ ในเรื่องการรับมือปัญหาโควิด ต้องถือว่ามีส่วนช่วยเหลืออย่างมาก และเมื่อรัฐบาลกำลังเปิดประเทศเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ทั้ง กทม.และเมืองพัทยา เป็นพื้นที่สำคัญที่ต้องมีผู้บริหารที่มีศักยภาพเพื่อร่วมตอบสนองเป้าหมายของรัฐบาล

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image