สะพานแห่งกาลเวลา : เมื่อ‘สเตลธ์โอมิครอน’ครองโลก โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Reuters)

ไล่เลี่ยกับที่นักวิทยาศาสตร์พบเชื้อโคโรนาไวรัสก่อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่อย่าง โอมิครอน ก็มีการค้นพบว่า เชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ยังมี เชื้อกลายพันธุ์แยกย่อยลงไปอีก 2-3 ตัวเป็นอย่างน้อย

โอมิครอน (บีเอ.1) อาละวาดไปทั่วโลก แม้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดการล้มป่วยหนักและเสียชีวิตมากมายนัก แต่ก็ยังคุกคามต่อระบบสาธารณสุขของทั่วโลกอย่างหนัก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก ออกมาประกาศว่า ไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอยู่ในเวลานี้ มากถึงเกือบ 86 เปอร์เซ็นต์ เป็นเชื้อกลายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่เรียกว่า บีเอ.2

ข้อมูลเท่าที่ อนามัยโลก มีอยู่ในเวลานี้ ชี้ให้เห็นว่า บีเอ.2 แพร่ระบาดได้ง่ายกว่า บีเอ.1 และ บีเอ.1.1 ที่แพร่ระบาดได้ง่ายอยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่ง่ายกว่ามากมายนักก็ตาม

Advertisement

ที่เป็นข่าวดีเล็กๆ ก็คือ บีเอ.2 ยังไม่น่าจะก่อให้เกิดภาวะป่วยหนักและเสียชีวิตมากกว่า บีเอ.1 และ บีเอ.1.1 แต่อย่างใด

อย่างมากที่สุดก็คือ ก่อให้เกิดการป่วยหนักถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตใกล้เคียงกันกับตัวเดิมนั่นแหละ

แต่ที่เป็นข่าวร้ายก็คือ บีเอ.2 ลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิดลงสูงมาก เหมือนๆ กับที่วัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ บีเอ.1 หรือ บีเอ.1.1 ได้นั่นเอง

Advertisement

ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว 2 เข็ม หรือแม้แต่ผู้ที่ฉีดเข็มกระตุ้น หรือบูสเตอร์แล้ว ก็ยังสามารถติดโควิดที่เป็นเชื้อโอมิครอน บีเอ.2 ได้อีก

คนที่เคยติดเชื้อ บีเอ.1 มาแล้ว ซึ่งควรมีภูมิคุ้มกัน ก็ยังสามารถติดเชื้อ บีเอ.2 ซ้ำได้อีกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สำนักงานความมั่นคงสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (เอชเอสเอ) ก็มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า บูสเตอร์โดส ยังคงป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิต หรือมีอาการป่วยหนักจนต้องพึ่งโรงพยาบาลได้

ในขณะที่ข้อมูลของ เดนมาร์กและยูเค เองก็ชี้ว่า การติดเชื้อซ้ำส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้ที่เคยติดเชื้อ เดลต้า หรืออัลฟ่า ในขณะที่ผู้ที่เคยติดเชื้อ บีเอ.1 แล้วมาติดเชื้อ บีเอ.2 ซ้ำอีกนั้น คิดเป็นสัดส่วนน้อยมาก 2-3 คนต่อ 2-3 แสนคนเท่านั้นเอง

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเรียก บีเอ.2 ว่า “เชื้อกลายพันธุ์ล่องหน” หรือ “สเตลธ์ แวเรียนท์” เพราะทั้ง บีเอ.2 และ บีเอ.3 ตรวจจำแนกได้ยากกว่า บีเอ.1 ที่มีสารพันธุกรรมบางตัวหายไป และตรวจพบได้ด้วยการทำ พีซีอาร์ เทสต์

แต่ บีเอ.2 และ 3 ต้องจำแนกพันธุกรรมเท่านั้นถึงพบได้ ในขณะที่แต่ละประเทศมีศักยภาพในการจำแนกพันธุกรรมไม่เท่ากัน

เชื่อกันว่า เจ้า บีเอ.2 ตัวนี้คือตัวการสำคัญที่ทำให้ ยอดติดเชื้อโควิด-19 กลับมาพุ่งสูงมากอีกครั้งในจีน ส่งผลให้ผู้คนหลายล้านคนในเซี่ยงไฮ้ต้องเผชิญกับการล็อกดาวน์ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดอยู่ในเวลานี้

ในยุโรปบางประเทศ อย่างเช่นเยอรมนี และสหราชอาณาจักร บีเอ.2 ก็ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นมากอีกครั้งอย่างน่าวิตก

ในสหรัฐอเมริกา ก็กำลังกังวลกันว่า บีเอ.2 จะทำให้ยอดติดเชื้อกลับมาเพิ่มเป็นทวีคูณอีกรอบ

นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่ง รวมทั้ง นายแพทย์ แอนดรูว์ เพคอสซ์ นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัย จอห์น ฮอพกินส์ เชื่อว่า การแพร่ระบาดของ บีเอ.2 อาจไม่ได้หมายความว่า มันมีความสามารถในการแพร่ระบาดเหนือกว่า บีเอ.1 ที่ระบาดใหญ่ไปก่อนหน้านี้

แต่อาจเป็นเพราะรัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลก กำลัง “ลดการ์ด” ป้องกันลง หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดกับการรักษาระยะห่าง หรือการสวมหน้ากากป้องกัน

ซึ่งช่วยให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ของ บีเอ.2 ได้ง่ายและเร็วขึ้น

แต่ความข้อนี้ดูเหมือนใช้ไม่ได้ในกรณีของจีน ซึ่ง “การ์ดสูง” อยู่ตลอดเวลา

ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีปรากฏการณ์ “ดับเบิล พีค” ขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งยิ่งสร้างความกังวลให้สูงมากขึ้นตามลำดับ

“ดับเบิล พีค” คือการที่อัตราการติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด 2 ครั้ง ในเวลาติดต่อกันหรือไล่เลี่ยกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีเชื้อ 2 ตัวแพร่ระบาดอยู่สูงมากในเวลาเดียวกัน

เอริค ทูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสคริปป์ ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ถึงได้ชี้ว่า การระบาดของ บีเอ.2 คือเครื่องเตือนใจว่า โควิด ก็ยังสามารถสร้างอันตราย ก่อภัยคุกคามอยู่ได้ต่อไป

เช่นเดียวกับ มาร์ค วูลเฮาส์ นักระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ที่ย้ำว่า โควิด-19 คือปัญหาใหญ่หลวงทางด้านสาธารณสุขของโลก

และยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ในเวลานี้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image