ภาพเก่าเล่าตำนาน : ที่ต้องไปเลือกคนนี้…เพราะ‘ไว้ใจได้’ โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

22 พฤษภาคม 2565 คนกรุงเทพฯ จะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่ถูกทำให้ห่างหายไปราว 9 ปี

ชาว กทม.เลือกตั้งผู้ว่าฯครั้งสุดท้ายเมื่อ 3 มีนาคม 2556 ได้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯกทม. สมัยที่ 2

แต่ก่อนผู้ว่าฯจะทำงานครบวาระสมัยที่ 2 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจ ม.44 ออกคำสั่งปลด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พร้อม 4 รองผู้ว่าฯกทม. และแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ทำหน้าที่ผู้ว่าฯแทน เมื่อ 18 ตุลาคม 2559 และให้มีรองผู้ว่าฯกทม.ไม่เกิน 4 คน จนกว่าจะมีเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.หรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2559 และมีผลยาวนานมาตลอดถึงทุกวันนี้

คนกรุงเทพฯไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.นาน จนเกือบลืม

Advertisement

กรุงเทพฯ คือ ประเทศไทย และ ประเทศไทย คือ กรุงเทพฯ

เป็นคำกล่าวเชิง “ประชดประชัน” เพราะกรุงเทพฯ ถูกสร้างให้เป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจ การเมือง การปกครอง การศึกษา การค้าขาย บันเทิง ฯลฯ

กรุงเทพฯเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหล มีชีวิตชีวา คึกคักเต็มไปด้วยแสงสีเสียง มีกิจกรรมต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

ชาวต่างจังหวัด แอบ “น้อยใจ” ในบางเรื่อง

โดยเฉพาะด้านการศึกษา ที่พ่อ-แม่ต้องขวนขวายทำงานหนัก หาเงินส่งลูกมาเรียนในกรุงเทพฯ ให้ได้….เพื่อให้มีอนาคตที่ดี

เกิดกระแส “การหลั่งไหล” ของประชาชนเพื่อโอกาสที่ดีกว่า

หลายทศวรรษที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯค่อนข้างมีโอกาสดีกว่าคนต่างจังหวัด สาธารณูปโภคทั้งหลาย “เหนือชั้น” กว่ามาก

ไม่น่าแปลกใจเลยว่า…มหานครแห่งนี้ แน่น แออัด เป็นเมืองที่รุมเร้าไปด้วยปัญหา รถติด น้ำท่วม ขยะ มลพิษในอากาศ ชุมชนแออัด

ทุกเวลานาที ล้วนต้องรีบเร่ง แข่งขัน และต้องแย่งชิงจนทำให้ “ลักษณะนิสัย” ของประชากรเปลี่ยนไปเป็น “แล้งน้ำใจ”

เมืองใหญ่อื่นๆ ในโลก ก็เจอปัญหาเช่นเดียวกัน

เรารู้จักกรุงเทพฯ มากน้อยแค่ไหน…?

1.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในหลวง ร.1 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อ 6 เมษายน 2325 โปรดเกล้าฯให้สร้างพระนครแห่งใหม่ โดยสร้างขึ้นที่ฝั่งตะวันออกหรือฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา

ทรงกระทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325 เวลา 06.54 นาฬิกา ซึ่งได้จารึกติดอยู่ที่เสาหลักเมืองว่า “วันอาทิตย์ เดือนหก ขึ้นสิบค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1144 เวลาย่ำรุ่ง 54 นาที ตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325”

ในช่วงเวลานั้น ยังคงมีศึกสงครามกับพม่า จึงโปรดฯให้สร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการแข็งแรงมั่นคง อีกทั้งให้ขุดคูเมืองทางทิศตะวันออก ผังเมืองพยายาม “ลอกเลียน” กรุงศรีอยุธยา

วัสดุก่อสร้างส่วนหนึ่ง บรรทุกใส่เรือมาจากอยุธยา

มีการสร้างวัดเพื่อเป็นหลักของเมือง คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

ได้พระราชทานชื่อเมืองหลวงที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า…“กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

