ข่าวดราม่า-สภาวิชาชีพสื่อฯ (4)

ข่าวดราม่า-สภาวิชาชีพสื่อฯ (4)

ข่าวดราม่า-สภาวิชาชีพสื่อฯ (4)

เพื่อให้ครบถ้วนกระบวนความว่าด้วยร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน… กับบทบาทของสื่อในการเสนอข่าวที่เข้าลักษณะดราม่า จนเรื่องที่ไร้สาระกลายเป็นกระแสสังคมขึ้นมา

สัปดาห์นี้เลยต้องขยับขยายความต่อให้เห็นภาพรวมถึงที่มา โครงสร้าง องค์ประกอบของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งถูกทักท้วงว่ากรรมการสรรหาฯมาจากกลุ่มบุคคลในวงจำกัด

ตามร่างกฎหมายกำหนดให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชน มีคณะกรรมการสภาวิชาชีพ ประกอบด้วย (1) ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่ผ่านการเลือกกันเองและสรรหา จำนวน 5 คน (2) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน ที่มาจากผู้มีประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน ด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และจากผู้เคยประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน หรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอิสระ ด้านละ 1 คน (3) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โครงสร้าง องค์ประกอบข้างต้นนี้ 69 ท่าน ที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้มีข้อทักท้วงในส่วนนี้ แต่กังวลในเรื่องขององค์ประกอบกรรมการสรรหากรรมการสภาวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบุคคลในวงจำกัด

Advertisement

ได้แก่ 1 คณบดี หัวหน้าภาควิชาหรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มิใช่มหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

2 คณบดี หัวหน้าภาควิชา หรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

3 คณบดี หัวหน้าภาควิชาหรือผู้แทนคณะหรือภาควิชาด้านนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน คัดเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

Advertisement

4 ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนด้านสื่อหนังสือพิมพ์ ด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ด้านสื่อออนไลน์ ซึ่งแต่ละด้านคัดเลือกกันเองให้เหลือด้านละ 1 คน

5 ผู้แทนสหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 1 คน

6 ผู้แทนสภาทนายความ จำนวน 1 คน

7 ผู้แทนกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จำนวน 1 คน

โดยกลุ่มผู้แสดงข้อกังวลให้เหตุผลว่า โครงสร้างของคณะกรรมการสรรหานี้ไม่ได้ยึดโยงกับทั้งสื่อมวลชนและประชาชน แต่กลับมีอำนาจในการคัดเลือกคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งจะมีบทบาทหน้าที่สำคัญ

ประเด็นที่ว่าไม่ได้ยึดโยงกับทั้งสื่อมวลชนและประชาชน ผู้แสดงความกังวลไม่ได้ให้คำอธิบายในรายละเอียดชัดว่าไม่ได้ยึดโยงกับสื่อมวลชนและประชาชนตรงไหน อย่างไร

และถ้าจะให้ยึดโยงทั้งกับสื่อมวลชนและประชาชน ยิ่งกว่าที่เขียนไว้ตัวร่าง พ.ร.บ.นี้ วิธีปฏิบัติควรเป็นอย่างไร กรรมการสรรหาควรมีที่มาจากไหนอีก ด้วยหนทางใด น่าจะมีข้อเสนอเชิงสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกร่วมกันให้ดีที่สุด

แต่เมื่อยังไม่เสนอให้ชัดก็คงเป็นภาระหน้าที่ของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะนำไปพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสม

ก่อนหน้านั้น หรือระหว่างนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทุกแขนงที่มีบทบาทอยู่น่าจะรับข้อเสนอเปิดเวทีพูดคุยเสวนาเพื่อหาบทสรุปในประเด็นที่ยังเห็นต่างกับสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ยังคงปรากฏข่าวดราม่าในสื่อมวลชนและสื่อโซเชียลไม่ได้หยุดหย่อน

สื่อมวลชนและสื่อโซเชียลควรมีสิ่งพึงสังวรอะไร อย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของสาธารณะและผู้บริโภค เป็นเป้าหมายที่สำคัญในการมีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนอีกด้วย

มิใช่เพียงแค่กำกับ คุ้มครองแต่สื่อมวลชนและสื่อโซเชียลให้ทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบเท่านั้น

โดยเฉพาะประเด็นกลไกที่เอื้อให้สมาชิกมีส่วนร่วมและตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งฝ่ายที่มีข้อกังวลเป็นห่วง หากร่วมกันเสนอแนะทางออกที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม บทบาทของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่ควรจะเป็นมีโอกาสเป็นไปได้มากทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image