6เมษายน‘วันจักรี’และครบรอบ3ปีสบช. โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

วันที่ 6 เมษายนของทุกปี คือวันจักรี อันเป็นวันที่ระลึกถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็น “พระมหากษัตริย์” พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี อีกทั้งยังเริ่มก่อสร้างพระนครแห่งใหม่ในนาม “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์” ที่นับว่าเป็น “เมืองหลวง” แห่งใหม่ถัดจาก “กรุงธนบุรี” ซึ่งเมื่อกรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางเมือง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้ทรงเปลี่ยนนามใหม่ จากกรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ เป็นกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มักเรียกกันว่า “สมัยรัตนโกสินทร์” เช่นเดียวกันกับที่เคยเรียกยุคสมัยที่ผ่านมาในสยาม โดยพระเจ้าแผ่นดิน ในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ ได้สืบสันตติวงศ์ต่อเนื่องกันมาในราชวงศ์เดียวกันจนถึงปัจจุบัน 10 รัชกาล รวมระยะเวลาแล้วกว่า 240 ปี

จากบันทึกตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ในปี 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริย์ 4 พระองค์ (รัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 4) ขึ้นประดิษฐาน เอาไว้สำหรับให้พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อๆ ไป ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป ได้ถวายความเคารพสักการะ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละหนึ่งครั้ง และได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนสถานที่ประดิษฐานหลายต่อหลายครั้ง จนมาถึง รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนย้าย ทั้ง 4 พระองค์มาไว้ ณ ปราสาทเทพบิดร ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกนาถ แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2461 จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการประกาศ ตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูปขึ้นในวันที่ 6 เมษายนปีเดียวกัน อีกทั้งยังโปรดให้เรียกวันที่ 6 เมษายนนี้ว่า “วันจักรี”

6 เมษายน ครบรอบ 3 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันพระบรมราชชนก

Advertisement

สืบเนื่องจากปี 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วย สถาบันพระบรมราชชนก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ สถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ.2562 ขึ้นไว้ ณ วันที่ 4 เมษายน 2562 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนที่ 43 ก วันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2562

ให้สถาบันพระบรมราชชนกเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันศึกษาในกำกับกระทรวงสาธารณสุขแห่งแรก มีสถานะเป็นนิติบุคคล มีภารกิจหลักในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ และเป็นสถานศึกษาเฉพาะทางด้านสุขภาพที่จัดการศึกษาระดับปริญญาด้านการพยาบาลการสาธารณสุขและสหเวชศาสตร์ โดยมีคณะพยาบาลศาสตร์และคณะสาธารณสุขและสหเวช ซึ่งมีวิทยาลัยพยาบาล 30 แห่ง วิทยาลัยการสาธารณสุข 7 แห่ง วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ และสาธารณสุขกาญจนาภิเษก 1 แห่ง วิทยาลัยแพทย์แผนไทยประยุกต์ อภัยภูเบศร 1 แห่ง ใน 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ

วันที่ 6 เมษายน 2565 จึงถือเป็นวันครบรอบ 3 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันพระบรมราชชนก ถือเป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่ง โดยเฉพาะ “ครอบครัวสถาบันพระบรมราชชนก” เป็นการน้อมรำลึก ที่องค์พระปฐมบรมมหากษัตริย์จักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) และ “สมเด็จพระราชบิดาและพระบิดาแห่งการแพทย์และสาธารณสุขไทย” สมาชิกบุคลากร ทั้งหลายเป็นกลุ่มบุคคลสำคัญ เป็นแม่แบบพ่อแบบในการผลิตบุคลากร หรือบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาต่างๆ นอกจากพยาบาล สาธารณสุข สหเวชแล้วอนาคตจะมีการผลิตบัณฑิตแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช กายภาพ เทคนิคการแพทย์ เป็นต้น ฯลฯ ตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยพลังสามัคคีและเสียสละอุทิศแรงกายและแรงใจ ที่จะช่วยกันดูแลและเป็นกำลังหลักที่สำคัญ หากครู อาจารย์ บุคลากรทั้งหลายช่วยกันทำงาน ได้ผลอย่างจริงและเป็นรูปธรรมแล้ว ก็เชื่อว่า “สถาบันพระบรมราชชนก” จะเป็น “สถาบันฯ หรือมหาวิทยาลัย” สร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ที่ดีขึ้น เพื่อตอบสนองต่อระบบบริการสุขภาพของประเทศชาติได้อย่างมหาศาล โดยเฉพาะ “โครงการ 3 หมอ” ของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขของท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล โดยมีหลักบริหารปฐมภูมิที่เราเรียกว่า สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9820 แห่งทั่วประเทศ