ซึ่งต่อมา… ในหลวง ร.4 ได้ทรงเปลี่ยนคำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์”

2.เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ขุนนางชาวอังกฤษ ที่เข้ามายังบางกอกในสมัยในหลวง รัชกาลที่ 4 (หลังสถาปนากรุงเทพฯ 73 ปี) มีบันทึกว่า จำนวนประชากรทั่วทั้งพระราชอาณาจักรสยาม มีไม่เกิน 5 ล้านคน เป็นประชากรของกรุงเทพฯ ไม่เกิน 3 แสนคน โดยการอ้างอิงแล้วคำนวณจากข้อมูลที่มีผู้บันทึกไว้ก่อนหน้า อย่าง มร.ลาลูแบร์ และสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ชาวฝรั่งเศส

ยุคต้นกรุงเทพฯ คงมีประชากรน้อย โดยน่าจะมีเพียง 1-2 แสนคน เนื่องจากหลังสร้างกรุงแล้ว จึงมีการกวาดต้อนเชลยศึกและเกณฑ์ไพร่พลเข้ามาคราวละมากๆ เช่น

สมัยรัชกาลที่ 1 เกณฑ์คนมาจาก เขมร ลาว

สมัยรัชกาลที่ 2 มีมอญเข้ามาสวามิภักดิ์

สมัยรัชกาลที่ 3 ยกทัพไปกวาดต้อนชาวลาวเข้ามาเพิ่มอีก (บรรพบุรุษของผู้เขียนรวมอยู่ในกลุ่มนี้ มาอยู่พื้นที่ อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี)

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมกลุ่ม “ชาวจีน” ที่ทยอยเดินทางเข้ามาในบางกอกอยู่เรื่อยๆ (อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”)

3.ตราพระอินทร์ทรงช้าง เป็นความเชื่อที่ว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองเทวดาของพระอินทร์ ดังปรากฏตามชื่อเมือง ซึ่งรัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานว่า “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์” และรัชกาลที่ 4 ทรงแก้สร้อยชื่อเมืองเป็น “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์” โดย โกสิ สนธิกับ อินทร์ ซึ่งหมายถึง “พระอินทร์”

4.จังหวัดธนบุรี และจังหวัดพระนคร ถูกผนวกเข้าด้วยกันในปี พ.ศ.2514 โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น “กรุงเทพมหานคร” จากประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2515

“กรุงเทพมหานคร” (Bangkok Metropolitan Administration : BMA) แปลว่า พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร มี “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” เป็นข้าราชการการเมือง

ถือเอาวันที่มีผลของประกาศฯ คือวันที่ 14 ธันวาคม เป็น “วันสถาปนากรุงเทพมหานคร” ทุกปี

กทม. มีพื้นที่ประมาณ 1,569 ตารางกิโลเมตร

(ประเทศไทย มีเนื้อที่ 513,000 ตารางกิโลเมตร)

5.เดิมทีชาวพระนครใช้การสัญจร “ทางน้ำ” เป็นหลัก มีคลองจำนวนมากจนได้ฉายาว่า “เวนิสตะวันออก” แต่ต่อมา ถมคลองเพื่อทำเป็นถนน เปลี่ยนแปลงจาก “เมืองน้ำ” มาสู่ “เมืองบก”

ถนนสายแรกคือ ถนนเจริญกรุง ฝรั่งเรียกว่า New Road (สร้างในรัชสมัยในหลวง ร.4) เริ่มสร้างเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2405 สร้างเสร็จเปิดใช้เมื่อ 17 มีนาคม พ.ศ.2407 เป็นถนนเส้นแรกที่ใช้เทคนิคการสร้างแบบตะวันตก

มีความยาวจากถนนสนามไชยถึงดาวคะนอง 8,575 เมตร ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 19,700 บาท

หลังจากสร้างถนนเจริญกรุงเรียบร้อยแล้ว จึงได้สร้าง “ตึกแถว” โดยได้แบบอย่างจาก “สิงคโปร์” ตึกแถวประดับโคมไฟจากการใช้ตะเกียงน้ำมัน

