‘วันครอบครัว’ สัญลักษณ์ความรัก ความกตัญญู

‘วันครอบครัว’ สัญลักษณ์ความรัก ความกตัญญู

‘วันครอบครัว’
สัญลักษณ์ความรัก ความกตัญญู

“ครอบครัว” เป็นสถาบันพื้นฐานทางสังคมที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็น “สถาบันแรก” ของทุกคนที่มีบทบาทในการอบรมเลี้ยงดู ส่งต่อค่านิยม ถ่ายทอดทางวัฒนธรรม ซึ่งปลูกฝังความเป็นตัวตนของแต่ละคนในอนาคต

ลักษณะของคนไทยมักจะอยู่อาศัยร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ มีทั้งพ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า ตา ยาย และคนอื่นอาศัยรวมอยู่ด้วยกัน ทำให้มีความสนิทสนมกันของสมาชิกภายในบ้าน แม้ว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่จะหันมาสร้างครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น แต่ก็ยังคงค่านิยมในการให้ความสำคัญกับ “สถาบันครอบครัว” อยู่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย

วันครอบครัวไทยได้รับการกำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2532 นับจากวันนั้นถึงวันนี้ก็มีอายุมา 33 ปีแล้ว ในสมัยนายกรัฐมนตรีชื่อ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดย คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้เสนอให้คณะรัฐมนตรีกำหนดให้ทุกวันที่ 14 เมษายนของทุกปีเป็น “วันครอบครัว” หลังจากนั้น จึงได้รับการอนุมัติและประกาศใช้ “วันครอบครัวไทย” ครั้งแรกในปี พ.ศ.2533 และใช้สืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

กิจกรรมที่จัดขึ้นในวันครอบครัวของคนไทย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมักจะเป็นกิจกรรมมอบรางวัลให้แก่ครอบครัวดีเด่น ครอบครัวต้นแบบ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวที่มีแบบอย่างที่ดี เพื่อส่งเสริมและให้กำลังใจในการปฏิบัติตนเป็นสถาบันตัวอย่างให้เป็นที่ปรากฏแก่สังคม

ส่วนใหญ่คนไทยมักนิยมรดน้ำดำหัว ผู้ที่มีอายุน้อยกว่ามักจะเข้าไปหา กราบไหว้ขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังใช้เวลาส่วนใหญ่ในการรับประทานอาหารร่วมกัน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ เป็นวันสำคัญที่สมาชิกในครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกัน ถือได้ว่าเป็นการรวมญาติอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

“วันครอบครัว” เป็นวันที่กำหนดให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของ “สถาบันครอบครัว” ซึ่งไม่จำเป็นว่าเราจะต้องให้ความสำคัญกับพ่อแม่ หรือสมาชิกภายในบ้านเฉพาะวันนี้เท่านั้น แต่ยังสามารถดูแลเอาใจใส่กันได้ทุกวัน โดยนอกจากวันครอบครัวจะเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลวันสงกรานต์แล้ว ยังสะท้อนค่านิยมและวัฒนธรรมของคนไทยอีกด้วย

Advertisement

ใน “วันครอบครัว” ยังมีกิจกรรมหนึ่งที่สถาบันครอบครัวตระหนักเสมอเรื่องความกตัญญูกตเวที หลายครอบครัวจะใช้โอกาสนี้ในการรดน้ำดำหัวขอพรจากบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงาน แล้วยังเป็นโอกาสที่บรรดาลูก หลาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชา ที่มีพฤติกรรมแสดงออกถึงซึ่งการ
กระทำล่วงเกินต่อท่านด้วยทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทางความคิดก็ดี เป็นเหตุให้ท่านโดยเฉพาะ “พ่อแม่” เจ็บช้ำน้ำใจ เสียใจ ทุกข์ใจ ร้องไห้เสียน้ำตา ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา ทั้งรู้ตัวก็ดี ไม่รู้ตัวก็ดี ทั้งที่เจตนาก็ดี มิได้เจตนาก็ดี ทั้งในอดีตก็ดี ปัจจุบันก็ดี “เรา” สำนึกผิดแล้วต้องการจะกราบขอขมากรรมในสิ่งที่ทำล่วงเกิน เพื่อขอให้พ่อแม่ได้โปรดยกโทษ อโหสิกรรม เป็นการล้างบาป ล้างกรรมที่กระทำต่อท่าน โดยผู้เขียนจะขอเสนอ “วิธีขอขมากรรมต่อบิดามารดา” โดยสังเขปดังนี้

บิดามารดาถือเป็นบุคคลที่มีบุญคุณอันสูงสุดของลูกๆ และเป็นหน้าที่ของลูกทุกคนต้องตอบแทนพระคุณให้ถึงที่สุด แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่างด้วยการเสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงพระอภิธรรมโปรดพระมารดาตลอด 3 เดือนโดยมิได้หยุดพัก ทั้งนี้ เพื่อยกย่องและทดแทนพระคุณของพระมารดา

