จะเข้าข้างใครในภาวะความยุ่งเหยิง ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

จะเข้าข้างใครในภาวะความยุ่งเหยิง ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

จะเข้าข้างใครในภาวะความยุ่งเหยิง

ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

การรุกรานอธิปไตยของยูเครนทำให้การแสวงหาแนวร่วมอุดมคติทางประชาธิปไตยของโลกตะวันตกถูกจับตามองมากขึ้นช่วงนี้ แม้ว่านโยบายความแข็งกร้าวของรัสเซียและภาพของความเสียหาย
ผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต จะถูกตีแผ่อย่างต่อเนื่องในสื่อ แต่ในโลกที่มีการแบ่งขั้วทางความคิด ก็ยังมีปฏิกิริยากับเรื่องนี้อย่างหลากหลาย มีทั้งฝ่ายที่ต่อต้านความรุนแรง ไม่เห็นด้วยกับการรุกรานอธิปไตย ฝ่ายที่ไม่แสดงความเห็น และฝ่ายที่คลางแคลงใจกับกระบวนการของพันธมิตรชาติตะวันตกในการต่อต้านรัสเซีย

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของการแบ่งพรรคแบ่งพวกในครั้งนี้ก็คือ ความขัดแย้งเรื่องยูเครนมาในช่วงเวลาเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตโควิด ทำให้ความมุ่งมั่นในการรวมตัวของกลุ่มชาติตะวันตกเพื่อชนกับปูตินถูกสั่นคลอนด้วยภาระทางบ้านของแต่ละชาติที่ต้องทำให้สมดุล มุมมองเรื่องของการจะเข้าข้างฝ่ายไหนไม่ได้ตัดสินตรงๆ จากอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่อเนื่องกันด้วย

Advertisement

ยกตัวอย่างเยอรมนีที่ยังไม่สามารถตัดใจยกเลิกการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียได้เพราะกลัวปัญหาเงินเฟ้อและการว่างงานที่จะตามมา หรือปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่รุมเร้านายมาครง ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสเสียจนผู้ท้าชิงอย่างนางเลอ แปน ก็มีโอกาสพลิกชนะได้ ทำให้เจตนาในการบอยคอตรัสเซียด้านต่างๆ (ซึ่งหลายอย่างส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจประเทศตน) ดูเหมือนจะละล้าละลังและไม่กล้าใส่เกียร์เดินหน้าเต็มสูบ การจะขอเสียงสนับสนุนจากประชาชนในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งไกลตัวครั้งนี้ ทำยังไงมิให้ส่งผลกระทบทางด้านความกินดีอยู่ดีของประชากรในประเทศ ซึ่งแน่นอนว่ามีนัยยะต่อฐานเสียงสนับสนุนรัฐบาลของแต่ละประเทศในยามข้าวยากหมากแพงและเศรษฐกิจตกสะเก็ด

สหรัฐ เองก็คงมองขาดในเรื่องนี้ ดังนั้นการเดินหน้าเพื่อหาพันธมิตรเพิ่มเติมในกลุ่มประเทศใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งที่นายไบเดนให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ รวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์ที่ถือเป็นประเทศเป็นกลางที่สุดประเทศหนึ่ง โดยสหรัฐ เองดูเหมือนจะพึงพอใจกับการที่ได้ประเทศที่เป็น ศูนย์กลางด้านการเงิน ใหม่ๆ พวกนี้มาเป็นพันธมิตร เพราะต้องบอกว่าในยุคนี้ การทำสงครามผ่านเครื่องมือทางการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ดูเหมือนจะสร้างความเสียหายให้กับผู้ที่ถูกกระทำในระยะยาวได้มากกว่าการทำสงครามแบบเดิมๆ ที่เดิมพันกันด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

แต่อย่าลืมกันนะครับว่าประเทศอย่าง จีน บราซิล อินเดีย แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัสเซียในกลุ่ม BRICS ที่มีประชากรรวมเป็น 40% ของประชากรโลกและคิดเป็น 25% ของจีดีพี โลกก็ยังเลือกที่จะไม่แสดงท่าทีต่อต้านหรือบอยคอตรัสเซียในครั้งนี้ แถมยังส่งสัญญาณไปทางเอาใจรัสเซียเสียด้วยซ้ำ

Advertisement

การประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐอเมริกาและผู้นำอาเซียนช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคมกลายเป็นวาระที่น่าติดตามว่าเวทีนี้จะถูกใช้เป็นพื้นที่ในการหาพรรคพวกร่วมคว่ำบาตรรัสเซียของสหรัฐหรือไม่ เพราะเชื่อว่าถึงวันนั้นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนน่าจะยังไม่จบลงง่ายๆ อีกทั้งภูมิภาคอาเซียนเองก็เป็นกลุ่มประเทศที่ยังมีเสียงแตกแยกในท่าทีต่อรัสเซีย ทุกชาติในอาเซียนยังพยายามวางตัวเป็นกลาง ต่อต้านสงครามความรุนแรงแต่ไม่ประณามรัสเซีย ยกเว้นสิงคโปร์ประเทศเดียวที่ประกาศคว่ำบาตรและประณามอย่างเต็มตัว

ถือเป็นความท้าทายในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยเราเองไม่น้อย ที่จะต้องคอยติดตาม จับตา และชั่งน้ำหนักพลวัตการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้ดีๆ ในจังหวะนี้ ยอมรับครับว่ายากกว่าสมัยก่อนเยอะ ความเชื่อมโยงของตัวผู้เล่นต่างๆ ในสังคมโลกยุคนี้มีความซับซ้อนมาก สมัยนี้บทบาทของภาคเอกชน ภาครัฐ ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ไม่ได้ถูกพันธนาการโดยกลไกของอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างเดียวแล้ว

ก็ฝากไว้กับกระทรวงการต่างประเทศของเราที่จะชี้นำรัฐบาลให้เดินไปในทิศทางที่สมควร เหมือนที่ผมเคยบอกไว้ว่าการเข้าใจประวัติศาสตร์โลกและตีความนโยบายแบบเดิมๆ ไม่ได้สำคัญเท่าการมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและปรับตัวให้ทันแล้วครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image