คนที่โชคดีที่สุดคือใคร?

คนที่โชคดีที่สุดคือใคร?

คนที่โชคดีที่สุดคือใคร?

โลกนี้ คือ ละคร เพลงไทยสากลที่ขับร้อง โดย สุเทพ วงศ์กำแหง โดยมีคุณไพบูลย์ บุตรขัน เจ้าของผลงานอมตะมากมายเป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องและทำนอง ผู้เขียนจดจำเนื้อร้องท่อนหนึ่งที่ขึ้นใจ

“โลกนี้นี่ดู ยิ่งดูยอกย้อน เปรียบเหมือนละคร ถึงบทเมื่อตอนเร้าใจ บทบาทลีลาแตกต่างกันไป ถึงสูงเพียงใด ต่างจบลงไปเหมือนกัน เกิดมาต้องตาย ร่างกายผุพัง ผู้คนเขาชัง…”

โรงละครเหมือน “คน” ที่อยู่ในโลกใบนี้ มีทั้งคนดี คนไม่ดี แต่ละครเขาจะมีตัวพระเอก นางเอก ตัวโกง ตัวร้าย นางอิจฉา ตัวตลก เศรษฐี คนจน ทหาร ตำรวจ เป็นต้น แต่ละตัวแสดงก็ใส่บทลีลา ท่าทาง วาจา อารมณ์ ได้แตกต่างกันไปแล้วแต่จะสวมหัวโขน หรือกำหนดให้เล่นเป็นตัวอะไร บทอะไร? หน้าที่ คือ “ผู้แสดง” หรือ “ตัวแสดง” ต้องแสดงให้สมบทบาทเหมือนจริง หรือใกล้เคียงมากที่สุด ฉะนั้นในโรงลิเก หรือละคร แต่ละชุดแต่ละเรื่อง ผู้เขียนเองเชื่อว่า ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง ก็คงมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน คือ คุณค่า หรือบทเรียน หรือ “ประโยชน์” ที่จะได้รับและสะท้อนสู่สังคม มีแง่บวกแง่ลบอย่างไร หรือผู้จ่ายเงิน ผู้รับเงินพึงพอใจกับผลการแสดงออกมาแล้ว ก็ดีใจพึงพอใจทั้งสองฝ่ายน่าจะเป็นดีที่สุดโดยเฉพาะ ถ้าแสดงจบแล้วแต่ละเรื่องให้แง่คิด คติเตือนใจที่เป็นต้นแบบ หรือแบบอย่างหรือข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ เตือนสติ ลูกๆ หลานๆ ของเราน่าจะมีคุณค่าแก่ “ตัวผู้แสดง” อีกด้วย เป็นวิทยาทานให้อนุชนรุ่นหลัง และเป็นเครื่องเตือนสติว่า เราทุกคนล้วนโลดแล่นในบทบาทสมมุติ จึงต้องรู้จักเตือนตนเอง ให้รู้และเข้าใจความเป็นจริงตลอดเวลา

Advertisement

1.คนที่ “น่าอิจฉา” ที่สุด คือ “คนที่ไม่อิจฉาใครเลย” มันเป็นเคล็ดลับความสุขง่ายๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำกัน

2.“ทุกอย่างบนโลกใบนี้” หรือ “โรงละคร” โรงนี้เป็นเพียงสิ่งชั่วคราว เดี๋ยวปิดโรง “ถ้ามันดี” ให้มีความสุขกับมัน เพราะมันจะอยู่กับเราได้ไม่นานอีกเหมือนกัน

3.“เวลาโกรธหรือโมโหใคร” “อย่าไปด่าเขา” เพราะเมื่อความโกรธหายไป แต่คำด่ายังฝังใจ คนนั้นนานเท่านาน

Advertisement

4.“ทุกวินาทีที่หายใจอยู่” คือ โอกาสของชีวิต อย่ากลัวการเริ่มต้นใหม่ อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง และอย่าแคร์สายตาใคร หายใจด้วยจมูกของเราเอง ยืนด้วยลำแข้งของเราเอง

