บทนำ : สู้คดีกันยังไง

บทนำ : สู้คดีกันยังไง

บทนำ : สู้คดีกันยังไง

ศาลฎีกาและศาลแพ่ง ตัดสินคดี นายสุรพล เกียรติไชยากร อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย โดยชี้ว่าการจ่ายเงิน 2,000 บาท บูชาเทียนวันเกิด ไม่ใช่การซื้อเสียง และตัดสินให้ กกต.ชดใช้และเยียวยานายสุรพล เป็นเงิน 64.1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย คดีอยู่ระหว่างรอ กกต.ยื่นอุทธรณ์ ในเรื่องนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เคยกล่าวว่า กกต.สู้คดีอย่างไรถึงแพ้ ยังงงอยู่เหมือนกัน เพราะต้องคิดก่อนที่จะมีคำสั่งออกไป เข้าใจว่า กกต.ต้องเชื่อหลักฐานที่มี แต่นายสุรพลไปงัดเอาหลักฐานอื่นที่เหนือกว่าขึ้นมา สุดท้ายแพ้คดี หากต้องจ่ายเงิน รัฐเป็นผู้จ่าย เพราะ กกต.ที่ออกคำสั่ง ไม่ได้สั่งโดยเถยจิตหรือเจตนาร้ายเป็นส่วนตัว เป็นการทำในหน้าที่ราชการ

ต่อมา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.โพสต์เฟซบุ๊กว่า ไปอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา และคำพิพากษาคดีละเมิด ของศาลจังหวัดฮอด เห็นจุดอ่อนของ กกต. 1.การพิจารณาคดีอย่างรีบด่วน ในวันที่ 23 เมษายน 2562 ทั้งที่ยังเหลือเวลาในกรอบ 60 วัน อีกถึง 30 วัน 2.สำนวนจากเชียงใหม่ มาถึง กทม. ลงรับเวลา 10.02 น. ของวันที่ 23 เมษายน 2562 บรรจุเป็นวาระการประชุมในวันเดียวกัน เวลา 13.30 น. เป็นวาระที่ 5.4 ดูเร่งรีบผิดปกติ 3.กกต. 7 คน ไม่ได้รับเอกสารล่วงหน้า ปกติต้องส่งเอกสารให้ก่อน 7 วัน 4.การประชุมในวาระที่ 1-4 กกต.อยู่ครบ 7 คน แต่พอวาระที่ 5.1-5.4 กกต.ท่านหนึ่งติดภารกิจ แม้ว่าองค์ประชุมคือ 5 คน แต่เรื่องสำคัญควรอยู่ครบ 5.การลงมติ 6:0 เกิดขึ้นหลังจากประชุม ซักถามประมาณ 1 ชม. คำถามและคำตอบจากเจ้าหน้าที่ขาดความชัดเจน แต่กลับลงมติให้ใบส้ม ฯลฯ

กรณี “ใบส้ม” ที่เกิดขึ้น นอกจากสร้างความเสียหายให้กับผู้สมัครแล้ว จนศาลตัดสินดังกล่าวแล้ว ยังกระทบต่อบทบาทชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ เรื่องขององค์กรอิสระ เป็นอีกประเด็นที่น่าจะต้องมีการแก้ไขในเรื่องที่มา ให้มีการเชื่อมโยงกับประชาชนมากขึ้น รัฐธรรมนูญในช่วงเริ่มต้นมีองค์กรอิสระ ให้วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีบทบาทในการสรรหาและรับรอง ต่อมาเกิดรัฐประหาร รัฐธรรมนูญหลังรัฐประหารให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง แต่ยังทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสรรหา มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง เป็นประเด็นสำคัญที่ควรต้องแก้ไข

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image