ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง เกิด‘ฌาน’กับ‘ญาณ’ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านบทความของท่านสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ธรรมนิพนธ์ที่พูดถึง “ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง” รู้สึกว่ามีประโยชน์เพราะท่านเจ้าประคุณสาธยายแบบเข้าใจง่ายกระชับเหมาะแก่การที่จะเผยแผ่ ความว่า :

การปฏิบัติธรรมขั้น “ภาวนา” สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา : มีหลักการและผลสำเร็จ คือ ตัวการหลักของ “สมาธิ” อยู่ที่ไหนการบำเพ็ญเพียรทางจิต การบำเพ็ญสมถะ การบำเพ็ญเพียรสมาธิ ตัวหลักการที่แท้อยู่ที่ไหน บางท่านงงการทำสมาธินี้ เดี๋ยวกำหนดลมหายใจ เดี๋ยวไปแบ่งกสิณ เดี๋ยวไปภาวนา “พุทโธ” เดี๋ยวไปเจริญเมตตา เดี๋ยวไปเจริญพรหมวิหารธรรม ถามว่าอะไรกันแน่ที่เป็น “สมาธิ”

ถ้าจับหลักได้แล้วก็นิดเดียวเท่านั้นเอง “สมาธิ” ไม่มีอะไร คือ การที่เราสามารถทำให้จิตใจกำหนดแน่วแน่อยู่กับ “สิ่งเดียว” ได้ตามที่ต้องการเท่านั้นเอง

การที่เรากำหนดลมหายใจเพื่ออะไร? ก็เพราะว่าใจของเรามันยังไม่แน่วแน่ ยังกำหนดสิ่งเดียวไม่ได้ มันฟุ้งซ่านเลื่อนลอยเรื่อยไป เราก็เลยพยายามหาเทคนิค หากลวิธีมาช่วยให้มันกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งเดียวให้ได้ สิ่งที่เราเอามาช่วยนั้นเรียกว่า “กรรมฐาน” (เขียนว่า กัมมัฏฐานก็ได้) เป็นเครื่องมือ เป็นที่ทำงานหรือทกัมมัฏฐาน แปลว่า ที่ทำงาน คือ ที่ทำงานหรือที่ฝึกงานของจิตเพื่อให้จิตได้รับการฝึกฝนจนสามารถอยู่กับสิ่งเดียวได้ ฝึกให้จิตทำงานเป็น เพราะจิตทำงานไม่ได้ดี จิตยุ่งวุ่นวาย คอยจะเล่นเดี๋ยวก็ไปซุกซน ฟุ้งซ่าน จึงให้มันทำงาน ให้มันอยู่กับสิ่งเดียวให้ได้ เอาลมหายใจมาให้มันกำหนดบ้าง เอาเมตตามาให้มันกำหนดบ้าง เอากสิณมาให้มันเพ่งบ้าง เอามือมาเคลื่อนไหวให้มันตามให้ทันบ้าง เดินจงกรมบ้าง เอามาเป็นอุบายเป็นเทคนิคต่างๆ แต่สิ่งที่ต้องการเมื่อเกิดผลสำเร็จ แล้วมีอันเดียว คือ “จิตกำหนดจับอยู่กับสิ่งเดียวได้”

Advertisement

ถ้าเมื่อใดจิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งเดียวได้นั้นคือ “สมาธิ” ไม่ว่าท่านจะใช้วิธีการ อย่างไรก็ตาม ขอให้ได้ผลสำเร็จนี้ก็ใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องไปเอาวิธีท่านบอกไว้ก็ได้ แต่วิธีที่ท่านบอกไว้นั้น ท่านเคยได้ทดลองมันมาแล้วว่าได้ผล เป็นประสบการณ์ได้บอกเล่ากันมาบันทึกกันไว้เป็น “ปริยัติ” เราก็เชื่อ “ปริยัติ” ในแง่ที่ว่าเป็นประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติแล้วได้ผลมาแล้ว เราจะได้ไม่ต้องมาลองผิดลองถูกซ้ำๆ กันอีก

เป็นอันว่าหลักการของ “สมถะ” มีอันเดียว คือ การทำให้จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งเดียวที่ต้องการได้ แล้วก็ตามต้องการได้ด้วย อยู่กับสิ่งเดียวที่ต้องการ บางทีทำเสร็จแล้วแต่ไม่ได้ตามต้องการ เช่น มันอยู่ได้สักพักเดียวก็ไปเสียอีกแล้ว อย่างนี้เรียกว่า ไม่ได้ตามต้องการ ถ้าสำเร็จจริงก็จะต้องให้ได้ความต้องการ จะเอาชั่วโมงก็ได้ชั่วโมง ครึ่งชั่วโมงก็ได้ครึ่งชั่วโมง สองชั่วโมงก็ได้สองชั่วโมง ถ้าอย่างนั้นเรียกว่า “สมาธิจริง” แน่วแน่ต้องการให้อยู่กับอะไรนานเท่าไรก็อยู่กับอันนั้นนานเท่านั้น ใจไม่วอกแวกไปอีกด้วย

ต่อไป “วิปัสสนา” จะมีวิธีปฏิบัติมีเทคนิคอย่างไรก็ตาม สาระหรือหลักการของมันมีอันเดียวกัน คือ “การรู้เห็นตามเป็นจริง” หรือ “รู้เห็นตามที่มันเป็นไม่ใช่รู้เห็นตามที่เราคิดให้มันเป็น ไม่ใช่รู้เห็นตามที่อยากให้มันเป็น”

