สรุปความเป็นมา หลักการและเหตุผล กับสาระสำคัญ ของร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ….

ในการประชุมรัฐสภาร่วมกันทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมได้มีมติในวาระที่ 1 เห็นชอบรับหลักการร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. …. และตั้งกรรมาธิการวิสามัญร่วม 35 คน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วนำเสนอให้ที่ประชุมร่วมกันของทั้งสองสภาพิจารณาในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ต่อไป

ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวที่คณะรัฐมนตรีเสนอต่อรัฐสภาเป็นกฎหมายใหม่ ริเริ่มจัดทำโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ผ่านการตรวจพิจารณาโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (1) ซึ่งบัญญัติให้ การดำเนินการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม โดยให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมมีขั้นตอนมากและมีความยุ่งยากซับซ้อน อีกทั้งในบางขั้นตอนไม่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาดำเนินงานไว้อย่างชัดเจน และไม่มีกลไกให้ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีได้โดยสะดวกและรวดเร็ว ทำให้เป็นภาระและอุปสรรคต่อประชาชนส่งผลให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมที่ล่าช้า จึงเห็นควรให้มีการตราพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (คู่ความ คู่กรณี ผู้ต้องหา และผู้เสียหาย) ทราบได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม (หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กรมพระธรรมนูญ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ปปง. สำนักงาน ป.ป.ท. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานอัยการสูงสุด และหน่วยงานอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา) จะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าได้ อันจะยังประโยชน์ให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในเรื่อง ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เรื่องและประเด็นที่ 1 การกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า ซึ่งได้มีการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณ เนื่องจากสามารถใช้บุคลากรและทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันดำเนินการได้ และไม่ต้องมีการเพิ่มอัตรากำลังแต่อย่างใด โดยมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 และพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 แต่มีเนื้อหาที่ครอบคลุมการดำเนินงานที่กว้างขวางกว่าไม่ใช่เพียงหน่วยงานของฝ่ายบริหารเท่านั้น ยังรวมถึงศาลและองค์กรอิสระด้วย

มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก โดยกำหนดให้จัดให้มีระบบติดตาม ตรวจสอบ และแจ้งความคืบหน้าเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบโดยทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

Advertisement

ร่างพระราชบัญญัตินี้มีสาระสำคัญดังนี้

1.กำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนดกรอบระยะเวลาแล้วเสร็จในการพิจารณาเรื่องในขั้นตอนต่างๆ ของการดำเนินคดี แต่จะใช้กรอบระยะเวลาดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการอำนวยความยุติธรรมหรือการดำเนินการโดยสุจริตของบุคคลใดไม่ได้ไม่ว่าทางใด

2.กำหนดให้จัดให้มีระบบติดตาม ตรวจสอบ หรือแจ้งเหตุแห่งความล่าช้าของการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ โดยจะต้องเป็นระบบที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวกและรวดเร็ว

3.กำหนดจัดให้มีผู้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะเพื่อรับเรื่องร้องเรียนในกรณีได้รับความเดือดร้อนเนื่องมาจากความล่าช้า และให้ผู้รับผิดชอบตรวจสอบและแจ้งผลการตรวจสอบและเหตุแห่งความล่าช้าไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายในสิบห้าวันพร้อมทั้งรายงานผู้บังคับบัญชาทราบทุกครั้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ฝ่าฝืนจะถูกพิจารณาดำเนินการทางวินัย

4.กำหนดให้เก็บรวบรวมข้อมูลสถิติระยะเวลาของการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน วัดผลการดำเนินงานเทียบกับขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินงานตามที่กำหนดในกรอบระยะเวลา พร้อมทั้งเผยแพร่ให้ประชาชนทราบทุกปี

5.กำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบขั้นตอนระยะเวลาในการดำเนินงานว่า เป็นขั้นตอนและระยะเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ หากเห็นว่าไม่เหมาะสมให้มีมาตรการเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงหน่วยงานหรือระบบการปฏิบัติราชการโดยเร็ว ซึ่งอย่างน้อยต้องดำเนินการทุกสามปี

ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่มีการใช้ระบบอนุญาต ไม่มีการใช้ระบบคณะกรรมการ และไม่มีการกำหนดโทษทางอาญา ตลอดจนไม่มีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีดุลพินิจในการออกคำสั่งทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง

สรุป ร่างพระราชบัญญัตินี้จะทำให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถคาดการณ์และตรวจสอบได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จเมื่อใด อันจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนให้ได้รับความยุติธรรมโดยสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีนี้ได้โดยไม่กระทบต่อหลักการซึ่งที่ประชุมร่วมของสองสภาได้มีมติเห็นชอบไว้แล้ว

พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์
รองประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image