พ.ศ.2427 เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้า เพราะมีการตั้งบริษัทไฟฟ้าสยามเป็นครั้งแรก

หลังจากนั้น ได้มีการสร้างถนนใหม่ขึ้นอีก เช่น ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร

6.กำเนิด “รถรางม้าลาก” ในพระนคร

หลังสร้างถนนในพระนครไม่นาน ถนนชำรุด จอห์น ลอฟตัส ชาวเดนมาร์ก จึงได้ขออนุญาตต่อรัฐบาลทำสัมปทานการรถรางขึ้น เมื่อ พ.ศ.2430

22 กันยายน พ.ศ.2431 มีพิธีเปิด “เดินรถราง” เป็นครั้งแรกโดยใช้ “ม้าลาก” ไปตามราง มีเส้นทางวิ่งระหว่างพระบรมมหาราชวัง บริเวณศาลหลักเมืองไปตามถนนเจริญกรุง ปลายทางอยู่ที่อู่ฝรั่งหรือบางกอกด๊อก (Bangkok Dock) หรือ “บริษัทอู่กรุงเทพ”

รถรางลากจูงด้วยม้าถึง 8 ตัว… ม้าต้องพัก กินน้ำ กินหญ้า ผู้โดยสารต้องคอย เสียเวลา…

ปัญหา คือ การใช้งานม้าหนักจนกระทั่ง “ม้าตาย”

นายลอฟตัส โอนกิจการให้บริษัทบางกอก แทรมเวย์ คอมปะนี ลิมิเต็ด และในปี พ.ศ.2435 กิจการก็ถูกขายต่อให้กับบริษัทสัญชาติเดนมาร์ก (ไม่ทราบชื่อ) อีก

บริษัทหลังนี้ได้หยุดกิจการชั่วคราว เพื่อเปลี่ยนไปใช้รถรางระบบขับเคลื่อนด้วย “กระแสไฟฟ้า” แทน

ตกลงซื้อกระแสไฟฟ้าจากบริษัท อีเลคทริค ซิตี้ คอมปะนี ลิมิเต็ด และเริ่มเดินรถรางไฟฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2437

สยามประเทศ …มีรถรางไฟฟ้าใช้ก่อนหน้าประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำหลายประเทศ (ข้อมูลจากศิลปวัฒนธรรม)

รถรางเปิดให้บริการในพระนคร มากว่า 80 ปี เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ต้องถูกปิดกิจการ และยกเลิกไปในวันที่ 30 กันยายน 2511

7.การระบายน้ำที่แสนจะท้าทาย …. กายภาพของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1.5 เมตร มีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมในช่วงหน้าฝน และการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นดินทรุดตัวเฉลี่ยปีละ 1-2 เซนติเมตร

นักวิชาการยืนยันว่า การทรุดตัวของ กทม. จะรุนแรงมากขึ้นจากระดับน้ำทะเลหนุนเพิ่มขึ้น ถือเป็นพื้นที่อ่อนไหวได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และอาจจะ “จมบาดาล” ภายในปี พ.ศ.2573

ฝนตก …น้ำจะท่วมในบางเขต เป็นที่คุ้นเคยชาว กทม.

(กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย กำลังเผชิญปัญหาแบบเดียวกับกรุงเทพฯ ผู้ว่านครจาการ์ตา ชื่อ Joko Widodo หรือโจโกวี ต่อมาได้รับเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดี 18 มกราคม 2565 รัฐสภาอินโดนีเซียมีมติผ่านร่างกฎหมายว่าด้วย “การย้ายเมืองหลวง” จากกรุงจาการ์ตาซึ่งอยู่บนเกาะชวา ไปยังเกาะบอร์เนียว โดยตั้งชื่อเมืองหลวงใหม่ว่า “นูซันตารา” ที่มีความหมายว่า “หมู่เกาะ” เพื่อหนีน้ำท่วม)