Advertisement

คนเรานี้มักจะเป็นอย่างนั้น คือ รู้เห็นตามที่คิดให้มันเป็น เรียกว่า “คิดปรุงแต่งไป” แล้วมันก็เหมือนจะเป็นตามที่คิดอย่างนั้น “เมื่อใดรู้เห็นตามที่มันเป็นของมันจริงๆ ก็เรียกว่า นี่แหละเกิดวิปัสสนาความรู้แจ้งแล้ว”

วัตถุประสงค์ของ “วิปัสสนา” ตัวหลักการที่แท้ก็เท่านี้เอง คือ รู้เห็นตามที่มันเป็น แต่ว่าเพียงเท่านี้แหละมันยากหนักหนา เพราะว่าคนเรารู้เห็นตามที่ใจอยากให้เป็น หรือรู้เห็นตามที่คิดปรุงแต่งให้มันเป็นเสียมาก

ทีนี้พอได้หลักการแล้ว ต่อไปเมื่อปฏิบัติได้ผลดีแล้ว “สมถะ” ก็จะนำไปสู่ผลสำเร็จที่เรียกว่า “ฌาน” กล่าวคือ พอได้สมาธิลึกๆ แล้ว แน่วแน่ขึ้น ดีขึ้น ตามต้องการต่อไปก็ได้ “ฌาน”

“ฌาน” คือ สภาพจิตที่มีสมาธิเป็นแกนประกอบด้วยคุณสมบัติอื่นๆ ที่ดีงามอีก 2-3-4-5 อย่าง แล้วแต่ ฌาน ขั้นไหนเป็นผลที่ประสงค์สำคัญของ “สมถะ” หรือ “จิตตภาวนา”

ฝ่าย “วิปัสสนา” ที่ว่ามีหลักการ คือ รู้ตามความเป็นจริงผลที่เกิดขึ้นมา คือ “ญาณ”

ผลที่ประสงค์ของสมถะ คือ “ฌาน” ผลถึงผลสำเร็จของวิปัสสนา คือ “ญาณ”

“ฌาน” ของสมถะนั่นแปลว่า การเพ่งพินิจแน่วแน่อยู่จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ แต่วิปัสสนาทำให้เกิด “ญาณ” คือ “ตัวความรู้” หรือ “ความหยั่งรู้” “ญาณ” จึงเป็นผลที่มุ่งหมายของ “วิปัสสนา”

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นผลสำเร็จทั่วไป ต่อไปเป็นผลสำเร็จ “ขั้นสุดท้าย” กล่าวคือ ผลสำเร็จขั้นสุดท้ายของ “สมถะ” เมื่อทำให้จิตใจแน่วแน่เป็นอารมณ์เดียวเกิด “ฌาน” พอได้ฌานมาแล้วจะเกิดผลสำเร็จขั้นสุดท้าย คือ จิตจะปลอดพ้นหลุดไป หมายถึง หลุดพ้นไปจากสิ่งไม่ดีไม่ต้องการทั้งหมด เดือดร้อนวุ่นวาย สิ่งที่เป็นกิเลสทั้งหมด ก็เรียกว่าเป็น “ความหลุดพ้น” แต่ความหลุดนั้นเป็นไปได้ชั่วคราว เมื่อไรจิตเราออกจากสิ่งที่ที่กำหนดออกจากสมาธิ จิตของเราสู่สภาพเดิม กล่าวคือ ขุ่นมัว เศร้าหมองได้อีก อันนี้เรียกหลุดพ้นชั่วคราว เราเรียกกันว่า วิกขัมภนวิมุตฺติ หรือสมยวิมตฺติ แปลว่า หลุดพ้นชั่วคราว (รู้ไว้เลยอาจไม่ต้องจำ)

ส่วน “วิปัสสนา” ทำให้เกิด “ญาณ” มีความรู้แจ่มแจ้ง รู้ตามที่เป็นจริง เมื่อรู้ตามที่เป็นจริงแล้ว จิตก็จะเป็นอิสระหลุดพ้นจากสิ่งนั้นเด็ดขาดไปเลย

เมื่อรู้เข้าใจสิ่งใดตามความเป็นจริงแล้วจิตของเราก็หลุดพ้นจากความยึดติดในสิ่งนั้น แล้วเราก็ไม่ขุ่นมัวขัดข้องอีกเลย เรียกว่า อสมยวิมุตฺติ คือ หลุดพ้นไม่จำเกิดสมัย เรียกอีกอย่างว่า สมุจเฉทวิมุตฺติ คือ หลุดพ้นโดยเด็ดขาด

โดยสรุป : “ภาวนา” มี 2 อย่าง ทวนอีกครั้งหนึ่ง คือ อย่างที่ 1 : “จิตตภาวนา” หรือ “สมถภาวนา” มีหลักการคือ การทำให้จิตใจแน่วแน่อยู่กับสิ่งเดียวที่กำหนดได้ตามที่ต้องการ แล้วก็ทำให้เกิด “ฌาน” ทำให้เกิดการหลุดพ้นจากทุกข์ ความขุ่นมัว เศร้าหมองจากกิเลสทั้งหลายได้ชั่วคราว

อย่างที่ 2 : “ปัญญาภาวนา” มุ่งเอาวิปัสสนาภาวนามีหลักการสำคัญที่เป็นสาระ คือ การรู้เห็นตามความเป็นจริง หรือตามสภาวะของมันแล้วทำให้ “ญาณ” ความหยั่งรู้ทำให้เกิดการหลุดพ้นจากความทุกข์ ความขุ่นมัวเศร้าหมองและกิเลสทั้งหลาย อย่างไม่จำกัดกาลเวลาอย่างเด็ดขาดสิ้นเชิงตลอดไป ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image