5.“ไม่ยุ่งกับชีวิตคนอื่น” ไม่ขัดความสุขคนอื่น ไม่คิดแทนคนอื่น ไม่อิจฉาคนอื่น ไม่ดูถูกคนอื่น ทำตัวเราเองให้เป็นสุขด้วยยึด “อุเบกขา” พร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือผู้อื่น หากเขามีทุกข์ ด้วย อุเบกขาบารมี

6.“จงอย่าอิจฉาคนอื่น” และ “จงอย่าใช้ชีวิตให้คนอื่นอิจฉา” แต่จงใช้ชีวิตเผื่อแผ่ให้คนอื่นเคารพรัก และนับถือเรา แม้โอกาสจะมีเพียงเล็กน้อยก็ตาม

7.ไม่ว่ามีใครจะหายไปจากชีวิตเราก็ตาม แต่เวลาก็ยังคงเดินต่อไปตามเดิม และเวลาก็สอนให้เราได้รู้ว่า ระหว่างที่เรามีเวลาอยู่นั้น เราควรจะดูแลคนที่เรารักอย่างไร เพื่อว่าวันหนึ่ง เมื่อเขาจากไป เราจะไม่เสียใจเพราะได้ทำดีที่สุดแล้ว

8.“ความสุข” แม้จะอยู่กับเราไม่นาน แต่ความทรงจำที่ดีจะอยู่กับเราตลอดไป อยากมีความทรงจำดีๆ ก็จงหมั่นทำสิ่งดีๆ กับผู้อื่นให้เขาประทับใจ ภูมิใจ ด้วย “วิริยะบารมี”

9.บางครั้งเราไม่ต้องคิดว่า “เราจะได้อะไรจากสิ่งที่เราทำ” แค่ทำมันแล้ว “เราสุขใจ” มันคือกำไรของชีวิตแล้ว

10.รักอื่นใดไม่เท่ารัก “ชีวิตเรา” เป็นเบื้องต้น เราใช้ “เขา” ทำงานทุกวัน หมั่นดูแลสุขภาพ “กาย” และ “จิตใจ” ของเรา บำรุงรักษา ตรวจตราซ่อมแซมให้เขาแข็งแรง จิตใจเข้มแข็ง มั่นคง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นั้นสำคัญยิ่ง พลังที่เกิดขึ้นให้เป็นที่พึ่งพิงของผู้อื่น มิตรสหายยากดีมีจนในโอกาสอันควรที่เกิดขึ้นเสมอๆ แม้จะมีเพียงเล็กน้อยก็ยังดี อันเป็น “ทานบารมี”

ท้ายสุดนี้ ชีวิตคนเรามี 3 วัน

“เมื่อวาน” เราใช้ไปแล้วเอามาใช้อีกไม่ได้
“วันนี้” เรากำลังใช้อยู่และใช้ได้ครั้งเดียว
“พรุ่งนี้” ยังมาไม่ถึง และไม่รู้จะมีโอกาสได้ใช้ไหม

เพราะฉะนั้น หากวันนี้ยังมีโอกาสใช้ ก็เลือกทำในสิ่งที่ดี และสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข พึงตระหนัก 2 เรื่อง

1.ถอดลงบ้าง “หัวโขน” ที่สวมใส่ อย่าหลงใหลในสิ่งจอมปลอม ยศ ตำแหน่ง ตายไปก็เอาไปไม่ได้

2.คนที่โชคดีที่สุด ไม่ใช่ “คนที่เก่ง” หรือร่ำรวยจนล้นฟ้า แต่เป็นคนที่มี “ความสุข” ในทุกวัน สุขกับ “เส้นทางที่เลือกเดิน” และ “สุขกับการใช้ชีวิต” ของเขาเอง ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image