Advertisement

อนึ่ง “สถาบันพระบรมราชชนก” มีบทบาทสำคัญในบางสถานการณ์ อาทิเช่นที่ผ่านมาช่วงวิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019
(โควิด-19) ในปีที่ผ่านมา สถาบันพระบรมราชชนกได้สนองนโยบายรัฐบาลยามวิกฤต 2-3 เหตุการณ์ ได้แก่

1) การพัฒนาบุคลากรการพยาบาล หลักสูตรอบรมระยะสั้นทางการพยาบาล การพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต หลักสูตร 1 เดือน จำนวน 993 คน ใน 27 วิทยาลัยพยาบาลทั่วประเทศ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทางในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตได้อย่างมากและรวดเร็ว

2) ในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดย “อสม.” อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ซึ่งประเทศไทยมี อสม. 1,040,000 คน เป็นทีมสุขภาพที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดเป็น 1 ใน 3 หมอ ที่ช่วยประสาน การทำงานดูแลประชาชนที่บ้านและชุมชน แบบ “ใกล้ตัว ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายที่จะพัฒนา “อสม.” ของเราให้เป็นผู้ช่วยพยาบาล จำนวน 3,000 คน เพื่อให้มีศักยภาพสูงขึ้น ในการดูแลเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 โดยใช้ระบบการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค ด้วยปิงปองจราจรชีวิต 7 สี ซึ่งจะอยู่กับคนไทยอีกนานถึง 3-5 ปี รวมถึงการฉีดวัคซีน การให้ความรู้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพและมาตรการต่างๆ ภายใต้การดูแลของแพทย์ พยาบาล รวมทั้งสามารถช่วยทำงานช่วยเหลือทีมสุขภาพ โดยเฉพาะการพยาบาลในภาวะวิกฤตการขาดแคลนบุคลากร อันจะช่วยสนับสนุนระบบปฐมภูมิในภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็ง นำไปสู่เป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข คือ ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน

3) ปัญหาเร่งด่วนอีกด้านคือ “การตั้งคณะแพทยศาสตร์” แก้ปัญหาศูนย์แพทยศาสตรศึกษาของโรงพยาบาล 4 แห่ง ได้แก่ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ รพ.มหาราชอภัยภูเบศร รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.ราชบุรี มีปัญหาเนื่องจาก ไม่มี “คณะแพทยศาสตร์” รองรับการประเมินคุณภาพ ซึ่งมีปัญหามานาน ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบการเรียนการสอนของ “นักศึกษา” คาดว่าจะสำเร็จในเร็วๆ นี้

การจัดงานครบรอบ 3 ปี วันสถาปนาสถาบันพระบรมราชชนก มีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้ ในวันที่ 5 เมษายน 2565 ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในงานโดยจะกล่าว “แสดงความยินดีในโอกาสคล้ายวันสถาปนาสถาบันพระบรมราชชนก ครบรอบ 3 ปี” และมอบใบประกาศเกียรติบัตรผู้ได้รับตำแหน่งทางวิชาการ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์” จำนวน 10 คนแรกของสถาบัน รวมถึงในวันดังกล่าว มีการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้บริหาร ของ “สบช.” และประกวดผลงานดีเด่นแต่ละวิทยาลัย

และในวันที่ 6 เมษายน 2565 จะมีพิธีสงฆ์ ทำบุญเลี้ยงพระที่สถาบันพระบรมราชชนก เพื่อเป็นสิริมงคล และสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรทุกระดับ โดยท่านศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภาสถาบันพระบรมราชชนก ให้เกียรติมาเป็นประธาน พร้อมคณาจารย์ของสถาบันฯ ทุกวิทยาลัย 39 แห่ง ร่วมงานดังกล่าว

สถาบันพระบรมราชชนก มีความมุ่งมั่นที่ดำเนินการริเริ่มพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ว่า “มุ่งสร้างผู้นำและนวัตกรรมสุขภาพสู่ชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน” และบรรลุปณิธานที่ว่า “สร้างบ้าน สร้างคน สร้างชุมชน สร้างสุข” อีกทั้งสร้างโอกาสรับนักเรียนมัธยมปลายจาก “ในถิ่นทุรกันดารชุมชนและเขตเมือง” (Remote area, Rural area, Urban area) ทั่วถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในปี 2565 จะรณรงค์ “สบช.สัญจร” ทำ MOU กับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายอีก 51% คาดว่าจะครบ 100% (2,280 แห่ง) และในปี 2566 จะให้โควต้ากับทุกโรงเรียนให้ครอบคลุมทั่วประเทศตามเป้าหมายที่วางไว้ คือให้เด็กไทยมีสมรรถนะหลัก “4 C for C” (Critical thinker, Creator, Collaborator, Creator for Community) ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image