ท้องถิ่น, เอกชนและการจัดการขยะ (ตอนที่ 2)

ท้องถิ่น, เอกชนและการจัดการขยะ (ตอนที่ 2)

ท้องถิ่น, เอกชนและการจัดการขยะ (ตอนที่ 2)

ที่ปรึกษาและรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ คือจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่ยาวไกลของการทำงานร่วมกันระหว่างท้องถิ่นและเอกชน ในโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะ คำพังเพยที่ว่า “เริ่มต้นดีมีชัยกว่าครึ่ง” หรือ “Well begun is half done” เป็นเรื่องจริง หากท้องถิ่นมีที่ปรึกษาที่ทำงานโดยยึดหลักวิชาชีพ โปร่งใส จัดทำรายงานการศึกษาได้อย่างรอบคอบ ครบถ้วน นำเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ มีความเหมาะสมกับท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่น พร้อมข้อเสนอแนะ กติกา หรือเงื่อนไขสัญญาในการทำงานร่วมกับเอกชนที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารโครงการ และการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนตลอดช่วงเวลาของการทำงานร่วมกัน

ข้อมูลชุดแรกจากการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการคือ ผลการสำรวจปริมาณและองค์ประกอบของขยะที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่น (กรณีที่โครงการครอบคลุมกลุ่มของท้องถิ่นหรือ Cluster) ข้อมูลชุดนี้มีความสำคัญต่อการพิจารณาขนาดของโครงการ และการเลือกใช้วิธีการหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม ขนาดของโครงการก็คือปริมาณขยะที่คาดว่าจะถูกเก็บรวบรวมจากพื้นที่ท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่นเพื่อนำมากำจัดที่โครงการ และมีความสัมพันธ์กับการเลือกวิธีการหรือเทคโนโลยี

Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในปี 2557 กำหนดแนวทางการแบ่งขนาดและวิธีการกำจัดของโครงการ เช่น ท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่นที่มีปริมาณขยะรวมแล้วไม่เกิน 50 ตันต่อวัน จัดเป็น
กลุ่มขนาดเล็ก ให้เน้นการคัดแยกต้นทาง การนำขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ยอินทรีย์ และมีระบบกำจัดแบบฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาลรองรับ ท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่นที่มีปริมาณขยะรายวันมากกว่า 50 ตันแต่ไม่เกิน 300 ตัน จัดเป็นท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่นขนาดกลาง ให้เน้นการคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด การนำขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ในการทำปุ๋ย หรือผลิตก๊าซชีวภาพและพลังงานไฟฟ้า และมีระบบกำจัดแบบฝังกลบรองรับ สำหรับท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีปริมาณขยะมากกว่า 300 ตันต่อวัน ควรมีระบบกำจัดแบบผสมผสานและการใช้เทคโนโลยีการแปรรูปขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนและดำเนินการ

Advertisement

ข้อมูลการสำรวจปริมาณขยะและการคาดการณ์แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะเป็นปัจจัยสำหรับการพิจารณาขนาดของโครงการ ส่วนข้อมูลองค์ประกอบของขยะจะใช้ในการเลือกวิธีการหรือเทคโนโลยีการกำจัดขยะที่เหมาะสมของโครงการ จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนของการประมาณการมูลค่าของโครงการ ในกรณีของโครงการขนาดใหญ่ รายงานการศึกษาความเป็นไปได้มักจะเสนอแนะทางเลือกในการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น การลงทุนด้วยงบประมาณของท้องถิ่น หรือการขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด หรือการให้ภาคเอกชนลงทุนและดำเนินการตามนโยบายส่งเสริมภาคเอกชนร่วมลงทุนซึ่งกำหนดไว้ใน พรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดการมูลฝอย พ.ศ.2560