ลูกคนใดที่ทำไม่ดีกับพ่อแม่แม้เพียงเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา หรือทางความคิดก็ตาม ถือว่าได้สร้างบาปมหันต์ ลูกที่ทำให้พ่อแม่น้ำตาตกเท่ากับทำให้พ่อแม่ตกนรก เป็นบาปหนักอย่างยิ่ง หากไม่ทำการขอขมาให้ท่านอโหสิกรรมแล้วไซร้ ชีวิตก็หาความเจริญมิได้เพราะมีบาปกรรมติดตัวมีชั่วติดตน

ดังนั้น ลูกที่หวังความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตจึงควรกล่าวขอขมากรรมกับพ่อแม่ และหมั่นกตัญญูกตเวทีต่อท่านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนเริ่มขอขมาให้จัดเตรียมของ 4 อย่าง ดังนี้

1) ธูปเทียนแพ 1 ชุด 2) มาลัย 1 พวง 3) น้ำสำหรับล้างเท้า+ผ้าสำหรับเช็ดเท้า 4) เงินใส่ซอง

ก่อนเริ่มการขอขมาให้จุดธูปกลางแจ้ง 5 ดอก แทนเทพ ในทิศทั้ง 4 และทิศเบื้องบน หรือ 16 ดอก แทนเทพชั้นครู ตั้งจิตกล่าวอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าขอน้อมบูชาแด่องค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์

วันนี้ข้าพเจ้า (เอ่ยชื่อตนเอง) มีความตั้งใจจะทำพิธีกราบขอขมาอโหสิกรรมต่อบิดามารดา ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ได้โปรดดลบันดาลให้การขอขมากรรมในครั้งนี้จงบรรลุผลสำเร็จตามที่ปรารถนาด้วยเถิด

ข้าพเจ้าขออัญเชิญเทพเทวดาทั้งหลายที่สถิต ณ สถานที่แห่งนี้ และที่สถิต ณ ทิพยสถานวิมานเลิศทั้งหลาย แม่พระธรณี แม่พระคงคา พญายมราช พระภูมิเจ้าที่ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย วันนี้ เวลานี้ ข้าพเจ้าตั้งใจจะทำพิธีขอขมาอโหสิกรรมแก่บิดามารดา ขอท่านได้เป็นสักขีพยานในกรรมครั้งนี้ด้วยเถิด”

ลำดับจากนั้น ให้พ่อแม่นั่งบนเก้าอี้ ล้างเท้าของท่าน เช็ดด้วยผ้าสะอาด จากนั้นถือเทียนแพพร้อมมาลัยคุกเข่าต่อหน้าท่าน กล่าวขอขมาดังนี้ “กายะกัมมัง วะจีกัมมัง มะโนกัมมัง กรรมอันใดที่ลูกได้เคยกระทำล่วงเกินต่อบิดามารดา

ด้วยการกระทำทางกาย มี…(ระบุกรรมทางกายที่นึกได้ เช่น เคยแสดงกิริยาไม่พอใจ กระทืบเท้า ขว้างปาสิ่งของ เคยประชดประชัน ทุบตี ผลักไส) ก็ดี

ด้วยการกระทำทางวาจา มี…(ระบุกรรมทางวาจาที่ตนเคยทำไม่ดีกับพ่อแม่ที่นึกได้ เช่น เคยพูดจาดูหมิ่น ตัดพ้อต่อว่าดุด่าว่าร้าย โกหกหลอกลวง นินทา เถียงคำไม่ตกฟาก กล่าวใช้ให้ทำในสิ่งนั้นสิ่งนี้) ก็ดี

ด้วยการกระทำทางใจ ทางความคิด มี…(ระบุกรรมที่เคยคิดไม่ดีกับพ่อแม่ที่นึกได้ เช่น เคยคิดดูหมิ่น เคยนึกรำคาญ เคยนึกตำหนิติเตียน เคยนึกโกรธ นึกเกลียดชัง เคยคิดในแง่ไม่ดี คิดด่าว่า คิดโกหกหลอกลวง) ก็ดี

อันเป็นเหตุให้พ่อกับแม่เจ็บช้ำน้ำใจ เสียใจ ทุกข์ใจ ร้องไห้เสียน้ำตา ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา ทั้งที่รู้ตัวก็ดี ไม่รู้ตัวก็ดี ทั้งที่เจตนาก็ดี มิได้เจตนาก็ดี ทั้งในอดีตก็ดี ในปัจจุบันก็ดี บัดนี้ เวลานี้ ลูกสำนึกผิดแล้ว จึงกราบขอขมากรรมในสิ่งที่ได้ทำล่วงเกินทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น ขอให้บิดามารดาได้โปรดยกโทษ อโหสิกรรม ซึ่งโทษล่วงเกินทั้งหมดทั้งสิ้นแก่ลูกคนนี้ด้วยเถิด”

จากนั้นยกธูปเทียนแพ มาลัย พร้อมซองเงินมอบให้พ่อกับแม่ ก้มกราบเท้าท่าน 3 ครั้ง บิดามารดากล่าวอโหสิกรรมให้กับลูก และอำนวยอวยพรให้ลูกมีแต่ความสุขความเจริญเป็นอันเสร็จพิธี ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image