ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ : สิทธิสูงสุดของมนุษย์ที่อยู่เหนือกฎหมายรัฐ

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ : สิทธิสูงสุดของมนุษย์ที่อยู่เหนือกฎหมายรัฐ

ด้วยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาที่ อ.1113/2561 พิพากษาในกรณีเด็กสาวอายุ 18 ปี สมัครสอบเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (หญิง) เมื่อผู้สอบผ่านข้อเขียนแล้ว เข้ารับการตรวจร่างกาย

โดยคณะกรรมการผู้รับผิดชอบได้จัดให้มีการตรวจคราวละ 5-10 คน แต่ละคนต้องถอดเสื้อออก เพื่ออยู่ในสภาพพร้อมตรวจกับแพทย์ทันทีเมื่อถึงคิว และยืนรออยู่ที่ประตูห้อง หลังจากตรวจเสร็จแล้วผู้สมัครสอบดังกล่าวเห็นว่า การตรวจด้วยวิธีเช่นนั้นน่าจะไม่ชอบ จึงมายื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้นสังกัดของโรงเรียนนายร้อยตำรวจต่อศาลปกครองชั้นต้น เรียกค่าสินไหมทดแทน 5.5 ล้านบาท

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ในการตรวจร่างกายของผู้สมัครสอบคัดเลือก ต้องกระทำเท่าที่จำเป็น เพื่อการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งต้องได้รับความคุ้มครองและต้องมีผลเป็นการจำกัด หรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองเท่าที่จำเป็น

การที่คณะกรรมการใช้วิธีการตรวจร่างกายโดยการจัดชุดให้ผู้เข้ารับการตรวจร่างกายเข้าตรวจร่างกายพร้อมกันหลายคนโดยแต่ละคนต้องถอดเสื้อออกจากตัว และถือไว้ในลักษณะพร้อมตรวจร่างกายเมื่อพบแพทย์ จึงเป็นวิธีการเข้าตรวจร่างกายที่ยังไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับผู้เข้ารับการตรวจร่างกายที่เป็นเพศหญิง เพราะก่อให้เกิดภาพที่ไม่สมควร และอาจเป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิส่วนตัวเกินจำเป็น

Advertisement

เมื่อวิธีการจัดการตรวจร่างกายเช่นนั้น ไม่มีกฎหมายระเบียบข้อบังคับของทางราชการหรือแบบแผนการปฏิบัติราชการให้กระทำได้ ประกอบกับพฤติการณ์แห่งการกระทำดังกล่าว เห็นได้ว่าขาดความระมัดระวังและขาดมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนแก่ผู้เข้ารับการตรวจร่างกาย

จึงรับฟังได้ว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจร่างกาย มีผลกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิส่วนตัวของผู้ฟ้องคดีเกินความจำเป็น อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 4 มาตรา 26 และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

สตช.ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

Advertisement

ส่วนค่าสินไหมทดแทนนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา 438 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด”

เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า วิธีการเข้าตรวจร่างกายโดยการจัดชุดให้ผู้เข้ารับการตรวจร่างกายเข้าตรวจร่างกายพร้อมกันคราวเดียวหลายคนโดยแต่ละคนต้องถอดเสื้อออกและถือไว้ เพื่อรอรับการตรวจร่างกายกับแพทย์ เป็นการกระทำที่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิส่วนตัวของผู้ฟ้องคดีเกินความจำเป็นโดยคำนึงถึง อายุ อาชีพ ฐานานุรูปของผู้ฟ้องคดีในสังคมประกอบความสมเหตุสมผลในการเยียวยา จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 1 แสนบาท จึงพิพากษา สตช. ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 1 แสนบาท

คำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” นั้น หมายความว่า คุณค่าของความเป็นคนที่มีติดตัวบุคคลตั้งแต่เกิดโดยไม่มีบุคคลใดสามารถละเมิดหรือพรากได้ มนุษย์ทุกคนสามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างมีเกียรติและสง่างามตลอดไป

ประเทศไทยได้มีการกล่าวอ้างถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กันอยู่เสมอ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีการละเมิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนก็เคยเกิดข่าวใหญ่ทางหน้าหนังสือพิมพ์และสถานีวิทยุโทรทัศน์ เนื่องจากหน่วยงานแห่งหนึ่งซึ่งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลและฝึกอาชีพให้แก่บุคคลไร้อาชีพตามกฎหมาย โดยแยกเป็นสถานที่ควบคุมชายและหญิง โดยเฉพาะสถานที่ควบคุมหญิงมิได้สร้างห้องน้ำให้อาบน้ำอย่างมิดชิด ให้ผู้ถูกควบคุมหญิงเปลือยกายเข้าแถวยาวรอการใช้ห้องอาบน้ำอย่างเปิดเผยสามารถมองเห็นทั่วกัน และมีรถยนต์ที่แล่นผ่านไปมา ต่างจอดรถถ่ายภาพกันอย่างเอิกเกริกแล้วส่งภาพไปเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์และสถานีวิทยุโทรทัศน์ ทำให้หน่วยงานรัฐดังกล่าวถูกตำหนิจากสาธารณชนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกควบคุมดังกล่าว ในที่สุดหน่วยงานของรัฐดังกล่าวก็ได้จัดสร้างห้องอาบน้ำให้แก่ผู้ถูกควบคุมซึ่งเป็นสภาพที่เป็นห้องมิดชิดไม่สามารถมองเห็นจากภายนอก เรื่องจึงจบลงด้วยดี