กรณีของการลงทุนด้วยงบประมาณของท้องถิ่นเอง หรือการได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ความเป็นไปได้ของโครงการจะขึ้นกับผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์และการที่โครงการมีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการเดินระบบ แต่ในกรณีที่จะเลือกให้เอกชนลงทุนและดำเนินการ ความเป็นไปได้ของโครงการจะวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางการเงินเป็นสำคัญ เพื่อแสดงให้เห็นว่าโครงการมีความเหมาะสมที่จะให้เอกชนลงทุนและดำเนินการ ซึ่งมักจะพิจารณาอัตราการคืนทุน หรือที่เรียกว่า Internal Rate of Return

ในกรณีที่โครงการสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีเตาเผาขยะ หรือระบบการย่อยสลายแบบไร้อากาศ (Anaerobic Digestion) โครงการจะได้รับการสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียนอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นรูปแบบการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าในอัตราพิเศษที่เรียกว่า Feed in Tariff เป็นเวลา 20 ปี สอดคล้องกับอายุของโครงการ ผลจากนโยบายดังกล่าว ทำให้โครงการมีรายได้หลักจากการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและค่ากำจัดขยะ โดยทั่วไปสัดส่วนของรายได้ทั้งสองจะประมาณ 4 ต่อ 1 ทั้งนี้ ค่ากำจัดขยะที่กำหนดไว้ประมาณ 400 บาทต่อตัน เป็นค่าเฉลี่ยที่ท้องถิ่นโดยทั่วไปสามารถจ่ายได้

Advertisement

ภาระหน้าที่สำคัญของที่ปรึกษาที่ต้องร่วมกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นคือ การเลือกวิธีการหรือเทคโนโลยีในการกำจัดขยะโดยพิจารณาข้อมูลการประมาณการปริมาณขยะและคุณสมบัติของขยะในท้องถิ่นหรือกลุ่มท้องถิ่น เมื่อเลือกวิธีการกำจัดและตัดสินใจที่จะให้เอกชนลงทุนและดำเนินการ ที่ปรึกษาและท้องถิ่นต้องมีความเข้าใจตรงกันในประเด็นขอบเขตของงานที่ให้เอกชนดำเนินการงาน โดยรับผิดชอบทั้งระบบหรือเพียงบางส่วน เช่น ให้เอกชนลงทุนและดำเนินงานเฉพาะเตาเผาขยะ ส่วนท้องถิ่นยังคงดูแลดำเนินงานระบบฝังกลบสำหรับขยะที่ไม่นำไปกำจัดด้วยเตาเผา หรือให้เอกชนลงทุนและดำเนินการทั้งระบบรวมการจัดการพื้นที่ฝังกลบวัสดุคัดทิ้งและเถ้าหนักจากเตาเผาขยะ หรือต้องการให้เอกชนจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้างโครงการเอง หรือการกำหนดเงื่อนไขการโอนทรัพย์สินของโครงการที่เอกชนลงทุนให้แก่ท้องถิ่นภายหลังสิ้นสุดสัญญา ซึ่งขอบเขตของงานและเงื่อนไขเหล่านี้ล้วนมีผลต่อต้นทุนการลงทุนและค่าใช้จ่ายในการบริหารดำเนินงานของเอกชนทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า “ท้องถิ่นต้องเข้าใจวัตถุประสงค์และความต้องการของตนเองให้ชัดเจน” เพราะรายละเอียดเหล่านี้จะนำไปสู่ข้อสรุปของขอบเขตของงานและมูลค่าของโครงการที่ท้องถิ่นต้องใช้ในการจัดทำเอกสารขอบเขตของงานหรือ Term of Reference และเอกสารเพื่อการคัดเลือก หรือประกวดข้อเสนอของเอกชนในลำดับต่อไป

หลังจากการจัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแล้ว การตัดสินใจให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนและดำเนินงานระบบกำจัดขยะของท้องถิ่นต้องอยู่บนพื้นฐานที่ท้องถิ่นเข้าใจความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง ไม่เพียงแค่ให้มีระบบกำจัดขยะ แต่ต้องคำนึงถึงการที่ท้องถิ่นและเอกชนต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้บริการแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพตลอดระยะเวลาของสัญญา

“ท้องถิ่นมีความพร้อมแล้วหรือยัง”

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image