8.กทม.แบ่งออกเป็น 50 เขต เขตที่เล็กที่สุด คือ เขตสัมพันธวงศ์ มีพื้นที่ 1.416 ตารางกิโลเมตร และเขตที่มีพื้นที่มากสุด เขตหนองจอก มีพื้นที่ 236.26 ตารางกิโลเมตร

มีการสำรวจเมื่อ พ.ศ.2563 พบว่าเขตพระนคร (ย่านเกาะรัตนโกสินทร์) มีจำนวนประชากรรวม 44,923 คน ซึ่งมีจำนวนประชากรรวมน้อยเป็นอันดับ 4 ของ กทม. รองจากเขตสัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่ายและปทุมวัน สาเหตุที่ทำให้ย่านรัตนโกสินทร์มีจำนวนประชากรน้อยมาก เพราะ 65% ของที่ดินในเกาะรัตนโกสินทร์มีการถือครองโดยภาครัฐ 21% เป็นศาสนสถาน

9.ปัญหาขยะใน กทม. เว็บไซต์สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. “หนังสือรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร 2562-2563” อัพเดตวันศุกร์ 29 ตุลาคม 2564 โฟกัสปัญหาขยะมูลฝอยที่กองบนทางเท้า…

ระบุว่าปัญหาขยะมูลฝอยในกรุงเทพฯปี 2555-2561 มีปริมาณจัดเก็บวันละ 10,705 ตัน ปี 2562 ลดลง 141 ตัน

เริ่มโควิด 2563 ลดฮวบ 1,045 ตัน/วัน เหลือวันละ 9,519 ตัน สาเหตุหลักเพราะเมืองล็อกดาวน์+นักท่องเที่ยวลดลง และประชากรแฝงเดินทางกลับต่างจังหวัด

กทม.มี 3 ศูนย์กำจัดมูลฝอยอยู่ที่ “อ่อนนุช-หนองแขม-สายไหม” ล่าสุดเริ่มเมื่อปลายปี 2563 อีก 1 แห่ง คือ “สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยรัชวิภา”

10.จำนวนโรงเรียนในพื้นที่เขตการปกครองกรุงเทพมหานคร มีทั้งสิ้น 437 โรงเรียน

มีระดับก่อนประถมศึกษาในรูปแบบอนุบาล ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย

ที่ไม่ค่อยมีใครทราบ คือ ระดับอุดมศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาล อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการแพทย์ กทม.

รวมทั้ง “การศึกษานอกระบบโรงเรียน”

11.กรณีของคุณหมอกระต่าย “พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ที่ถูกตำรวจ ยศ ส.ต.ต.ขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนเสียชีวิต ระหว่างเดินข้ามทางม้าลาย เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2565 คือ แรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ ท้าทายให้ผู้ว่าฯกทม. คนใหม่แสดงฝีมือทันที เมื่อได้รับเลือก

ไม่ต้องไปคิด “โครงการใหญ่โตมโหฬาร” เพื่ออวดใคร ขอให้ผู้ว่าฯ และทีมงาน มุ่งทำงานเล็กๆ ทะลุทะลวงปมปัญหาที่ถูกซุกซ่อน ถูกละเลยให้ลุล่วง โดยเฉพาะการปราบคอร์รัปชั่น จัดการขยะ การจราจร น้ำท่วม

อยากเห็นผู้ว่าฯทำงาน 24 ชั่วโมง ทั้ง work hard และ work smart ไม่ต้องมีพิธีรีตองมาก ไม่ต้องมีวาทกรรม

ขอชักชวนชาว กทม.ที่ “มีโอกาส” ได้เลือกผู้ว่าฯกทม. ออกไปใช้สิทธิให้ถล่มทลาย เพื่อเลือก “ผู้ว่าฯกทม.” ที่รอมาแสนนาน เลือกคนจริง คนแข็งแกร่ง ขยัน รู้จริง มา “ทำงานหนัก “ ให้ กทม.เป็นเมืองน่าอยู่ (Liveable City) เพื่อมาดูแลตัวเราและลูกหลาน

“คนที่ไว้ใจได้-มืออาชีพ” คือ รากฐานในการตัดสินใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image