เดินหน้าชน : ประเมิน‘โควิด’ โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

ผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์กันไปแล้ว กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า อาจจะพบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่ม วันละ 50,000-100,000 ราย คงต้องตามไล่ดูแต่ละวันหลังจากนี้เป็นต้นไป ตัวเลขติดเชื้อจะออกมาที่เท่าไหร่ หลังจากช่วงก่อนเข้าสู่เทศกาลมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้สูงอายุกลุ่ม 608 เข้ารับการกระตุ้นวัคซีนเข็ม 3 และ 4 กันอย่างต่อเนื่อง

หวั่นเชื้อจากลูกหลาน หรือผู้ที่ไปเยี่ยมผู้อาวุโสจะเอาเชื้อโควิดไปแพร่ด้วย เนื่องจากผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี อีกกว่า
ล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก เพื่อหวังลดอัตราความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิต ควบคู่กับมาตรการป้องกัน สวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างต่อเนื่อง

ต้องย้อนกลับมาดูฉากทัศน์โควิด-19 คาดการณ์ยอดติดเชื้อหลังสงกรานต์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เคยกล่าวไว้เมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่า การติดเชื้อในประเทศไทยขณะนี้มีผู้เสียชีวิตเกิน 100 ราย ติดต่อกันหลายวัน ในนั้นมีผู้ป่วยติดเตียงเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ผู้เสียชีวิตร้อยละ 97 ยังคงเป็นผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง

ส่วนฉากทัศน์ของกระทรวงสาธารณสุขจำลองคาดการณ์ไว้ 3 ฉากทัศน์ด้วยกัน

Advertisement

ฉากทัศน์ที่ 1 สถานการณ์ดีที่สุด จะมีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 20,000 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,000 รายต่อวัน ผู้เสียชีวิตประมาณ 50 รายต่อวัน

ฉากทัศน์ที่ 2 สถานการณ์ปานกลาง จะมีผู้ติดเชื้อ 50,000 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 3,000 รายต่อวัน ผู้เสียชีวิตประมาณ 140 รายต่อวัน

ฉากทัศน์ที่ 3 สถานการณ์เลวร้ายที่สุด จะมีผู้ติดเชื้อ 100,000 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 6,000 รายต่อวัน และผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่ 250 รายต่อวัน

Advertisement

การคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขเชื่อว่า การติดเชื้อจะอยู่ที่ฉากทัศน์ที่ 2 คือติดเชื้อไม่เกิน 50,000 รายต่อวัน ถือเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงปัจจุบัน ประชาชนให้ความร่วมมือตลอดกิจกรรมสงกรานต์ แต่ถ้าตัวเลขติดเชื้อมากขึ้นจนเลวร้ายที่สุด ไปติดที่ยอดติดเชื้อวันละแสนคน อย่างนี้ถือว่าไม่มีการให้ความร่วมมือ

ต้องยอมรับว่า ด้วยอาการของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่เป็นสายพันธุ์หลักในขณะนี้ ประชาชนทราบกันดีว่าติดเชื้อง่ายกว่าสายพันธุ์เดลต้าหลายเท่า แต่อาการไม่หนักถึงขั้นลงปอด โอกาสที่ผู้ติดเชื้อจะเสียชีวิตก็น้อยกว่าเดลต้าหลายเท่า น่าจะเป็นคำท่องในใจของใครต่อใครที่อาจจะเกิดการย่อหย่อนต่อมาตรการดูแลตัวเองและคนรอบข้างได้เช่นกัน

คิดอย่างนี้ก็นับว่าอันตรายอย่างยิ่ง

ขณะที่เป้าหมายของประเทศไทยต้องการทำให้โควิดหลังจากนี้เข้าสู่โรคฤดูกาลประจำถิ่น ก็ต้องมีเงื่อนไขที่กำหนดไว้ อาทิ เชื้อลดความรุนแรง ประชาชนมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี และรัฐจัดระบบการบริหารจัดการ การดูแลรักษา และควบคุม หรือชะลอการระบาดได้อย่างดี ขณะนี้ประเทศไทยก็อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว

โดยเฉพาะความร่วมมือของทุกภาคส่วนและประชาชน จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการร่วมเดินหน้ารับมือให้โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นด้วยเช่นกัน ความร่วมมือก็เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์มาตลอดทั้งการป้องกันตนเอง การฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกัน

คงต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่เพื่อไปสู่เป้าหมายของการให้โควิดเป็นเพียงโรคประจำถิ่น แม้จะพบว่าในหลายประเทศ
ทั่วโลกยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามของโควิดอย่างหนัก

ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการโครงการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ก็ยังมองภาพรวมของโควิดทั่วโลกว่า โควิดยังคงอยู่ห่างไกลจากการกลายเป็นโรคประจำถิ่น เพราะยังสามารถเกิดการระบาดใหญ่เกิดขึ้นทั่วโลกได้อีก จึงไม่เชื่อว่า โลกกำลังแตะเข้าถึงจุดใกล้เคียงกับการเห็นโรคติดต่อโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

สำหรับเป้าหมายของประเทศไทยจะทำได้หรือไม่ อีกไม่นานได้รู้กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image