แม้ในต่างประเทศเช่นประเทศแคนาดาซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีบทบาทอย่างสูงในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศตนเองและให้การช่วยเหลือสนับสนุนประเทศอื่นๆ เพื่อส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีข่าวใหญ่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่กระทำต่อชนพื้นเมือง ในรัฐบริติช โคลอมเบีย โดยทางการแคนาดาเปิดเผยถึงการพบศพเด็กนักเรียน 215 ศพ อายุต่ำสุด 3 ขวบ ถูกฝังที่โรงเรียนประจำเก่า แคมลูปส์ อินเดียน เรสซิเดนเทียล ที่ปิดตัวไปแล้วเมื่อปี 2521 ในรัฐบริติช โคลอมเบีย ภาคตะวันตกเฉียงใต้ หลังตรวจจากการใช้สัญญาณเรดาร์สำรวจพื้นใต้ดิน คาดว่าอาจมีการพบศพเพิ่มอีก จากนั้นได้มีการค้นหาตามโรงเรียนประจำเก่าๆ ในหลายพื้นที่และค้นพบศพเด็กนักเรียนถูกฝังอยู่อีกเป็นจำนวนมากถึง 6,000 ศพ

เมื่อปี 2551 ทางการแคนาดาเคยแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการกับโครงสร้างระบบการศึกษาดังกล่าว ทั้งเรื่องการทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ การบังคับให้เปลี่ยนนับถือคริสต์ ไม่ให้พูดภาษาพื้นเมือง ไม่ให้ติดต่อกับครอบครัว ฯลฯ ซึ่งจากรายงานข้อเท็จจริงและการสมานฉันท์ที่เผยแพร่ ถึงกับระบุว่านโยบายนี้เทียบได้เท่ากับ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนพื้นเมือง”

ปัจจุบันได้มีกฎหมายหลายประเทศได้ห้ามหรือยกเลิกการกระทำบางอย่างที่เห็นว่ามีผลกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น การห้ามการทดลองโคลนนิ่งมนุษย์ การบังคับให้สตรีตั้งครรภ์ การห้ามนำบุคคลไปเป็นทาส การค้ามนุษย์ การทรมาน การลงโทษด้วยวิธีการอันทารุณโหดร้ายหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการยกเลิกกฎหมายที่บัญญัติให้การลงโทษประหารชีวิต และใช้วิธีการลงโทษด้วยวิธีการอื่นแทนการลงโทษประหารชีวิต เช่น ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นต้น เพราะเห็นว่าการลงโทษประหารชีวิตเป็นการพรากชีวิตของบุคคลซึ่งกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะหลายประเทศยังใช้โทษประหารชีวิตด้วยวิธีโหดร้ายทารุณ เช่น การตัดคอในที่สาธารณะ การปาด้วยก้อนหินจนกว่าจะตายและหลายประเทศได้ใช้โทษประหารชีวิตผู้กระทำผิดอายุต่ำกว่า 18 ปี

สำหรับประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 55 ประเทศทั่วโลกที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ในขณะที่แนวโน้มทั่วโลกมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต ในปี 2563 มีบันทึกการตัดสินประหารชีวิตอย่างน้อย 35 ครั้ง และจากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ณ วันที่ 23 มีนาคม 2564 มีนักโทษประหารชีวิตอยู่ 254 คน โดยกว่าครึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อย่างไรก็ตาม นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่ไม่มีการประหารชีวิตในประเทศไทย อนึ่ง ประเทศไทยได้แก้ไขกฎหมายห้ามใช้โทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมห้ามประหารชีวิตหญิงตั้งครรภ์และคนวิกลจริต

ส่วนประเทศที่ยกเลิกโทษประหารทุกกรณี ภายในสิ้นปี 2563 มี 108 ประเทศทั่วโลก ยอดรวมล่าสุด คือ 144 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ

โดยที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นมีความสำคัญอย่างสูง ดังนั้น สาส์นรับรองสิทธิและสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกือบทุกๆ ประเทศจะให้การรับรองคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยบัญญัติคุ้มครองไว้ในลำดับต้นๆ ก่อนสิทธิเสรีภาพทั้งหลาย เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ข้อ 1 ได้บัญญัติว่า “มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสระเสรีและเท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรมและการปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง”

