พรรคสถาบัน… ฝันไปเถอะ

ที่ประชุมรัฐสภามีมติสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 3 ฉบับ เป็นของฝ่ายรัฐบาลล้วนๆ ส่วนอีก 3 ฉบับของฝ่ายค้านตกไปตามเกม การเมืองใครมีมือมากกว่าชนะ

เนื้อหาสาระการอภิปรายหลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นการทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งเป็นสถาบันทางการเมือง มีความเป็นประชาธิปไตย เป็นพรรคของประชาชน ปลอดจากการครอบงำชี้นำโดยบุคคลภายนอก นายทุน ขุนศึก

ทั้งสองประเด็นนี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ถ้าพรรคการเมืองมีความเป็นสถาบัน มีประชาธิปไตยในพรรคจริง ย่อมเป็นปัจจัยต้านทานการบงการของคนส่วนน้อยในพรรคได้

แต่นั่นเป็นหลักการที่ควรจะเป็น ขณะที่ความเป็นจริงสำหรับการเมืองไทยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 90 ปี ถึง พศ.2565 สถาบันพรรคการเมืองของประชาชนที่แท้จริงยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น

Advertisement

ตัวบ่งชี้ถึงความเป็นสถาบันพรรคการเมืองประการสำคัญก็คือ พรรคนั้นๆ ได้แสดงบทบาท หน้าที่ สร้างสรรค์นโยบายสาธารณะและนำไปขับเคลื่อนจนเกิดประโยชน์ต่อส่วนใหญ่สำเร็จแค่ไหน

สิ่งนี้จะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองมีจุดยืนที่ชัดเจน บริหารจัดการลงมติแต่ละเรื่องโดยยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักยิ่งกว่าประโยชน์พรรค และผู้ทรงอิทธิพลในพรรค

ถามว่า แล้วพรรคการเมืองที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน พรรครัฐบาลและพรรครอร่วมรัฐบาลทั้งหลาย พรรคใดบ้างเข้าข่ายพรรคการเมืองที่มีความเป็นสถาบัน เป็นพรรคการเมืองของประชาชนจริง

Advertisement

คำตอบเบื้องต้นพิจารณาได้จากปัจจัยสองประการ ได้แก่ ปัจจัยภายในความพยายามสร้างประชาธิปไตยภายในพรรคให้เกิดขึ้นจริงและเข้มแข็ง กับปัจจัยภายนอก การสร้างสรรค์นโยบายเพื่อส่วนรวมและผลักดันจนเกิดผลสำเร็จ คนส่วนใหญ่ยกย่องยอมรับ

ถามต่อว่า 7 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถึงวันนี้ พรรคการเมืองทั้งสองปีกมีความเป็นประชาธิปไตยภายในเข้มแข็งขึ้นบ้างหรือไม่ มีความเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่น หรือมีแต่ความแตกร้าวเสียมากกว่า กับการผลักดันนโยบายอะไรได้สำเร็จ ประโยชน์ตกแก่ประชาชนคนส่วนใหญ่จริง

หรือส่วนใหญ่ล้วนดำเนินบทบาทเพื่อบรรลุประโยชน์เฉพาะหน้า คือได้เป็นรัฐบาล หรือพรรคร่วมรัฐบาล เป็นหลักก่อน

ภารกิจที่ควรจะมาก่อนคือ การสร้างความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค และคิดค้นนำเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ระยะยาวของคนส่วนใหญ่ กลายเป็นเรื่องรอง

ด้วยเหตุนี้เอง ผลประโยชน์ของพรรคและผู้มีอิทธิพลในพรรคจึงมาก่อนนโยบายเพื่อคนส่วนใหญ่ที่ควรจะเป็นเสมอมา

ยิ่งภายใต้สถานการณ์ยุคอำนาจนิยม แนวนโยบายที่ตรงข้ามกับความคิด ความต้องการของฝ่ายที่มีอำนาจจึงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระดับโครงสร้าง มิใช่แค่ปะผุ ชั่วครั้งชั่วคราว

โดยรากเหง้าของปัญหาไม่ลดลงหรือถูกขจัดออกไป

กรณีตัวอย่างนโยบายที่ควรจะเป็นแต่ไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จ อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติขัดขวางความเป็นประชาธิปไตย

การผลักดันนโยบายกระจายอำนาจ การเมือง การปกครองสู่ท้องถิ่น การเลือกตั้งผู้บริหารและสภาท้องถิ่น เปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค เหลือแต่ส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น

ความเคลื่อนไหวล่าสุดในเรื่องนี้ คณะก้าวหน้าที่มีรากมาจากพรรคอนาคตใหม่ ยกประเด็นนี้ขึ้นมาเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดขึ้นอีกครั้ง ในโอกาสที่รัฐบาลปัจจุบันจะครบวาระ 4 ปี เดือนมีนาคม พ.ศ.2566 ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่

ว่าไปแล้วนโยบายสาธารณะเรื่องนี้ถูกกล่าวขาน เรียกร้อง ศึกษาความเป็นไปได้มายาวนาน

ล่าสุด คณะที่นำเสนอบทสรุปที่ชัดเจนคือ คณะกรรมการปฏิรูป ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาล พ.ศ.2554 แต่ข้อเสนอจากผลการศึกษาที่หลายต่อหลายฝ่ายเห็นด้วยก็ไม่เป็นจริง จนกระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลง

เกิดกลุ่มการเมืองในนาม กปปส.มวลมหาประชาชนอันไพศาล ประกาศแนวทางทั้งบนเวทีปราศรัยและเสนอต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน

อนิจจา แนวทางนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยเลิกราชการส่วนภูมิภาคให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แม้ไม่ต้องทุกจังหวัด แต่แค่จังหวัดที่พร้อม ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

ด้วยเหตุนี้นโยบายที่ควรจะเป็น พรรคการเมืองที่เป็นสถาบัน จึงไม่มีทางเป็นจริง

เพราะพรรคการเมือง นักการเมืองบรรลุเป้าหมายได้เป็นรัฐบาล ได้อำนาจ ได้ประโยชน์ที่ต้องการแล้ว ไม่ยืนหยัดผลักดันนโยบายที่ควรจะเป็นให้เกิดผลจริง แต่สยบยอมต่ออำนาจนิยมเหนือกว่ากดทับ

พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่ยกร่างขึ้นมาใหม่จึงไม่ใช่หลักประกันที่แท้จริง ที่จะนำไปสู่ความเป็นสถาบันพรรคการเมืองของประชาชน ในเมื่อพฤติกรรมของคนยังคงย่ำอยู่ที่เก่า

ขอเป็นรัฐบาลก่อน เรื่องอื่นไว้ว่ากันทีหลัง ได้อำนาจแล้วก็ละเลยสิ่งที่เคยประกาศให้สัญญาประชาคมไว้ไปเสียสิ้น

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image