ครูไม่พร้อม?

ครูไม่พร้อม?

ครูไม่พร้อม?

อีกสัปดาห์เดียวโรงเรียนทั่วประเทศเปิดเทอมแล้ว แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่ความกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครองยังไม่ค่อยมั่นใจ ไม่เฉพาะแต่เรื่องสุขภาพของลูกหลานเท่านั้น แต่รวมเลยไปถึงคุณภาพการศึกษาโดยรวมอีกด้วย

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเด็กหลุดออกจากระบบกลางคันเพิ่มขึ้น และคุณภาพการศึกษาถดถอยลง เพราะการเรียนออนไลน์ภายใต้ความไม่พร้อม

การพลิกฟื้นการศึกษาให้มีคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำ ให้กลับคืนมาเหมือนเดิมจึงเป็นโจทย์ใหญ่และยากของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลทั้งคณะ

Advertisement

กระทรวงศึกษาธิการจะทำได้แค่ไหน ภายใต้สถานการณ์ภายในที่กำลังเกิดคลื่นลูกใหญ่ถาโถมเข้ามาอย่างน้อยอีก 2 เรื่อง ยังหาทางออกไม่ได้จนถึงวันนี้

ได้แก่ การคัดค้านต่อต้านการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 มาเป็นหลักใหม่ในชื่อว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะ กับการเรียกร้องขอให้ตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาคทั่วประเทศคงอยู่ต่อไป หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติของรัฐสภามีมติเสียงข้างมากให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นที่มาของตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาค

พลิกฟื้นคุณภาพการศึกษาให้กลับคืนมาหลังวิกฤตโควิด-19 ก็หนักหนาสาหัสเกินที่จะรับมือแล้ว มาเจอกับคลื่นว่าด้วยผลประโยชน์ของคน 2 กลุ่มใหญ่ รัฐบาลและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการจะไปต่ออย่างไร น่าติดตาม และร่วมวงวิวาทะอย่างยิ่ง

Advertisement

คงต้องไล่เรียงทีละประเด็น เริ่มจากการต่อต้านความเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจากเดิมเน้นฐานวิชา มาเป็น ฐานสมรรถนะของผู้เรียนเป็นหลัก ตามลำดับก่อน

เหตุผลที่ฝ่ายต่อต้านยกขึ้นมาอ้างล่าสุดว่า ครูไม่พร้อม ตำรับตำรา เอกสารประกอบการเรียนการสอน ไม่พร้อม ต้องพัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนของครูที่เคยชินกับการสอนแบบเดิม ทำตามครูบอก ครูสั่ง เน้นให้คิดตาม มากกว่า

คิดต่าง ต้องเปลี่ยนครูจาก Passive Learning เป็น Active Learning ให้ได้ก่อน ถึงค่อยเปลี่ยนแปลงตัวหลักสูตร

แม้ว่าคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจะมีมติชัดเจนแล้วว่า ให้ทดลองนำร่องการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรกับโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา 8 จังหวัดก่อนในปี 2565 และโรงเรียนทั่วไปที่พร้อมใช้ในปี 2566 ใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศปี 2567 เฉพาะชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และประถมศึกษาปีที่ 4

กลุ่มผู้คัดค้านต่อต้านยืนยันว่า ขอให้ทดลองใช้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาไปก่อนเท่านั้น ยังไม่ต้องขยายไปยังโรงเรียนทั่วไปจนกว่าครูส่วนใหญ่จะมีความพร้อม โดยให้ใช้หลักสูตรเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ 14 ปีที่แล้วต่อไป

ไม่ว่าโรงเรียนไหน ครูคนไหนจะพร้อมหรือไม่พร้อม ต้องการเข้าร่วมทดลองใช้หลักสูตรแกนกลางฐานสมรรถนะ หรือไม่ก็ตาม

ต้องฟังสัญญาณการอนุมัติ อนุญาตจากผู้บังคับบัญชาเบื้องบนเสียก่อน ว่างั้นเถอะ

ครับ ประเด็นที่ยกขึ้นมาอ้างว่าครูไม่พร้อม โรงเรียนไม่พร้อม นี่แหละ เป็นเรื่องที่น่าเสวนากันให้ชัดว่า ใครไม่พร้อมกันแน่
เพราะมีคำถามต่อไปอีกว่าการที่ครูไม่พร้อม โรงเรียนไม่พร้อม เกิดขึ้นเพราะใคร ด้วยเหตุใด

ผมเชื่อว่า ครูส่วนใหญ่มีความพร้อม ต้องการความเปลี่ยนแปลงเพื่อผลต่อนักเรียน ลูกศิษย์ ลูกหลานของเขาทุกคน

แต่เพราะ ความไม่พร้อมของผู้มีอำนาจเบื้องบนต่างหาก ไม่พร้อมที่จะกระจายโอกาส อำนาจและผลประโยชน์ สนับสนุนให้ครูส่วนใหญ่มีความพร้อม

ทั้งๆ ที่ โครงสร้างการบริหารภายในเอื้ออำนวย มีช่องทางให้สามารถส่งเสริมให้ครูเกิดความพร้อมได้ แต่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในส่วนบนและส่วนกลางละเลย ไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาครู ได้แก่ สำนักพัฒนาครู สถาบันพัฒนาครูและผู้บริหารการศึกษาที่รู้จักกันดีว่าสถาบันวัดไร่ขิง ในอดีตมีบทบาทเป็นที่ยอมรับยกย่อง

ตลอดเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา สถานภาพของ 2 หน่วยงานเป็นอย่างไร ทำให้ครูพัฒนาและมีความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงเข้ากับยุคสมัยแค่ไหน

ทำในเรื่องที่ควรทำหรือไม่ควรทำ ตัวอย่างโครงการ คูปองครูหัวละ 10,000 บาท ใช้งบประมาณไปกว่า 4,000 ล้านบาท และต้องเลิกไปในที่สุด เพราะเป็นไปเพื่อสนองประโยชน์ของครูรายปัจเจกมากกว่าเด็ก เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาครูให้รองรับการเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาครั้งนี้ก็เช่นกัน ครูส่วนใหญ่มีความต้องการ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง

แต่ติดขัดที่คนมีอำนาจข้างบนมากกว่าที่เป็นปัญหา ไม่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

ข้อเสนอ ทางออกในเรื่องนี้ก็คือ พบกันครึ่งทาง ใช้หลักสูตรใหม่กับโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โรงเรียนที่มีความพร้อมและต้องการเปลี่ยนแปลงไปก่อนเลย ส่วนโรงเรียนทั่วไปรอจนกว่าคนมีอำนาจจะตาสว่าง ก็เท่านั้นเองครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image