สําหรับประเทศไทยได้บัญญัติรับรองคุ้มครอง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ไว้ในรัฐธรรมนูญฯ 2540 เป็นครั้งแรกต่อมารัฐธรรมนูญฯ 2550 ก็ได้บัญญัติไว้เช่นเดียวกัน สำหรับรัฐธรรมนูญฯ 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันได้บัญญัติไว้ในมาตรา 4โดยมีข้อความว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคย่อมได้รับการคุ้มครอง”

มีข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับได้บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่ในลำดับเหนือกว่าสิทธิเสรีภาพทั่วไป แสดงให้เห็นว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่ในฐานะเหนือกว่าสิทธิเสรีภาพทั่วไป เพราะตามรัฐธรรมนูญรัฐอาจตรากฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสมและมีความจำเป็น โดยรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 26 บัญญัติว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย”

ดังนั้น เห็นได้ว่ารัฐสามารถตรากฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนได้เท่าที่ไม่เกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ไม่สามารถตรากฎหมายที่จะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้เลย มิฉะนั้นจะขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้บังคับได้ตามมาตรา 5 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมายหรือบังคับใช้หรือการกระทำใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

ตัวอย่างเช่น รัฐจะบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญากำหนดให้มีการลงโทษทางอาญาบุคคลด้วยการใช้วิธีการโบยหรือเฆี่ยนตีหรือขังเดี่ยวหรือขังในห้องมืด ฯลฯ ก็อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 28 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า “การทรมานทารุณกรรมหรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้” การลงโทษด้วยวิธีดังกล่าวโหดร้ายทารุณกรรมต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างชัดแจ้ง

อนึ่ง ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี “อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี” ของสหประชาชาติด้วยแล้ว

มาตรการใหม่ที่สำคัญอีกประการในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็คือ “การคุ้มครองศักดิ์ศรีศพของผู้เสียชีวิต” ซึ่งในต่างประเทศได้มีการคุ้มครองมาช้านานแล้ว เนื่องจากผลการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ฮิตเลอร์และพรรคนาซีได้กระทำต่อศพของชนเผ่ายิวที่ถูกนำมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ค่ายเอาช์วิทซ์ในโปแลนด์นับล้านคน โดยได้นำศพของชาวยิวไปทำประโยชน์คล้ายกับซากสัตว์ เช่น การกล้อนผมเพื่อเอาไปทำหมอนหนุนศีรษะ เอาหนังผู้ตายไปทำเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้เช่นโคมไฟ เอาไขมันไปทำสบู่ เอาทองที่เลี่ยมฟันเอาไปหลอมเป็นทองแท่งเพื่อเก็บไว้ในธนาคารต่อไป ฯลฯ

สำหรับประเทศไทยที่เคยเกิดปัญหาการนำศพของ “ซีอุย” ซึ่งถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิตในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น จากนั้นได้นำศพของซีอุยซึ่งผ่านกระบวนการทำมิให้เน่าเปื่อยแล้วนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนได้ชม โดยให้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการทางด้านอาชญาวิทยาเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งมีเสียงคัดค้านและเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้นำศพของซีอุยไปทำพิธีฌาปนกิจเพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และปัจจุบันทางหน่วยงานที่จัดแสดงดังกล่าวก็ได้นำศพซีอุยไปทำพิธีฌาปนกิจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี พ.ศ.2558 ได้มีการบัญญัติกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติความผิดและโทษที่กระทำต่อศพไว้แล้ว คือ (1) ความผิดฐานกระทำชำเราศพ มาตรา 366 (1) (2) ความผิดฐานกระทำอนาจาร มาตรา 366 (2) (3) ความผิดฐานทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมราคาหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพ ส่วนของศพ อัฐิหรือเถ้าของศพ มาตรา 366 (3) (4) ความผิดฐานดูหมิ่นเหยียดหยามศพซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น การนำศพของผู้ที่กระทำผิดอาญามาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์จึงอาจกระทำไม่ได้อีกต่อไป เพราะเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายคุ้มครองศพดังกล่าว หากจัดทำในรูปของพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งเหมือนต่างประเทศน่าจะเหมาะสมมากกว่าเพราะไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สำหรับทางการแพทย์ก็ได้นำหลักการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาบัญญัติไว้ในกฎหมายด้วยแล้ว โดยพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2553 มาตรา 15 บัญญัติว่า “ผู้ป่วยย่อมมีสิทธิดังต่อไปนี้

(1) ได้รับการบำบัด รักษา ตามมาตรฐานทางการแพทย์และฟื้นฟูสมรรถภาพโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฯลฯ”

จากที่กล่าวมาข้างต้นคงเห็นได้ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” นั้นเป็นสิทธิสูงสุดที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ เพศ ผิว ภาษา ศาสนาใด ยากดีมีจน สถานะทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมใด ฯลฯ ทุกคนจะมีเท่าเทียมกัน ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างหาทางส่งเสริมคุ้มครองให้ดีขึ้นเป็นลำดับ และรัฐจะต้องให้ความเคารพส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ดีที่สุด งดเว้นการกระทำใดๆอันมีผลเป็นการจำกัดหรือลิดรอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image